ศึกภายในทำเนียบขาวเรื่องนโยบายการค้า ของรัฐบาลสหรัฐ

ศึกภายในทำเนียบขาวเรื่องนโยบายการค้า ของรัฐบาลสหรัฐ

ในระยะหลังนี้มีการเขียนข่าวมากมาย เกี่ยวกับนโยบายการค้า ของประธานาธิบดีทรัมป์

 เพราะนโยบายกีดกันการค้า และความต้องการให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าของทรัมป์ จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการค้าและเศรษฐกิจโลก นอกจากนั้นประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ นาย พอล์ล ไรอันก็ยังพยายามผลักดันภาษีเก็บที่ชายแดน ( Border Adjustment tax) เพื่อแลกกับการลดภาษีรายได้นิติบุคคล ซึ่งหากมีการเก็บภาษีสินค้านำเข้า 20% ตามที่นายไรอันเสนอ ก็จะเป็นผลร้ายอย่างยิ่งต่อระบบการค้าของโลก ดังนั้นจุดยืนและท่าทีที่ชัดเจนของรัฐบาลสหรัฐ (หรือที่บางทีเรียกว่าทำเนียบขาว) นั้น จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายพยายามติดตามอย่างใกล้ชิด

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีบทความหนึ่งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Financial Times (FT) ชื่อเรื่องว่า “White House civil war breaks over trade” ซึ่งผมเห็นว่ามีข้อมูลน่าสนใจอย่างยิ่ง จึงจะขอถ่ายทอดสาระของบทความดังกล่าวโดยย่อมาให้อ่านกัน ทั้งนี้ต้องขอออกตัวก่อนว่าเป็นเพียงหนึ่งในหลายบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้และข้อเท็จจริงก็อาจคลาดเคลื่อนได้ แต่ FT เป็นหนังสือพิมพ์ที่น่าเชื่อถือ และได้พยายามแสวงหาข้อมูลจากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ แม้ว่าไม่มีแหล่งข่างคนใดยอมที่จะเปิดเผยตัวเอง

บทความกล่าวสรุปว่าได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในทำเนียบขาวว่าด้วยนโยบายการค้า กล่าวคือได้มีการประชุมโต้เถียงกันอย่างรุนแรง “a fiery meeting” ระหว่างกลุ่มชาตินิยมขวาจัดที่เป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดี ได้แก่ Chief Strategist Steve Bannon (ผมตีความว่า Bannon เป็นที่ปรึกษาด้านการเมืองของประธานาธิบดี) กับ Peter Navarro ที่ปรึกษาด้านการค้าฝ่ายหนึ่งกับฝ่ายที่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอีกฝ่ายหนึ่ง นำโดย Gary Cohn ประธานที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้านเศรษฐกิจกับรัฐมนตรีคลัง นาย Steven Mnuchin (ทั้งสองคนเป็นอดีตผู้บริหารของบริษัท Goldman Sachs เช่นเดียวกับนาย Steve Bannon)

ประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างรุนแรง (บทความใช้คำว่า “bitter fight”) คือการที่นาย Navarro ได้ไปกล่าวหาประเทศเยอรมันในต้นเดือนมีนาคมว่าเยอรมันเอาเปรียบสหรัฐและยุโรปอื่นๆ โดนการกำหนดให้เงินยูโรอ่อนค่าอย่างมาก (grossly undervalued) และเรียกร้องให้เยอรมันลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ (ทั้งๆ ที่เงินยูโรนั้นกำหนดโดยโดยธนาคารกลางยุโรปและเป็นเงินที่ใช้ร่วมกัน 19 ประเทศ) 

