ตลาดเกิดใหม่ยังไม่สิ้นมนต์ขลัง

ตลาดเกิดใหม่ยังไม่สิ้นมนต์ขลัง

ตลาดเกิดใหม่ยังไม่สิ้นมนต์ขลัง

ดิฉันเขียนเรื่องกึ่งท่องเที่ยวไปสองสัปดาห์ ปรากฏว่าเสียงตอบรับดีกว่าเขียนเรื่องการเงิน แต่เกรงใจว่าถ้าเขียนเรื่องเที่ยวต่ออีกสัปดาห์หนึ่ง ทางกอง บก.อาจจะย้ายดิฉันไปเขียนคอลัมน์ Travel Pro อยู่ในส่วนท่องเที่ยวแน่เลย สัปดาห์นี้จึงขอกลับมาเรื่องเงินๆทองๆต่อค่ะ

สัปดาห์ที่แล้ว “เจ้าพ่อตลาดเกิดใหม่” ดร.มาร์ค โมเบียส แห่งกองทุนเทมเพิลตัน เดินทางมาเมืองไทยเพื่อพบปะพูดคุยกับ ลูกค้าไพรเวทแบงก์ของธนาคารกสิกรไทย ดิฉันโชคดีมีโอกาสเข้าฟังด้วย จึงขอนำบางส่วนมาเล่าประกอบการเขียนถึงหุ้นในตลาดเกิดใหม่

ตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets คือตลาดที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนา ส่วนใหญ่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะสูง เมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้ว (Developed Markets) ในด้านการลงทุนเราจะแยกเป็นตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (Emerging Asia) คือ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นต้น ตลาดเกิดใหม่ในละตินอเมริกา (Emerging Latin American) คือ เม็กซิโก บราซิล ชิลี อาร์เจนตินา เวเนซูเอลา เป็นต้น ตลาดเกิดใหม่ในยุโรปและอัฟริกา (Emerging Europe & Africa) คือ รัสเซีย ตุรกี อัฟริกาใต้ เป็นต้น

ส่วนตลาดที่พัฒนาน้อยกว่านั้น เรียกว่า ตลาดชายขอบ หรือ Frontier Marketsเช่น เวียดนาม ลาว ตลาดในตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ ที่เรียกว่า Middle East and North Africa--MENA

ในอดีต ตลาดเกิดใหม่มีความผันผวนหรือความเสี่ยงมากกว่าตลาดพัฒนาแล้ว เช่นในปีที่แล้ว ตลาดเกิดใหม่ (ในที่นี้ใช้ดัชนี MSCI Emerging Markets) มีค่าความผันผวนวัดโดยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือ Standard Deviation (SD) เท่ากับ 14.27% ในขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลก (ในที่นี้ใช้ดัชนี MSCI World) มีค่า SD เท่ากับ 10.75% หรือหากมองในระยะยาวขึ้น 10 ปีย้อนหลัง ตลาดเกิดใหม่ มีค่าความผันผวนต่อปีเฉลี่ย 16.75% ในขณะที่ตลาดทั่วโลก มีค่าความผันผวนเฉลี่ย 15.05% ต่อปี

ที่ผ่านมา เวลาเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ จะไหลออกแรง และมีนักลงทุนเจ็บตัวกันเยอะ เช่น เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ในปี 2540 (13 เดือน -56%) เมื่อเกิดฟองสบู่ไอทีแตก ในปี 2543 (17 เดือน -49%) เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ซับไพรม์ เมื่อปี 2551(12 เดือน -65%) และล่าสุดเมื่อสหรัฐอเมริกาเริ่มขึ้นดอกเบี้ย (17 เดือน -35%)

ดิฉันเอง ก็เชื่อว่า เมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ย เงินจะไหลกลับสหรัฐพอสมควร แต่ในคราวนี้ เงินชะลอการไหลกลับ เพราะไม่แน่ใจในนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ และเป็นห่วงเรื่องเงินเฟ้อ โดยเคยให้สัมภาษณ์ในเดือนพฤศจิกายนว่า นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ จะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง แต่ก็เห็นดอลลาร์แข็งค่ามาตลอด จนรู้สึกว่าเราอาจจะมองผิดไป

ในคราวนี้ ดร.โมเบียส ได้ให้ความเห็นเหมือนกับที่ดิฉันเคยพูดไว้คือ ท่านบอกว่า นโยบายของ ประธานาธิบดีทรัมป์ นอกจากจะทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงแล้ว ยังจะก่อให้เกิดการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น และจะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง จึงมีความแตกต่างจากในช่วงอื่นๆ ทั้งนี้ ท่านคิดว่า เงินที่ลงทุนระยะสั้น หรือที่เก็งกำไร จะไหลกลับ แต่เงินระยะยาวจะยังคงอยู่ เพราะเชื่อว่าตลาดเกิดใหม่จะสามารถเติบโตไปต่อได้อีกค่ะ เนื่องจากนอกจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะสูง (คาดการณ์ปี 2560 เติบโตเฉลี่ย 4.6% เทียบกับ เศรษฐกิจพัฒนาแล้วที่เติบโต 1.8%) ซึ่งสะท้อนอยู่ในกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดที่มีอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 8.27% ในขณะที่หุ้นโลก มีอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ย 7.13% และค่า P/E ก็ต่ำกว่าของตลาดพัฒนาแล้ว คือ ตลาดเกิดใหม่มีค่า P/E (คาดการณ์ 2560) เฉลี่ย 12 เท่า ในขณะที่ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมีค่า P/E เฉลี่ย 16.3 เท่า

แต่ดร.โมเบียส เห็นว่า ตลาดเกิดใหม่(วัดโดยดัชนี MSCI Emerging Market)ที่เป็นภาวะกระทิง (ขาขึ้น) อยู่ได้นานกว่า และให้ผลตอบแทนมากกว่า คือ ใน 29 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2531) ตลาดเกิดใหม่จะเป็นภาวะกระทิงนานเฉลี่ยครั้งละ 69 เดือน ให้ผลกำไรเฉลี่ยต่อครั้ง 356% และเป็นภาวะหมี (ขาลง) เฉลี่ยนานครั้งละ 15 เดือน ให้ผลขาดทุนเฉลี่ยต่อครั้ง 51% เพราะฉะนั้น ท่านเห็นว่าคุ้มที่จะเสี่ยง

ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ตลาดเกิดใหม่ เพิ่งอยู่ในขาขึ้นมาได้ประมาณหนึ่งปีค่ะ และยังขึ้นมาไม่มาก โดยปีที่แล้ว ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.58%

หมายเหตุ: การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง บทความนี้มิได้มีวัตถุประสงค์จะเชิญชวนให้ลงทุนหรือไม่ลงทุนในหลักทรัพย์แต่อย่างใด