R5

R5

R คือ Readiness ในหลักสูตรผู้นำตามสถานการณ์ Situational Leadership

ความพร้อมของลูกน้องมีสี่ระดับ R1 R2 R3 และ R4

R1 หมายถึงลูกน้องที่ทำงานไม่เป็น และ ไม่อยากทำ

R2 หมายถึงลูกน้องที่อยากทำ แต่ทำงานไม่ได้

R3 คือลูกน้องที่ทำงานได้ แต่ไม่อยากทำ

R4 คือลูกน้องที่ทำงานได้ และอยากทำ

เราสอนหัวหน้าให้ดูแลลูกน้องตามสถานการณ์เหล่านี้ หากลูกน้องเป็น R1 ให้หัวหน้าใช้วิธีสั่ง หากลูกน้องเป็น R2 หัวหน้าควรใช้วิธีสอน ลูกน้องเป็น R3 ให้ใช้การสร้างความมีส่วนร่วม ส่วนใครโชคดีพบลูกน้องที่เป็น R4 เยอะๆ แปลว่าปล่อยให้บินเดี่ยวต่างมือขวาได้

ปัญหาคือ จะทำอย่างไรกับ R5  คนที่ทำได้และอยากทำ แต่ต้องการทำเพียงแค่เท่าที่ตนต้องการ ซึ่งไม่พอที่จะตอบโจทย์องค์กร

มาร์คลาออกจากการเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์เพราะทนทำงานที่ไม่ชอบไม่ได้ เพื่อนของเขาแนะนำให้รู้จักกับอูเบอร์  มาร์คเลือกทำงานเพียงวันละสองชั่วโมงเพราะต้องการใช้เวลาที่เหลือกับงานเขียนหนังสือท่องเที่ยว 

สิ่งที่มาร์คหลงรักในการขับอูเบอร์คือ เรื่องราวที่ได้แลกเปลี่ยนกับผู้โดยสารจากทั่วโลก เขานำเรื่องเหล่านั้นมาบันทึกลงในบล็อก และแชร์ไปในโซเชียล

สำหรับอูเบอร์ มาร์คเป็นคนขับที่ผลงานค่อนข้างแย่ ด้วยความที่เขาขับรถเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน ค่าธรรมเนียมของเขาต่อบริษัทอยู่ในอันดับท้ายๆ กลุ่ม ยิ่งไปกว่านั้น สัปดาห์ที่แล้วมาร์คยังเปิดบัญชีทำงานกับแกร็บซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงอีกด้วย

หากคุณเป็นอูเบอร์ มาร์คเป็นพนักงานที่ดีหรือไม่

ปรากฏการณ์ลักษณะนี้เกิดมากขึ้นเรื่อยๆกับโลก 4.0  เป็นที่มาของธุรกิจเช่น อูเบอร์ แอร์บีเอ็นบี เฟซบุ๊ค แกร็บ อเมซอนดอท คอม อาลีบาบา และสตาร์ทอัพอื่นๆ อีกมากมาย 

การทำงานแบบนี้ไม่สามารถจัดตายตัวลงไปในช่องตาราง Want หรือ Can ได้ เพราะจะว่าไป มาร์คควรเป็น R4 เขาทั้งสามารถขับรถได้ดี และอยากจะออกไปขับรถให้บริการผู้โดยสารทุกวัน

แต่เขาต้องการขับเพียงแค่ 2 ชั่วโมง และบริษัทจ้างพนักงานให้ทำงานเพียงแค่นั้นไม่ได้

...หรือได้

ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

1. R5 จะเยอะขึ้นเรื่อยๆ สุรชัย พุฒิกุลางกูร Illustrator อันดับ 1 ของโลก เล่าว่าเชียงใหม่กำลังเป็นแหล่งสำคัญของงานศิลปะ เด็กรุ่นใหม่ไม่อยากทำงานประจำ และไม่อยากอยู่กรุงเทพฯ จึงเลือกขึ้นเหนือไปหาหนาว 