ทั้งนี้โดย FT อ้างอ้างแหล่งข่าว “กว่า 6 คน” ที่เห็นเหตุการณ์โดยสรุปว่านาย Navarro ถูกโจมตีอย่างหนักและดูเสมือนว่ากำลังสูญเสียบารมีใน 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ดีมีแหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าวว่าประธานาธิบดีทรัมป์นั้นดูเสมือนว่าจะยัง “เข้าข้าง” นาย Navarro และกลุ่มชาตินิยมอยู่ ทั้งนี้จะต้องประเมินกันอย่างละเอียดอีกครั้งว่าผลการเยือนสหรัฐของนายกรัฐมนตรีเยอรมัน นาง Angela MerKel กับประธานาธิบดีทรัมป์ นั้นมีสาระสำคัญอะไรบ้างและสหรัฐลดทอนท่าทีที่ตำหนิประเทศเยอรมันลงมากน้อยเพียงใด นอกจากนั้นการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มจี 20 ในวันที่ 17-18 มีนาคมนั้น ก็ต้องติดตามดูว่ามีข้อสรุปในเชิงที่จะลดทอนการกีดกันการค้าและการกล่าวหาประเทศคู่ค้าของสหรัฐเกี่ยวกับค่าเงินหรือไม่

บทวิเคราะห์ของ FT กล่าวถึงการที่นาย Navarro ถูกวุฒิสมาชิกสหรัฐวิจารณ์ว่าการบรรยายนโยบายการค้าของเขาในเดือนกุมภาพันธ์ขาดการเตรียมตัวที่ดีและขาดความชัดเจนในรายละเอียดที่สำคัญ และสรุปว่านาย Navarro และทีมเล็กๆ ของเขาที่มีสำนักงานอยู่ที่ตึก Old Executive Office Building (OEOB) กำลังจะถูกโดดเดี่ยว ในขณะที่ทีมของนาย Cohn กำลังเพิ่มบุคลากรของทีมของเขาที่ทำงานอยู่ในทำเนียบขาว ทั้งนี้นาย Cohn และพรรคพวกกำลังเสนอให้ย้ายสำนักงานของนาย Navarro ออกจาก OEOB ให้ไปอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ นำโดย “Wilbur Ross ซึ่งมีแนวคิดชาตินิยมและกีดกันการค้าคล้ายคลึงกับนาย Navarro

ในฐานะที่ผมเคยประจำอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ผมต้องสรุปว่าการย้ายสำนักงานหากเกิดขึ้นจริงจะเป็นการยืนยันได้เลยว่า นาย Navarro หมดบารมีทางการเมืองแล้ว การจะได้ทำงานในทำเนียบขาวหรือ OEOB นั้นเป็น เรื่องใหญ่ มาก เพราะเป็นการสะท้อนว่านาย Navarro (เมื่อเทียบกับนาย Cohn) นั้นใกล้ชิดกับประธานาธิบดีมากน้อยเพียงใด กล่าวคือกระทรวงพาณิชย์นั้นตั้งอยู่ที่ถนน constitution ตัดกับถนน 14ห่างจากทำเนียบขาว 2-3 กิโลเมตร (อยู่มุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของทำเนียบขาว) แต่สำนักงานของนาย Cohn นั้นอยู่ด้านตะวันตกของทำเนียบขาว (White House West Wing) ซึ่งเป็นเสมือนกับสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และถัดออกไปจากทำเนียบขาวทางตะวันตกติดกับถนน 17 (ตัดกับถนน E,F และ Pennsylvania) คือตึก OEOB ซึ่งเป็นเสมือนตึกสำนักนายกฯ โดยเป็นที่ทำงานของรองประธานาธิบดีของ White House Chief of Staff โฆษกรัฐบาลและสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งต้องถือว่าผู้ที่มีห้องทำงานใน OEOB นั้นมีความสำคัญและใกล้ชิดกับประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอย่างมาก แต่หากนาย Navarro และทีมของเขาถูก “เนรเทศ” ไปอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ก็จะเป็นการลดความสำคัญของเขาลงไปอย่างมากจากการมีส่วนในการกำหนดนโยบายการค้าของสหรัฐ

หากข้ามถนน 17 จาก OEOB ไปอีกฟากหนึ่งก็จะพบสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ซึ่งแม้จะมีเจ้าหน้าที่เพียง 200 คน แต่มีความสำคัญในการกำหนดนโยบายการค้ามากกว่ากระทรวงพาณิชย์ที่มีเจ้าหน้าที่ 43,880 คนเสียอีกครับ