จับตาทรัมป์แปร soft power เป็น hard power

จับตาทรัมป์แปร soft power  เป็น hard power

ร่างงบประมาณของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มุ่งเพิ่มงบทางทหาร และตัดงบกระทรวงต่างประเทศ

ตลอดจนความช่วยเหลือต่างประเทศ และโครงการสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย สะท้อนว่าเขาต้องการจะแปรนโยบาย soft power เป็น hard power

นั่นหมายความว่าทรัมป์ไม่สนใจเรื่อง การทูตนุ่มนวล” เชื่อชนะใจชาติอื่น แต่หันมาใช้ แนวทางแข็งกร้าว เป็นอำนาจต่อรองแต่เพียงอย่างเดียว

งบกระทรวงกลาโหมจะเพิ่มขึ้น 9% และงบกระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิขยายตัวขึ้น 7% ขณะที่งบกระทรวงต่างประเทศและสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมจะถูกตัด 28%

ทรัมป์บอกว่าแผนงบประมาณแรกของเขามีเป้าหมายชัดเจน คือจะใช้เงินภาษีประชาชนส่วนใหญ่ในบ้าน และให้ต่างประเทศควักกระเป๋าดูแลตัวเองมากขึ้น

ที่สะท้อนว่าทรัมป์ให้ความสำคัญต่อสื่อสาธารณะคือ การตัดงบสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง ให้แก่ทีวีและวิทยุ PBS และ NPR เกือบเกลี้ยง (ประมาณปีละ 15,000 ล้านบาท) ซึ่งแปลว่าสื่อที่ไม่พึ่งโฆษณา และเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารเสรี จะได้รับผลกระทบอย่างแรง

เงินช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาจะหดหาย และงบสำหรับกิจกรรมทางวัฒนธรรม รวมถึงทุนการศึกษาให้กับนักเรียนต่างประเทศ ก็จะถูกตัดอย่างมโหฬารเช่นกัน

นอกจากนั้นในร่างแผนนี้ยังจะลดเงินที่สหรัฐจะให้กับหน่วยรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ

อีกทั้งเงินที่จะให้กับธนาคารโลกก็จะหดตัวลงอย่างมาก อันหมายถึงผลกระทบที่มีต่อโครงการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจต่อหลายประเทศ

ทรัมป์ยืนยันว่าเงินช่วยเหลือต่างประเทศจะมีการทบทวนครั้งใหญ่ และจะให้กับประเทศที่ มีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐ เป็นหลักเท่านั้น

สหรัฐฯเคยสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่นด้วย soft power อันหมายถึงการเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรม, การศึกษาและสังคมควบคู่ไปกับการสร้างแสนยานุภาพทางทหาร เพราะนั่นคือการ เข้าถึงหัวใจ” ของประเทศอื่นด้วยการส่งเสริมกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองและทางทหารโดยตรง

แต่วันนี้ทรัมป์กำลังพลิกโฉม ให้นโยบายต่างประเทศกลายเป็นเรื่อง hard power แต่เพียงอย่างเดียว อันหมายถึงการต่อรองด้วยกำลังอำนาจเป็นหลัก ไม่สนใจว่าใครคนอื่นเขาจะชอบหรือไม่ชอบ

แต่ร่างงบประมาณนี้ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ศึกหนักสำหรับทำเนียบขาวคือการให้ได้เสียงสนับสนุนในวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 60 จาก 100 เสียงซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะหนักหนาสากรรจ์

เพราะลำพังพรรครีพับบลิกันของทรัมป์เองมีเพียง 52 เสียง แม้จะเกินครึ่งแต่การจะให้ร่างงบประมาณผ่านในสภาสูงต้องได้ถึง 60 เสียง

แปลว่าทรัมป์จะต้องน้าวโน้มให้พรรคเดโมแครตยอมโหวตให้อีก 8 เสียงซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากยิ่ง

อันเป็นมาตรการการถ่วงดุลย์อำนาจ ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ในการใช้เงินภาษีประชาชนที่กำหนดไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ

จึงแปลว่าจะต้องมีการต่อรองกันอย่างหนักหน่วง และข้อเสนอตัดงบประมาณของกระทรวงต่างประเทศ และกิจกรรมเกี่ยวกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างแรงเช่นนี้ ไม่น่าจะผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาได้

หากงบนี้ผ่านโดยมีการแก้ไขหลังจากการต่อรอง ระหว่างทำเนียบขาวกับสมาชิกวุฒิสภาฝั่งพรรคเดโมแครต ผลกระทบต่อไทยคงไม่มีอะไรรุนแรง เพราะความจริงวอชิงตันก็ได้ลดงบความช่วยเหลือต่อไทยอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

ยกเว้นที่น่าจับตาคือทรัมป์จะลดงบประมาณสำหรับการฝึก Cobra Gold ประจำปีในประเทศไทยแค่ไหนอย่างไรหรือไม่

หากประเมินจากที่ทรัมป์ประกาศว่าจะให้ความสำคัญ ต่อกิจกรรมทางทหารและความมั่นคงมากขึ้น เพื่อแสดงแสนยานุภาพทางทหารของตนทั่วโลก สหรัฐก็อาจจะยังคงการซ้อมรบนี้ไว้ เพราะอย่างไรเสียอเมริกาก็ได้ประโยชน์ในเรื่องนี้มากกว่าคนอื่น

ผลพวงจากการปรับแนวทางจาก soft power เป็น hard power ของอเมริกาจะทำให้เกิดช่องว่างที่เปิดทางให้จีน จะเข้ามาแทนที่อย่างปฏิเสธไม่ได้

ปักกิ่งกับวอชิงตันดำเนินนโยบายเรื่องนี้สวนทางกันแน่นอน

เพราะจีนเริ่มใช้นโยบาย soft power กับประเทศต่าง ๆ มาระยะหนึ่งแล้วด้วยการเสนอเงินช่วยเหลือโครงการพัฒนา, ช่วยสร้างเครือข่ายเส้นทางคมนาคม ตั้ง สถาบันขงจื้อ ไปทั่วโลกเพื่อสอนภาษาจีนและเผยแพร่วัฒนธรรมจีนอย่างกว้างขวาง อีกทั้งเสนอให้ทุนการศึกษากับนักเรียนนักศึกษา เข้าเรียนในสถาบันต่างๆ ของเขาอย่างกว้างขวาง

จึงมองไม่ยากว่าการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจในบ้านเราจะเปลี่ยนโฉมไปอย่างไร