อย่าเห็นช้างตัวเท่าหมู

อย่าเห็นช้างตัวเท่าหมู

อย่าเห็นช้างตัวเท่าหมู

เดือนนี้ขอเปลี่ยนจากเรื่องหุ้นมาเป็นเรื่อง “ความเสี่ยง” ซึ่งก็ใกล้ตัวนักลงทุนไม่แพ้หุ้น เพราะในระยะหลัง ข่าวต่างๆ ในแวดวงการลงทุนทำให้ผมรู้สึกกังวลว่าตลาดกำลัง Underpricing of risks หรือการ “ให้ราคา” กับความเสี่ยงน้อยเกินไป ตามสำนวนไทยว่า “เห็นช้างตัวเท่าหมู” (ประเมินคู่ต่อสู้ต่ำไป) เพราะการลงทุนย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยง แต่ในภาวะที่อัตราผลตอบแทนหายาก อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน มักทำให้นักลงทุนมองหาผลตอบแทนที่มากขึ้น แม้เพียงเล็กน้อยโดยลืมดูเรื่องความเสี่ยงไป

ซึ่งที่จริงหากใครติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประชุมกันปีละ 8 ครั้ง ห่างกันครั้งละเดือนครึ่ง และออกแถลงผลการประชุมให้ผู้สนใจติดตามอ่าน จะพบว่าบรรดากูรูทางเศรษฐกิจของประเทศที่มาประชุมกันนั้นได้มีการพูดความกังวลต่อถึงพฤติกรรม Search for yield (วิ่งหาผลตอบแทน) และ underpricing risk (ประเมินความเสี่ยงผิดพลาด) มาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ว่าเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างใกล้ชิดภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน

ในที่สุดสิ่งที่ ธปท. กังวลก็เกิดขึ้น หลังๆ เริ่มมีข่าวการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มมากขึ้นจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม มันก็สะท้อนภาพของความ “กล้า” รับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุน ภายใต้ภาวะการแข่งขันกันสูงและนักลงทุนวิ่งหากองทุนที่เสนอผลตอบแทนสูงขึ้นๆ ผู้ออกกองทุนก็ต้องสรรหาสินทรัพย์มาใส่ในกองทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้ได้ แต่ตราสารหนี้ต่างๆ มันก็มาจากตลาดตราสารหนี้เดียวกัน โอกาสจึงน้อยมากที่กองทุนไหนจะหา “ของ” ทั่วๆ ไปในตลาดมาสร้างความแตกต่างได้ เลยหนีไม่พ้นที่หากจะสร้างผลตอบแทนเหนือตลาดย่อมต้องมาพร้อมกับ “ของ” ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าของทั่วไปที่หาได้ในตลาดเช่นกัน

นักลงทุนจึงต้องระมัดระวัง ไม่ใช่ดูแต่ที่อัตราผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องศึกษาให้รู้จริงด้วยว่า สิ่งที่อยู่เบื้องหลังผลตอบแทนสูงนั้นมีสินทรัพย์อะไรอยู่บ้าง อันดับ credit rating อยู่เท่าไร และให้ผลตอบแทนคุ้มค่าหรือไม่ บริษัทที่ออกตราสารเป็นใคร ทำไมเค้าไม่ไปกู้ธนาคาร ซึ่งคำตอบที่ได้มักจะอ้างถึงอัตราดอกเบี้ยธนาคารที่สูง บริษัทจึงหันมากู้โดยตรงจากตลาดเงินและนักลงทุนที่เรียกร้องผลตอบแทนน้อยกว่า

แน่นอนที่สุดครับ ใครบางคนกำลัง underpricing the risk หรือเรียกร้องผลตอบแทนน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับความเสี่ยงของบริษัทผู้ขอกู้ ซึ่งบางคนอาจอ้างว่าธนาคารมีต้นทุนการจัดการที่สูงกว่า จึงต้องเรียกดอกเบี้ยสูงกว่าไปด้วย แต่ต้องไม่ลืมว่าธนาคารอยู่รอดได้ เพราะมีทีมงานประเมินความเสี่ยงแบบรัดกุมคอยดูแลไม่ให้ปล่อยกู้เสี่ยงเกินไป หรือถ้าจะปล่อยก็ต้องได้รับผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ

ที่จริง ตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง พวก high-yield bond ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไปถ้าเรา “เล่น” เป็น เพราะตราสารหนี้กลุ่มนี้มักให้ผลตอบแทนสูงมาก โดย “วิธีเล่น” แบบพื้นฐานที่นิยมใช้ในหมู่นักลงทุนมืออาชีพ คือการกระจายความเสี่ยง สมมติว่าตราสารหนี้เหล่านี้ให้ผลตอบแทนประมาณ 20-30% สิ่งที่ต้องทำก็คือกระจายการลงทุนไปในตราสารเหล่านี้ สมมติ 20 ตัว (ตัวละ 5% ของเงินลงทุนทั้งหมด) หากมีการผิดนัดชำระหนี้ไปสัก 2-3 ตัว (เงินต้นหายไป 10-15%) เราก็ยังได้ผลตอบแทนสุทธิราวๆ 10-15% (เอาดอกเบี้ย 20-30% ที่ได้หักกลบลบหนี้กับความเสียหายจากลูกหนี้ 2-3 รายที่เจ๊งไป) ซึ่งนับเป็นผลตอบแทนที่ไม่แพ้การลงทุนในหุ้นเลยทีเดียว

สำหรับนักลงทุนทั่วไปที่ไม่สามารถกระจายความเสี่ยงในแบบที่มืออาชีพทำกันได้ สิ่งสำคัญที่ต้องทำก็คือ การมองหาผลิตภัณฑ์กองทุนที่ออกจำหน่ายโดย บลจ. ที่น่าเชื่อถือ มีประวัติดี และมีทีมบริหารความเสี่ยงที่เก่งในมาตรฐานใกล้เคียงกับธนาคาร เพราะถึงแม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้กำหนดให้ บลจ. ต้องรับผิดชอบความเสียหายโดยตรง (เว้นแต่ประมาทเลินเล่อก็อาจโดนค่าปรับ หรือถอนใบอนุญาต) แต่กฎการบริหารความเสี่ยงที่เข้มงวดของ บลจ. ที่น่าเชื่อถือ น่าจะช่วยกลั่นกรองตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงเกินไปออกไปได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งแม้ผลตอบแทนอาจไม่ได้สูงที่สุดในตลาด แต่ก็อาจคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับระดับความเสี่ยงในการลงทุน