เศรษฐกิจไม้กระดก กับดอกเบี้ยสหรัฐฯ

เศรษฐกิจไม้กระดก กับดอกเบี้ยสหรัฐฯ

เศรษฐกิจไม้กระดก กับดอกเบี้ยสหรัฐฯ

ถึงวันนี้ ความตื่นกลัวการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯหรือ “เฟด” ไม่ได้เป็นที่กังวลใจอีกต่อไปต่างจากช่วง3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ผู้กำหนดเศรษฐกิจทั่วโลกต่างเฝ้ามองทุกการประชุมของเฟดอย่างพินิจพิเคราะห์ และผลการประชุมทุกครั้งก็กระทบต่อการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการเงินเสมอมา การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่3 นับตั้งแต่จุดต่ำสุดของดอกเบี้ยที่ใช้ในช่วงวิกฤตปี2551 ผลกระทบต่อความผันผวนของตลาดลดลงจากการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกๆ หรืออาจจะเรียกได้ว่าตลาดนั้นคุ้นชินกับการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯและเริ่มปรับตัวรับสถานการณ์ดังกล่าวได้ แต่นี่จะเป็นเพียงจุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหรือไม่ โลกพร้อมต่อกระแสดอกเบี้ยขาขึ้นแล้วจริงหรือ และผลที่มีต่อสภาวะเสพติดสภาพคล่องจะแก้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะนำมาพูดถึงในวันนี้ ก่อนที่เรื่องราวจะเดินไปตามวิถีของมันในอีกไม่ช้า

กับคำถามแรก “นี่เป็นจุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลงหรือไม่” ในยุคที่เราเชื่อว่ามนุษย์สามารถหาทางแก้ปัญหาพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อน ผ่านนโยบายที่สร้างขึ้นอย่างเป็นระบบ ด้วยแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ผ่านการลองผิดลองถูก ซึ่งเราก็ได้เห็นว่าทุกครั้งที่ผู้กำหนดนโยบาย (โดยเฉพาะทางการเงิน) ซึ่งมักจะเป็นนักวิชาการอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดัง หรือบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการบริหารสถาบันการเงิน ใช้นโยบายเพื่อแก้เศรษฐกิจจะมีเหตผลในเชิงทฤษฎีมาใช้อธิบายความเป็นมาของแนวความคิดและผลที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้นโยบาย ซึ่งหลายครั้งถูกและหลายครั้งที่ไม่ได้เป็นตามที่คาดหมาย โดยส่วนตัวผมไม่มีปัญหากับแนวคิดทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสายใด ไม่ว่าจะซ้ายจัดหรือขวาสุด เพราะก็เข้าใจดีว่าทุกแนวคิดมี “สมมติฐาน” ในทางทฤษฎีที่แตกต่างกันออกไปตามช่วง หรือตามข้อจำกัดของผู้คิดทฤษฎี

ผมเคยอ่านบทความตอนหนึ่งที่เขียนโดยดร.วีรพงษ์ รามางกูร (ดร.โกร่ง) อาจารย์ได้เขียนเล่าถึงเรื่องราวจากปาฐกถาของดร.โยฮันเกาตุง กล่าวเปรียบเทียบพฤติกรรมของนักฟิสิกส์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักรัฐศาสตร์ ซึ่งถือเป็นตลกร้ายเรื่องหนึ่ง สรุปแบบได้ใจความว่า นักฟิสิกส์ยึดหลักที่พิสูจน์ได้พร้อมยืนยันผลที่เกิดจากการกำหนดทฤษฎี นักเศรษฐศาสตร์จำต้องใช้ตรรกะในการหาคำตอบบนการใช้สมมติฐานและข้อมูลที่จำกัดต้องใช้ความพยายามที่จะอธิบายผลซ้ำไปซ้ำมา(ทั้งๆที่ส่วนใหญ่ไม่ถูกต้อง) และร้ายกว่าที่นักรัฐศาสตร์ใช้อัตตาในการอธิบายผลสรุป เศรษฐศาสตร์ไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์มันไม่มีสูตรตายตัว ทำซ้ำไม่ได้หมายความว่าแนวทางที่เคยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ในอดีตไม่ได้หมายความว่าจะสามารถแก้ปัญหาเดิมได้ในอนาคตนั้นเอง ผู้ใช้นโยบายจำเป็นต้องเข้าใจบริบทในช่วงนั้นๆ อย่างถ่องแท้

การขยับดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่องของเฟดสะท้อนให้เห็นมุมมองของคณะกรรมการทั้ง 10 ท่าน “ต่อเศรษฐกิจในประเทศ” เป็นสำคัญ แม้จะพิจารณาภูมิภาคอื่นประกอบเพราะจะกระทบในทางอ้อม เช่น การเคลื่อนย้ายเงินทุนความผันผวนของราคาสินทรัพย์ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าสำคัญฯลฯ การขยับขึ้นดอกเบี้ยที่ต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ ย่อมจะทำให้แนวโน้มดอกเบี้ยโลกสูงขึ้น (ในบางประเทศ) และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของดอกเบี้ยขาขึ้นและถือเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญ

คำถามที่สอง “โลกพร้อมรับดอกเบี้ยขาขึ้นหรือยัง” ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลในหลายด้าน โดยเฉพาะการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลต่อการคาดการณ์ผลตอบแทนและแนวโน้มของอัตราผลตอบแทนในอนาคต การไหลของเงินจะก่อให้เกิดปัญหาการแข็งค่าและอ่อนค่าของสกุลเงินอย่างรวดเร็ว คนที่จะเงินแข็งค่าคือสหรัฐฯ เพราะเมื่อคาดการณ์ว่าผลตอบแทนของสหรัฐฯจะสูงขึ้น ต้นทุนของเงินจะสูงขึ้น เม็ดเงินจะไหลกลับสู่สหรัฐฯ ความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นแล้วค่าเงินใครละที่อ่อนค่าลงก็ประเทศที่เคยได้รับเงินทุนไหลเข้า แถบบ้านเราก็เป็นหนึ่งในนั้น เฉพาะวันที่1-20 มี.ค.ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยสุทธิถึง13,821.78 ล้านบาท

การอ่อนค่าของเงินจะสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงและหนี้ต่างประเทศของประเทศนั้นๆ จำกันได้ไหมครับช่วงที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ค่าเงินบาทเราอ่อนค่าลงเท่าตัว ทำให้หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งเท่าตามไปด้วย การอ่อนค่าอย่างรวดเร็วจะส่งผลต่อหนี้ต่างประเทศและต้องไม่ลืมว่ากว่า10 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนของสกุลเงินต่างประเทศก็ต่ำเหลือเกินจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ระดับหนี้ต่างประเทศจะสูงขึ้น บางประเทศอย่างอินโดนีเซียเริ่มได้รับผลกระทบจากการอ่อนตัวของเงินรูเปียห์จนเกิดการเข้าแทรกแซงผ่านกลไกของกองทุน

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินจะยิ่งไปกระตุ้นให้เกิดความเสี่ยงเงินเฟ้อจากราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วก็ถือเป็นตัวกระตุ้นความเสี่ยงที่สำคัญ ด้านกลุ่มประเทศที่เผชิญภาวะเงินฝืดในปัจจุบันอย่างหลายประเทศในยุโรป รวมถึงญี่ปุ่น มีความจำเป็นต้องใช้ดอกเบี้ยต่ำถึงติดลบต่อไป เพื่อดันเศรษฐกิจจากหล่ม ดังนั้น อาจจะสรุปได้ว่า ดอกเบี้ยสูงจำเป็นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ยังไม่เหมาะกับหลายประเทศซึ่งจะเกิดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป

ปัญหาสุดท้าย เรื่องการเสพติดสภาพคล่องที่มีการแสดงความกังวลกันไว้ตั้งแต่ก่อนที่เฟดจะยุติQE การบิดเบือนกลไกมาอย่างยาวนานย่อมมีผลกระทบหลายสินทรัพย์ปรับตัวขึ้นอย่างมาก จากดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องที่ธนาคารกลางขนาดใหญ่ใส่เข้ามาตลอด วิกฤตทางการเงินการเริ่มสูบสภาพคล่องออกจากระบบ จะทำให้ราคาสินทรัพย์ที่มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยได้รับผลกระทบ แต่จะเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ผมเชื่อว่า ตลาดมีกลไกในการปรับเปลี่ยนของมัน หรือในทางเศรษฐศาสตร์เ ราก็บอกว่า ท้ายสุดแล้วในระยะยาว กลไกเศรษฐกิจจะสร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้นใหม่ แม้จะเกิดความผันผวนในระยะสั้นก็ตาม การเริ่มเก็บมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ถ้าจะเสี่ยงก็เป็นเพียงตัวเร่งปฎิกิริยา(catalyst) ให้ปัญหาที่มีอยู่แล้วเกิดผลได้เร็วขึ้นเท่านั้นเอง เช่น วิกฤตSubprime ที่ผ่านมา

ดังนั้น ถ้าเราไม่ได้เก็งกำไรจนเกินตัว จำกัดความเสี่ยงอย่างเหมาะสม การขึ้นดอกเบี้ยก็เป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น แต่ถ้ามีการก่อหนี้ในระดับสูง มีการเก็งกำไรอย่างเกินตัว การขยับดอกเบี้ยครั้งนี้อาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มของปัญหาใหญ่ในอนาคต