ภาษีมูลค่าเพิ่ม “VAT” จดหรือไม่จด จึงจะคุ้มที่สุด?

ภาษีมูลค่าเพิ่ม “VAT” จดหรือไม่จด จึงจะคุ้มที่สุด?

ภาษีมูลค่าเพิ่ม “VAT” จดหรือไม่จด จึงจะคุ้มที่สุด?

หัวข้อภาษีที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดในสัปดาห์ที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT นะครับ

VAT เป็นภาษีที่เรียกเก็บ “ผู้บริโภค” จากการซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่จด VAT หรือเรียกว่าเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นในมุมมองของเจ้าของธุรกิจจึงไม่ถือเป็นต้นทุนของการทำธุรกิจ ต่างจากภาษีเงินได้ที่ผู้ได้รับเงินได้จะต้องเป็นผู้รับภาระเอง เพราะ VAT เป็นภาระของผู้บริโภคที่ต้องเป็นผู้จ่าย เพียงแต่ผู้ให้บริการเป็นคนเก็บเพื่อนำส่งสรรพากร ดังนั้นการทำใบเสร็จหรือใบกำกับภาษีควรแยกชัดเจน ว่าเป็นราคาสินค้าเท่าไร VAT เท่าไร และราคารวมทั้งสิ้นที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเป็นเท่าไร เช่น ระบุว่าซื้อสินค้าราคา 100 บาท มี VAT อีก 7 บาท รวมเป็น 107 บาทที่ผู้บริโภคต้องชำระ

ตามกฎหมายจริงๆ แล้ว VAT มีอัตราคงที่อยู่ที่ 10% แต่เพราะรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% และมีการต่ออายุทุกปี เราจึงคุ้นเคยและจ่ายจริงอยู่ที่ 7% กันมาตลอด ทั้งนี้ถ้าจะกล่าวให้ละเอียด อัตรา 7% คิดมาจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม 6.3% + ภาษีท้องถิ่น 0.7% ดังนั้นเวลาเราเห็นตามข่าวทุกปีว่ารัฐบาลออกกฎหมายลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 6.3% จึงไม่ต้องตื่นเต้น เพราะถือเป็นการต่ออายุให้ยังคงลด VAT จาก 10% ให้เหลือ 7% เหมือนเดิมนั่นเอง

สำหรับกิจการที่จด VAT ในแต่ละเดือน จะต้องคำนวณเพื่อนำส่งให้กับกรมสรรพากร โดยนำ VAT ที่จ่ายไปในตอนที่ซื้อวัตถุดิบและบริการต่างๆ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ภาษีซื้อ” นำมาลบกับ “ภาษีขาย” เช่น บริษัทเราจ่าย VAT ที่เกิดจากการซื้อวัตถุดิบอยู่ที่ 7,000 บาท (ภาษีซื้อ) และมี VAT ที่เรียกเก็บจากลูกค้าตอนเราขายของที่ 21,000 บาท (ภาษีขาย) เราต้องนำส่งสรรพากรจำนวน 21,000 - 7,000 = 14,000 บาทตอนสิ้นเดือน แต่ถ้าเดือนไหนมีภาษีซื้ออยู่ที่ 7,000 บาท แต่ขายของได้น้อยและมีภาษีขายเพียง 700 บาท เดือนนั้นก็เก็บ 700 บาทนั้นไว้ได้เลยโดยไม่ต้องนำส่ง และสามารถยื่นขอคืนภาษีได้ 7,000-700 = 6,300 บาทอีกด้วย

การคำนวณเพื่อนำส่งหรือขอคืนต้องคำนวณแบบยกยอดมา ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เดือนแรกขายได้ดีทำให้ภาษีซื้อน้อยกว่าภาษีขายและได้มีการนำส่ง VAT ไปแล้ว 7,000 บาท ต่อมาในเดือนที่สองขายไม่ดีทำให้ภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายอยู่ 21,000 บาท นอกจากจะไม่ต้องนำส่งภาษีขายในเดือนที่สองแล้ว ผลรวมทั้งสองเดือนทำให้ภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายอยู่ที่ 14,000 บาทนั้น เรายังสามารถทำเรื่องขอคืนภาษีจำนวนนี้ได้ ซึ่งกระบวนการขอคืน VAT จะมีขั้นตอนตรวจสอบจากกรมสรรพากรพอสมควร เราจึงมักติดเป็นเครดิตกันไว้ก่อนเผื่อเดือนต่อๆ ไปมีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาดำเนินการทางเอกสารบ่อยๆ

หากเราไม่เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (ไม่ได้จด VAT) จะไม่สามารถขอภาษีซื้อคืนได้ไม่ว่าจะจ่ายไปกับการซื้อวัตถุดิบต่างๆ มากเท่าไรก็ตาม และการเก็บเครดิตจะนับตั้งแต่วันแรกที่บริษัทจด VAT ไม่ใช่วันแรกที่เริ่มกิจการ

กฎหมายกำหนดให้กิจการที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการเกิน 1.8 ล้านต่อปี ไม่ว่าจะทำกิจการในรูปแบบของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ก็ถึงเกณฑ์ที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต้องยื่นจดภายใน 30 วันเมื่อรายได้ถึงเกณฑ์ และชำระ VAT (หรือเริ่มเรียกเก็บจากลูกค้า) สำหรับรายได้ส่วนที่เกิน 1.8 ล้านเป็นต้นไป ทั้งนี้มีประเภทธุรกิจที่ได้รับสิทธิไม่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มเช่น การขายผักผลไม้ พืชผลการเกษตร การขายเนื้อสัตว์ การขายปุ๋ย อาหารสัตว์ การให้บริการขนส่ง บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น (ดูรายการธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นและรายละเอียดทั้งหมดได้จาก http://www.rd.go.th/publish/7052.0.html)

ดังนั้นหากธุรกิจเราไม่ได้อยู่ในรายการที่ได้รับการยกเว้นดังกล่าว และหากเชื่อมั่นว่าธุรกิจเราจะมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 150,000 บาทในอนาคตแน่ๆ (ขอย้ำอีกที รายได้นะครับ ไม่ใช่กำไรหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว!) การจด VAT ตั้งแต่แรกจึงเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุด เพราะสามารถนับเครดิตจากภาษีซื้อได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่อาจยังมีการลงทุนสูงแต่ยอดขายต่ำ เพื่อเป็นเครดิตหักลบกับ VAT ที่เกิดขึ้นในวันที่กิจการเติบโตจนภาษีขายเริ่มมากกว่าภาษีซื้อนั่นเองครับ

หากทางผู้อ่านมีคำถามหรืออยากรู้เรื่องภาษีหรือการเงินหัวข้อใด ที่จะสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจและการเงินส่วนตัวให้ท่านแบบ “ติดลมบน” สามารถส่งหัวข้อผ่านทาง Facebook Message “facebook.com/iTAXThailand” ระบุชื่อคอลัมน์ “ติดลมบน กับ ดร.เรือบิน” โดยหัวข้อที่ได้รับเลือกจะได้รับแก้วน้ำน้องหมู Picco จาก iTAX ส่งไปที่บ้านสนุกๆ กันครับ