ไทยแลนด์ 4.0 กับอุปสรรคที่ 'ไม่เคลียร์'

ไทยแลนด์ 4.0 กับอุปสรรคที่ 'ไม่เคลียร์'

นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐที่ต้องการพลิกโฉมประเทศ สู่เศรษฐกิจในระบบใหม่

 ดึงวิธีคิดใหม่ๆ และเทคโนโลยีเข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ที่จนถึงวันนี้ยังดูเหมือนว่า “ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม” ที่ชัดเจน ซึ่งต้องยอมรับว่า นโยบายนี้เกี่ยวพันกับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ ที่ต้องมีความพร้อม ต้องมีเม็ดเงิน มีบุคลากรที่ตอบโจทย์ และมีวิธีคิดที่สอดคล้องไปกับนโยบายนี้

ล่าสุด หน่วยงานอย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) หรือเดิมคือสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า มีความเคลื่อนไหว ที่หากทำได้จริงอย่างถ้อยแถลง ก็จะเป็นอีกความหวังหนึ่ง 

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2560 ที่ผ่านมา บอกว่า ขณะนี้ได้ร่างแผนปฏิบัติงานและยุทธศาสตร์ขึ้นใหม่ เป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปี (2560-2579) เสนอทั้งรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ บอร์ดดีอี ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเพื่อให้เห็นชอบแผน

แผนงานใหม่ที่ต้องตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลตั้งแต่ระดับฐานราก เริ่มจากสร้างบรรยากาศให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ พัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร ที่หันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น ให้ความสำคัญกับพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ใช้ดิจิทัลไปช่วยด้านการเกษตร การศึกษา มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เป็นแรงจูงใจให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ผลักดันให้เกิดดิจิทัล พาร์ค ,สมาร์ทซิตี้ ,และดิจิทัล คอมมูนิตี้

ประเด็นสำคัญ คือ ดีป้าตั้งเป้าจะสร้างสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีพันธุ์ใหม่ 500,000 ราย ซึ่งเป็นแผนที่วางระยะยาวไว้ 20 ปีข้างหน้า !!!

การสร้างสตาร์ทอัพ หรือการสนับสนุนนักธุรกิจรุ่นใหม่ๆ ที่มีกรอบแนวคิดใหม่ๆ เป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลยุคนี้ประกาศเป็นนโยบายเอาไว้ชัดเจน แต่ที่ผ่านมาเรื่องเหล่านี้กลับยังไม่ชัดเจน ดูงงๆ เจ้าภาพมีหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทย์ฯ กระทรวงดีอี สถาบันการศึกษา นโยบายกระจัดการจายไปแต่ละที่ นี่คืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้การทำงานไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การผลักดันที่จริงจัง การสนับสนุนที่ต้องเป็นไปทั้งอีโคซิสเต็มส์ เลยไม่เกิดขึ้น 

ยังไม่นับแนวนโยบายภาครัฐที่ดูเป็นเชิงสกัดกั้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาสู่ประเทศไทย การปรับใช้กฏหมายที่ดูแล้วไม่สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก การไม่มีแนวทางสนับสนุนที่ “ชัดเจน” ให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในประเทศ เป็นสิ่งที่เสียดายและน่าตกใจ เพราะเป็นตัวทำลายโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคที่ไม่ได้ทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า แต่เป็นการฉุดให้ถอยหลังไปเรื่อยๆ ในขณะที่ประเทศอื่นก็จะแซงหน้าเราไป ประเทศแล้ว ประเทศเล่า ...