Fintegration โอกาสของธนาคารไทย

Fintegration โอกาสของธนาคารไทย

Fintegration มาจากคำว่า FinTech บวกกับ Integration เมื่อรวมกันแล้วหมายถึง การจับมือกันระหว่างธนาคารกับฟินเท

เพื่อให้บริการเทคโนโลยีทางการเงิน ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ช่วงหลายปีที่ผ่านมาฟินเทคเกิดใหม่เพิ่มขึ้นราวกับดอกเห็ด ประมาณการกันว่าในปีที่ผ่านมา มีฟินเทคอยู่ไม่น้อยกว่า 12,000 ราย มีเม็ดเงินจากแหล่งทุนต่างๆ ไหลไปสู่ฟินเทคเพิ่มขึ้นจาก 4,000 ล้านเหรียญต่อปีเป็น 12,000 ล้านเหรียญต่อปี การเติบโตที่รวดเร็วนี้ทำให้เกิดกระแส Fintegration ไปทั่วทุกมุมโลก

ในปี 2558 Economic Intelligence Unit ได้ทำการสำรวจความเห็นของผู้บริหารธนาคารจำนวน 100 คน เกี่ยวกับความพร้อมของธนาคารในการแข่งขันกับบริษัทฟินเทค โดยให้ระบุจุดอ่อนของธนาคาร ซึ่งจะไปลดทอนความสามารถในการแข่งขัน ได้ผลตามที่แสดงไว้ในรูป จะเห็นว่า ประเด็นสำคัญ 5 อันดับแรก คือ 1) ผู้บริหารของธนาคารขาดวิสัยทัศน์ด้านดิจิตอลที่ชัดเจน จึงไม่สามารถกำหนดกลยุทธ์ในการแข่งขันและ/หรือร่วมมือกับฟินเทคได้อย่างเหมาะสม 2) ผู้บริหารเหล่านี้ยังแสดงความกังวลถึงความสามารถในการรักษาข้อมูลที่สำคัญไม่ให้ถูกขโมยไปใช้ได้ 3) วัฒนธรรมขององค์กรไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เนื่องจากเป็นองค์กรขนาดใหญ่ และมีความเคยชินกับวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิม 4) ธนาคารมีความยืดหยุ่นในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าน้อยกว่าฟินเทค เนื่องจากยึดมั่นถือมั่นในผลิตภัณฑ์และแนวทางการทำงานเดิมของตนเอง และ 5) แม้ว่าธนาคารบางแห่งอยากจะปรับตัว แต่ก็ไม่สามารถหาวิธีจูงใจให้คนเก่งมาทำงานวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมของภาคการเงินซึ่งไม่เอื้อต่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่

แม้ว่าผลการสำรวจข้างต้นจะทำให้เรารู้สึกว่า ธนาคารกำลังตกที่นั่งลำบาก แต่ฟินเทคเองก็มีข้อจำกัดหลายอย่างที่ตัวเองไม่สามารถจะก้าวข้ามไปได้ เช่น ขาดประสบการณ์ในการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงิน การขาดแคลนแหล่งเงินทุนเพื่อการขยายกิจการ ผู้บริหารมักจะเป็นสตาร์ทอัพ ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีดี แต่ขาดประสบการณ์ในการบริหารจัดการธุรกิจทางการเงิน การสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า การมีฐานลูกค้าจำนวนน้อยเกินไปจนผลตอบแทนในการลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ขาดประสบการณ์ในการปฏิบัติกฎหมายทางการเงินที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการที่ไม่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้ครอบคลุมเหมือนกับธนาคาร

แม้ว่าฟินเทคจะมาแรง แต่ต้องยอมรับว่า เป้าหมายของฟินเทคไม่ได้ต้องการจะเติบโตขึ้นมาเป็นธนาคาร ด้วยเหตุนี้ ธนาคารหลายแห่งจึงไม่ได้มองฟินเทคเป็นคู่แข่ง แต่มองว่าเป็นแขนขาที่ควรดึงมาเสริมให้ธนาคาร สามารถเข้าถึงความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าได้มากขึ้นกว่าเดิม การจับมือเป็นพันธมิตรกับบรรดาฟินเทคเหล่านี้ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า Fintegration นั่นเอง

ด้านฟินเทคเองก็สามารถปิดจุดอ่อนของตัวเองได้ดีขึ้นด้วยการเป็นพันธมิตรกับธนาคาร เพราะสามารถพ่วงผลิตภัณฑ์ของตัวเองกับผลิตภัณฑ์ของธนาคาร สามารถขยายฐานลูกค้าแบบก้าวกระโดดได้ ได้ภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ การระดมทุนก็ทำได้ง่ายขึ้น ได้ความรู้ด้านการบริหารจัดการ ได้คำปรึกษาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินอย่างรวดเร็ว ซึ่งดีกว่าการไปเรียนรู้เอาเองที่บางครั้งหากพลาดไปอาจส่งผลถึงขั้นปิดกิจการได้

ตัวอย่างของธนาคารที่โอบรับ Fintegration มาเป็นพันธมิตรของธนาคาร ได้แก่ Development Bank of Singapore ยอมลงทุนเช่าพื้นที่ 5,000 ตารางฟุตที่ฮ่องกง เพื่อใช้เป็นที่ทำงานสำหรับฟินเทคสตาร์ทอัพเพื่อจะหาคนที่มีหน่วยก้านดีมาร่วมพัฒนางานด้านฟินเทคให้เติบโตได้รวดเร็วขึ้น Accenture ก็ลงทุนสร้างแลบฟินเทคที่นิวยอร์ค โดยมีธนาคารที่สนใจเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรเกือบยี่สิบแห่ง เพื่อฝึกฝนให้ฟินเทคสตาร์ทอัพ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของธนาคารเหล่านี้ State Bank of India ก็ไม่ยอมน้อยหน้า เริ่มโครงการเพื่อเปิดพื้นที่ทำงานร่วมกับฟินเทคสตาร์ทอัพ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่ง ของภาคการเงินของประเทศและเป็นประโยชน์ต่อธนาคาร

แม้ข้อจำกัดที่นำเสนอไว้ในรูปข้างต้นจะเป็นเป็นข้อสรุปจากประเทศในฝั่งตะวันตก แต่ประเด็นเหล่านี้ก็น่าจะเป็นประเด็นสำคัญของธนาคารไทยเช่นกัน การตระหนักว่าประเด็นเหล่านี้คือความท้ายทายที่จะต้องผ่านไปให้ได้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการหาคำตอบว่าธนาคารไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร

ช่วงสองปีที่ผ่านมาเราได้เห็นการปรับตัวของธนาคารไทยเพื่อไปสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น มีการลดจำนวนสาขา โดยเฉพาะสาขาที่มีผู้ใช้บริการน้อย เพื่อลดต้นทุน มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานได้สะดวกขึ้นกว่าเดิมเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ย้ายไปทำธุรกรรมในโลกออนไลน์มากกว่าจะไปเข้าคิวรอใช้บริการ ยกเว้นจะเป็นเรื่องสำคัญจริง เราได้เห็นธนาคารไทยบางแหล่งจับมือกับฟินเทคอย่างจริงจัง จนนำไปสู่นวัตกรรมการให้บริการแบบใหม่ แต่ทั้งหมดนี้ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นของ Fintegration เท่านั้น ยังมีโอกาสอีกมากมายสำหรับธนาคารไทยที่ตั้งใจจะไปสู่ยุคดิจิทัลลอย่างแท้จริง