การใช้ Auto-Trade กับตลาดที่ผันผวน

การใช้ Auto-Trade กับตลาดที่ผันผวน

การใช้ Auto-Trade กับตลาดที่ผันผวน

ในช่วงที่ตลาดมีการปรับฐานลงมาตามข่าวสารที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ และการแกว่งตัวลงของราคาหุ้นขนาดกลางที่เคยปรับตัวขึ้นไปแรงๆตั้งแต่ต้นปี ซึ่งตามมาด้วยการแกว่งตัวของราคาหุ้นขนาดกลางภายในวัน นักลงทุนระยะสั้นที่อาจจะติดงานประจำ หรือไม่สามารถติดตามสภาวะตลาดได้อย่างใกล้ชิดอาจประสบปัญหาในสภาวะเช่น Stop Loss ไม่ทัน ขายทำกำไรไม่ทัน หรือซื้อหุ้นตอนราคาย่อลงมาไม่ทัน เป็นต้น

สภาวะตรงนี้ทำให้ผมนึกถึงฟังก์ชั่นซื้อขายหุ้นและอนุพันธ์ที่หลายๆบล.เริ่มนำเสนอให้แก่ลูกค้าทั่วไปที่เรียกว่า Auto-Trade โดยหลักการแล้วฟังก์ชั่นนี้จะทำหน้าที่คล้ายๆกับส่งคำสั่งซื้อขายให้นักลงทุนโดยอัตโนมัติ โดยที่นักลงทุนจะระบุไว้ก่อนว่าจะให้ส่งคำสั่งขายด้วยเงื่อนไขแบบง่ายๆ เช่น กำหนดเงื่อนไขโดยระบุราคาของหุ้น เป็นต้น

การประยุกต์ใช้ลูกเล่นนี้ที่ใกล้ตัวที่สุดในช่วงที่ตลาดปรับตัวลง คือ นำมาช่วยในการ Stop Loss ของนักลงทุนที่ถือหุ้นอยู่และกำหนดจุดตัดขาดทุนไว้แล้วถ้าราคาปรับลง ปัญหาที่เจอคือเวลาที่หุ้นปรับตัวลงมาถึงราคานั้นจริงๆ นักลงทุนอาจติดธุระอยู่ไม่ได้ดูตลาด ทำให้เวลาที่ต้องตัดใจขาย Stop Loss จริงๆกลายเป็นราคาที่ต่ำกว่าที่ตั้งใจไว้มาก ฟังก์ชั่น Auto-Trade สามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างดี โดยเริ่มต้นวันนักลงทุนแค่ระบุราคาที่ใช้เป็น Trigger ในการ Stop Loss ไว้ล่วงหน้า โดยที่ระหว่างวันถ้าราคาหุ้นปรับตัวลงมาที่ราคานั้น ฟังก์ชั่นนี้ก็จะทำการส่งคำสั่งขายหุ้นออกไปให้โดยที่นักลงทุนไม่ต้องนั่งเฝ้าราคาหุ้นตลอดทั้งวัน

ในฝั่งการขายทำกำไรของนักลงทุน เมื่อราคาหุ้นปรับตัวก็สามารถกำหนดเป้าราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปถึงได้ และใช้ฟังก์ชั่น Auto-Trade ส่งคำสั่งซื้อหุ้นเมื่อราคาหุ้นถึงเป้าที่กำหนดไว้ ตัวอย่างที่ยกมาตรงนี้เป็นการใช้งานขั้นพื้นฐานของฟังก์ชั่น Auto-Trade ทั่วๆไป แต่สำหรับบางบล.ได้พัฒนาให้ Auto-trade ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้นโดยนอกจากการเงื่อนไขของราคาหุ้น ยังอนุญาติให้นักลงทุนสามารถตั้งเงื่อนไขอื่นๆได้อีก เช่น เงื่อนไขมูลค่าซื้อขายหรือปริมาณการซื้อขายหุ้น เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นเป็นเปอร์เซนต์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการใช้ฟังก์ชั่น Auto-Trade จำเป็นต้องระมัดระวังในบางสถานการณ์ ได้แก่ การส่งคำสั่งซื้อขายอัตโนมัติบนหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายเบาบาง หรือการใช้ Auto-Trade ซื้อขายหุ้นด้วยปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งทั้ง 2 กรณีอาจมีผลกระทบกับราคาหุ้นที่ซื้อขายได้จริง และทำให้นักลงทุนเสียหายได้ บล.บางที่ปรับแต่งโปรแกรม Auto-Trade ให้หลีกเหลี่ยงการใช้ฟังก์ชั่นในกรณีดังกล่าว เช่น การไม่อนุญาติให้ใช้ฟังก์ชันนี้บนหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำจนเกินไป หรือ กำหนดเพดานปริมาณหุ้นที่ซื้อขายได้มากสุดในแต่ละคำสั่ง เป็นต้น

การนำเสนอ Auto-Trade ของหลายๆบล.ให้แก่นักลงทุนในวงกว้างถือว่าเป็นเครื่องมือที่ให้ประโยชน์แก่นักลงทุนเป็นอย่างมากโดยที่ต้นทุนในการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนยังเท่าเดิม และนับว่าเป็นจุดเริ่มสำคัญของนักลงทุนรายย่อยในการเข้าสู่โลกการซื้อขายหุ้นแบบอัตโนมัติ หรือที่เรียกสั้นๆว่า Robot ย้ำนะครับว่าเป็นแค่จุดเริ่ม เพราะในอนาคตเทคโนโลยีพวกนี้จะมีเข้ามาเรื่อยๆและจะซับซ้อนไปเรื่อยๆ นักลงทุนควรติดตามวิวัฒนาการตรงนี้ให้ดีๆเพื่อจะได้ปรับตัวและนำมาใช้ประโยชน์กัน