ถ้าเราไม่เปลี่ยน จะมีคนมาเปลี่ยนเรา

ถ้าเราไม่เปลี่ยน จะมีคนมาเปลี่ยนเรา

รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ประเทศและทุกคนไปสู่ Thailand 4.0 สิ่งแรกที่ต้องทำให้ได้ก่อนคือ ชุดความคิด

นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับการพัฒนากำลังแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เหมือนที่เคยเขียนถึงกรณีศึกษาของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีประเภทอุตสาหกรรมหลายอย่างใกล้เคียงประเทศไทย อีกทั้งยังมีเขตแดนอยู่ในประชาคมอาเซียน และมีสื่อมวลชน นักวิชาการ รวมถึงคนที่สนใจในการเมืองการปกครอง กล่าวว่ามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีผู้นำที่ติดดิน เอาจริงเอาจัง และมุ่งมั่นเข้ามาแก้ปัญหาอย่างขยันขันแข็ง

ซึ่งถ้าตัดประเด็นเรื่องการเมืองและการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งออก ประเทศไทยในปัจจุบันก็มีรัฐบาลและผู้นำที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ อีกทั้งคณะรัฐมนตรีก็มีวิสัยทัศน์และแผนยุทธศาสตร์ที่มองไกลเป็นระบบสอดรับกับยุคสมัยทีเดียว หากแต่คำถามที่คนจำนวนไม่น้อยยังกังวลคงจะเป็นเรื่อง การลงมือปฏิบัติ ผลักดัน และทำให้ได้ตามวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจ ดูเหมือนจะไปในทำนอง (melody) เดียวกัน แต่จังหวะ (tempo) ยังเร็วช้าไม่เท่ากัน ซึ่งแน่นอนภาคเอกชนมีความยืดหยุ่น คล่องตัว และต้องอยู่รอด ดังนั้นจังหวะธุรกิจจึงเร่งเร้าและตื่นตัวอยู่เสมอ ในขณะที่ภาครัฐยังดูเนิบนาบสโลว์ไลฟ์

ภาคอุตสาหกรรมได้แก้ปัญหาด้านแรงงานด้วยตัวเองมานานแล้ว โดยการฝึกอบรมต่อยอดความรู้และพัฒนาทักษะความสามารถในการปฏิบัติแก่พนักงานที่รับเข้ามา บริษัทข้ามชาติถึงกับส่งคนไทยไปฝึกอบรมเพิ่มเติมที่บริษัทแม่ในต่างประเทศเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือบางครั้งก็ส่งคนที่มีประสบการณ์และผู้เชี่ยวชาญในบริษัทแม่มาอยู่ประจำโรงงานในไทย ปัจจุบันมีการลงทุนตั้งเป็นวิทยาลัยอาชีวะ หรือสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาขึ้นมากันเอง เพราะทนรอการปรับเปลี่ยนหลักสูตรและการสอนจากระบบการศึกษาแบบเดิมไม่ไหว

ในด้านเทคโนโลยีก็เช่นกัน มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ต้องเรียกว่าเปลี่ยนยุคสมัยกันอย่างขนานใหญ่ ในด้านข้อมูล สารสนเทศและการสื่อสาร เปลี่ยนจากอนาล็อกสู่ระบบดิจิตัล ในด้านการผลิต เปลี่ยนจากการใช้แรงงานคนจำนวนมาก มาสู่การใช้เครื่องจักร เครื่องยนต์กลไก และระบบอัตโนมัติ ในด้านชีวภาพ เปลี่ยนจากการศึกษาในระดับเซลและเนื้อเยื่อ ไปสู่การค้นคว้าวิจัยในระดับพันธุกรรมและดีเอ็นเอ ที่มีประโยชน์อย่างมากด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในด้านกายภาพ(เคมีและฟิสิกส์) เปลี่ยนจากการศึกษาอนุภาคและโมเลกุลของสสารในระดับไมโคร ไปสู่การวิจัยค้นคว้าในระดับนาโน จนทำให้เกิดความก้าวหน้าอย่างมากด้านวัสดุศาสตร์ ก่อให้เกิดวัสดุใหม่ๆที่มีคุณสมบัติพิเศษหลากหลาย

ความจำเป็นที่จะต้องก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศต่างๆนั้น ไม่ใช่แค่เห็นว่าเป็นปัญหาแล้วมาจัดงานสัมมนาหรือถกเถียงพูดคุยบนเวทีเสวนาแต่ไร้ข้อสรุปเท่านั้น หากแต่ต้องทำให้เกิดความตระหนักถึงความจำเป็นที่จะรอช้าไม่ได้แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไปให้ถึงความทันสมัยและสิ่งใหม่ๆในเชิงวัตถุเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ใช้อย่างถูกวิธี และฟื้นฟูอยู่เสมอ โดยมีความเชื่อว่าธรรมชาติกับเทคโนโลยีอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสมดุล

“คน” ยังคงเป็นปัจจัยเดียวและเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงยุคสมัยไปไหนก็ตาม หลายคนกังวลว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาจะทดแทนคน แย่งงาน และทำให้คนจำนวนมากต้องตกงาน แต่น่าแปลกใจที่คนจำนวนไม่น้อยไม่ได้คิดแบบนั้น นั่นเป็นเพราะคนกลุ่มนั้นพร้อมที่จะปรับตัวเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้สิ่งใหม่ พร้อมที่จะยกระดับไปควบคุมมัน แทนที่จะปล่อยให้มันมาแทนเรา แม้ว่างานเดิมเราจะทำบ่อยทำนานจนเกิดความชำนาญแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนผลงานจะไม่ทันกับความก้าวหน้าในทุกวันนี้

ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นซึ่งเคยมาประจำที่ประเทศไทยและได้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับผลิตภาพ (Productivity) ให้แก่คนไทย (รวมถึงผมด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นลูกศิษย์ที่หิ้วกระเป๋าเดินเข้าออกโรงงาน และรับความรู้โดยตรงจากท่านในห้องเรียน) และเข้าไปช่วยปรับปรุงผลิตภาพ (Productivity improvement) ให้กับหลายองค์กรของไทย เคยกล่าวว่า Mindset หรือชุดความคิด เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเรามีชุดความคิดอย่างไร พฤติกรรมและการแสดงออกก็จะเป็นอย่างนั้น ท่านได้ยกตัวอย่างเมื่อพูดถึงการทำงานประจำวันว่า สำหรับคนญี่ปุ่นจะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก แฝงอยู่ในระบบการศึกษา ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายให้ทำอะไรก็ตาม ความมุ่งมั่นทุ่มเททำให้ดีที่สุดตามขั้นตอนนั้นไม่เพียงพอ หากแต่ต้องคิดปรับปรุงงานที่ทำให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ให้มองปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างลงมือปฏิบัติเป็นสิ่งที่เราต้องแก้ไข โดยไม่มองข้ามและปล่อยให้กลายเป็นเรื่องทั่วไปจนเราชินชากับมัน

ดังนั้นหน้าที่ความรับผิดชอบ หรือภาระงานที่เราทุกคนต้องทำอยู่เป็นประจำทุกวัน (Daily work หรือ Daily Job) จึงไม่ได้มีค่าหรือเท่ากับการทำงานซ้ำๆตามขั้นตอน (Routine work) หากแต่ต้องแสวงหาทางปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ (Continuous improvement) แม้ว่าจะเป็นเพียงประเด็นเล็กๆน้อยๆก็ตาม คนไทยที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่นจึงคุ้นเคยกับคำว่า “ไคเซ็น (Kaizen)” เป็นอย่างดี ในภาษาญีปุ่นคำว่า “ไค” แปลว่า การเปลี่ยนแปลง (Change) ในขณะที่คำว่า “เซ็น” แปลว่า ดีขึ้น ดีกว่าเดิม (Better)

ในปัจจุบันที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ประเทศและทุกคนไปสู่ Thailand 4.0 สิ่งแรกที่ต้องทำให้ได้ก่อนคือ ชุดความคิด (mindset) เพื่อจะมุ่งไปสู่การลงมือปฏิบัติ Digital mindset จะช่วยผลักดันให้องค์กรแสวงหาทางพัฒนา Digital skill ให้กับคนของตน เพราะถ้ายังคิดที่จะปกป้องความคิดเดิม งานเดิม และยังอ้างอิงกฎระเบียบเดิมๆ คงยากที่จะปรับตัวไปสู่สิ่งใหม่ ยิ่งถ้ายังมานั่งถกเถียงกันว่า เทคโนโลยี นวัตกรรม และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ไม่สอดรับกับกฎหมายที่บังคับใช้อยู่นั้น ก็คงต้องถามว่าจะยังใช้กฎหมายนั้นอยู่ใช่ไหม อย่าว่าแต่ 4.0 เลย แค่ 2.0 หรือ 3.0 ก็คงจะลำบากเต็มทน เริ่มต้นด้วยการแก้ไขกฏระเบียบ พร้อมออกมาตรการเพื่อให้ธุรกิจและคนที่อยู่ในบริบทเดิม คลายความกังวลและเลิกปกป้องตัวเอง ด้วยการเสริมเขี้ยวเล็บให้กับเขาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบใหม่ได้น่าจะดีกว่า