จีนกับอาเซียน: บรรลุข้อตกลง กฎกติกามารยาทในทะเลจีนใต้?

จีนกับอาเซียน: บรรลุข้อตกลง กฎกติกามารยาทในทะเลจีนใต้?

ผมเห็นข่าวที่อ้างรัฐมนตรีต่างประเทศ จีนหวางอี้ ประกาศว่าปักกิ่งได้ “ทำความตกลง”

 กับประเทศอาเซียนเรื่องทะเลจีนใต้ว่าด้วย หลักปฏิบัติร่วม” หรือ Code of Conduct แล้วก็ทำให้อยากรู้เนื้อหาสาระที่แท้จริงว่ามีหน้าตาอย่างไร

ผมยังไม่ได้ยินอะไรจากกระทรวงต่างประเทศของไทยเรา ว่าการเจรจากันหลายปีที่ผ่านมาเรื่องนี้ บรรลุข้อตกลงในรายละเอียดอย่างไร

และประเทศที่เป็นคู่กรณีกับจีน ว่าด้วยการอ้างสิทธิ์เหนือเกาะแก่งทั้งหลายในทะเลจีนใต้นั้น ยอมตามเงื่อนไขอะไรบ้าง อีกทั้งหากมีกรณีที่เกิด เหตุเผชิญหน้าโดยไม่ได้วางแผนมาก่อน นั้นจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้บานปลายกลายเป็นเรื่องความรุนแรง

ที่แน่ ๆ คือรัฐมนตรีต่างประเทศจีนยืนยันว่า บัดนี้บรรยากาศในทะเลจีนใต้มีความสงบราบรื่น

แต่เขาก็ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนถึงสหรัฐว่า

“เราจะไม่ยอมให้เสถียรภาพที่ได้มาด้วยความยากลำบากนี้ ถูกรบกวนหรือบ่อนทำลายอีก ณ จุดนี้หากใครพยายามจะสร้างเรื่องหรือก่อให้เกิดปัญหา พวกเขาก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนและจะได้รับการต่อต้านจากทั้งภูมิภาค”

ไม่ต้องระบุว่าเป็นประเทศไหนก็คงจะชัดเจน

เพราะสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ก็ยืนยันว่า จะเดินหน้าปกปักรักษาผลประโยชน์ของเขาในย่านนี้

แม้ทรัมป์จะเลิกใช้คำว่า Pivot to Asia (ปักหมุดเอเชีย) ของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา แต่ทิศทางของสหรัฐในทะเลจีนใต้ ก็ยังคงเดินหน้ารักษาสถานภาพเดิม นั่นคือจะส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน พร้อมเรือลาดตระเวนป้วนเปี้ยนอยู่ในย่านนี้ต่อไป

มิหนำซ้ำ ทรัมป์ยังประกาศว่าจะเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐครั้งใหญ่ จะของบประมาณกลาโหมเพิ่มอีก 9% หรือคิดเป็นเงิน 54,000 ล้านเหรียญ (เกือบ 2 ล้านล้านบาท) เพื่อตอกย้ำความเกรียงไกรของสหรัฐไปทั่วโลก

ดังนั้น แม้ทรัมป์จะใช้นโยบายโดดเดี่ยวตัวเองทางด้านการค้า แต่ด้านการทหาร หากตีความตามถ้อยแถลงทางการทรัมป์ กลับจะสยายปีกทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ไปทั่วโลกรวมถึงเอเชียด้วย

ความจริงการเจรจาระหว่างจีนกับอาเซียนว่าด้วย กฎกติกามารยาท ในทะเลจีนใต้เริ่มมาตั้งแต่ 2010 หรือเกือบ 7 ปีมาแล้วแต่ก็ติดขัดเรื่องรายละเอียดที่ไม่อาจตกลงกันได้

จนกระทั่งล่าสุดรัฐมนตรีต่างประเทศจีนบอกว่า มีความคืบหน้าที่ทั้งจีนและอาเซียนมีความพอใจ

อีกทั้งสำทับว่าต่อไปนี้ใครจะมาทำกิจกรรม “ซ้อม” เรื่อง เสรีภาพแห่งการเดินเรือ” (Freedom of Navigation) ในทะเลจีนใต้ก็จะไม่เป็นที่ต้อนรับของประเทศในแถบนี้

ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากจะพุ่งเป้าไปที่สหรัฐอีกเช่นกัน

ว่าแล้วเขาก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยถึงคู่แข่งที่สำคัญที่สุดในเวทีระหว่างประเทศ

“แม้แต่จีนกับสหรัฐก็เถอะ หากเราสามารถปรับทัศนคติต่อกันได้ มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้ ก็สามารถกลายเป็นเวทีแห่งความร่วมมือกันอย่างกว้างขวางได้...” หวางอี้พูดอย่างนี้เท่ากับทั้งเตือน และเรียกร้องให้วอชิงตันหันมาพูดจากับปักกิ่ง ในเรื่องทะเลจีนใต้เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากัน

จีนกับอาเซียน บรรลุข้อตกลง” เรื่องทะเลจีนใต้จริงหรือไม่ยังต้องรอคำยืนยันจากประเทศอาเซียน เพราะจุดทดสอบจริงก็คือการที่จีนพร้อมจะสร้าง เขตพัฒนาร่วม และระงับการสร้างฐานทัพทหารบนเกาะเทียม ที่ทำให้เกิดภาพของการขยายแสนยานุภาพทางทหาร มากกว่าจะเป็นการแสวงหาความร่วมมือกับเพื่อนบ้านในแถบนี้

คลื่นลมในทะเลจีนใต้ยังไม่สงบ ตราบที่ยังไม่มีข้อเห็นพ้องว่าด้วยการร่วมกัน ใช้เกาะแก่งทั้งหลายอย่างสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ร่วมกัน!