พวกเขาทำงานเพียงวันละสามสี่ชั่วโมง ด้วยการนั่งร้านกาแฟบนถนนนิมมานฯ พร้อมแมคบุ๊คเครื่องเดียว ส่วนผู้จ้างนั้นอยู่ต่างประเทศ เพราะงานเหล่านี้ส่งตรงได้ทางอินเทอร์เน็ต 

Rendering, Web Design, Artwork, Music เป็นสิ่งที่คนไทยทำได้ดีเสียด้วย เปลี่ยนจากนั่งแกะสลักจักตอกสานในวัง มาเป็นนั่งปรับภาพในสตาร์บัคส์ ตกเย็นก็ออกไปเดินห้าง ค่ำเที่ยวผับได้ครื้นเครงไม่ต้องแคร์ Work Life Balance

2. Scale is everything ธุรกิจที่ผมยกตัวอย่างข้างต้นล้วนปรับตัวให้เข้ากับ R5 

อูเบอร์รู้ว่าหากพยายามทำให้มาร์คขับรถเพิ่มขึ้น ศิลปินอย่างเขาจะหมดไฟ และหนีไปทำอย่างอื่น แต่ในขณะเดียวกัน บริษัทก็อยู่ไม่ได้หากมีเพียงรายได้จากสองชั่วโมงของมาร์ค 

ทางออกของอูเบอร์ คือการหา ‘มาร์ค’ อื่นๆให้มากกว่านี้ ใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารเข้ามาช่วยทำให้ ‘ใครๆก็ขับได้’ แล้วสะสมจำนวนสองชั่วโมงจากคนทั้งเมืองให้ได้ทั้งรายได้ที่ดีและบริการที่เลิศ เช่นเดียวกัน แอร์บีเอ็นบี สะสมคนที่มีห้องให้เช่าเพียงไม่กี่ห้อง กลายเป็นผู้ให้บริการที่พักที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยไม่ต้องมีโรงแรมของตัวเองแม้แต่แห่งเดียว

3. HR ก็ต้องปรับตัว ปรากฏการณ์ R5 นี้เป็นสิ่งใหม่สำหรับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในยุค 4.0  HR ในหลายๆ องค์กรมีปัญหากับการทำให้พนักงานของตนอยากทำงาน 

ประเด็นเกือบร้อยทั้งร้อยที่โค้ชชี่ของผมมักยกมาเป็นโจทย์คือ R3 ของ Situational Leadership ลูกน้องที่ทำงานได้แต่ไม่อยากทำ ส่วนมากเราใช้เวลาค้นหาว่าแล้วเขาอยากทำอะไร 

หากเป็นไปได้ไหมว่า จริงๆ แล้วเรากำลังเผชิญกับ R5 เขาอยากทำสิ่งที่ทำนั่นแหละ แค่ไม่ได้อยากทำมากอย่างที่องค์กรให้เขาทำ ระบบต่างๆในการทำงานปัจจุบันวัดผลงานเฉลี่ยของพนักงานเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ 

แต่ถ้าเราใช้วิธีนั้น มาร์คจะเป็นพนักงานเกรด C ทันที และองค์กรจะสูญเสียศักยภาพสำคัญไปอย่างน่าเสียดาย

การออกไปทำงานนอกประเทศของผม ทำให้มุมมองด้าน Leadership เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากที่เคยมองแค่โจทย์ในประเทศ ทำอย่างไรให้ลูกน้องทำงานได้ กลายเป็นการมองโจทย์ระดับโลก

จากที่เคยมองแค่ R1 R2 R3 R4 ตอนนี้ได้หันมาสนใจ R5

โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร คนจะเปลี่ยนไปอย่างไร การทำงานจะเปลี่ยนไปอย่างไร

อาฮ่า! ไหมครับคุณผู้อ่าน