การเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พ.ศ.2537 :

การเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พ.ศ.2537 :

ไม่มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

กฎหมายสูงสุดตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ล้วนมีบทบัญญัติหลักการใหญ่ๆ เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้เหมือนกัน 

นั่นคือ “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์...”  

ขณะเดียวกันในธรรมนูญการปกครอง (ชั่วคราว) แม้ไม่ได้มีมาตราที่บัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ แต่ก็มีมาตราที่กำหนดไว้ว่า 

ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย...” 

ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทุกครั้งยาม “เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม” และภายใต้ธรรมนูญการปกครอง (ชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๐๒ ในการเสด็จเยือนต่างประเทศ ๓๑ ครั้งในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๑๑ ก็มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทุกครั้ง 

ดังนั้น การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการฯในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๑๑ จึงเกิดขึ้นในลักษณะของการตีความตาม “ประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย” ในขณะที่การแต่งตั้งผู้สำเร็จฯก่อนหน้านี้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และประเทศต่างๆที่เสด็จเยือนนั้น มีสามประเทศที่จัดได้ว่าเป็นประเทศที่อยู่ใกล้ประเทศไทย นั่นคือ ประเทศเวียดนามใต้ (เสด็จเยือนระหว่างวันที่ ๑๘-๒๑ ธ.ค.2502) สหภาพพม่า (ระหว่างวันที่ ๒-๕ มีนาคม ๒๕๐๓) และสหพันธรัฐมลายา (ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๗ มิ.ย.2505) นอกนั้นเป็นประเทศที่อยู่ห่างไกลทั้งสิ้น 

 การเสด็จเยือนประ เทศเพื่อนบ้านทั้งสามดังกล่าวนั้นเป็นการเสด็จโดยเครื่องบินพระที่นั่ง เช่น ในการเสด็จเยือนประเทศเวียดนามใต้ ทรงเสด็จโดยเครื่องบินพระที่นั่งไปยังสนามบินตัน ซัน ยึด เมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม ในการเสด็จเยือนสหภาพพม่า ทรงเสด็จโดยเครื่องบินพระที่นั่งไปยังสนามบิน มิงกาลาดอน กรุงย่างกุ้ง 

ส่วนการเสด็จเยือนสหพันธรัฐมลายา ผู้เขียนไม่มีข้อมูลว่าพระองค์ท่านทรงเสด็จอย่างไร แต่คาดว่าใน พ.ศ. ๒๕๐๕ น่าจะทรงเสด็จด้วยเครื่องบินพระที่นั่งเช่นกัน หลัง พ.ศ.2511 ระยะเวลา 26 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2537 ทรงเสด็จสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวระหว่างวันที่ ๘-๙ เมษายนฯ ซึ่งการเสด็จดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งมีมาตรา ๑๖ บัญญัติมาตรา ๑๖ ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ กล่าวไว้ว่า 

ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” 

การเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวครั้งนั้น มิได้มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่อย่างใด นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักรที่มิได้มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เพื่อทรงร่วมในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย - ลาว ที่จังหวัดหนองคาย และเพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงานตามโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน - ห้วยซั้ว อันเป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อจัดตั้งต้นแบบของการบูรณาการและเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้แก่ประเทศลาว 

การเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในวันที่ ๘-๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๗ นั้น ทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งผ่านทางจังหวัดหนองคายสู่นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวถือเป็นประเทศที่ใกล้ประเทศไทยที่สุดในสามประเทศเพื่อนบ้านที่ทรงเสด็จเยือน และมีเส้นทางทางรถยนต์ที่เชื่อมต่อกันผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่จังหวัดหนองคาย 

ผู้เขียนสันนิษฐานว่า ในการเสด็จฯครั้งนั้น แม้ว่า “พระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร” จริงๆ แต่ด้วยระยะทางการคมนาคมที่ใกล้และระยะเวลาในการเสด็จเยือนเพียง ๒ วัน อาจทำให้เข้าใจได้ว่าไม่เป็นเงื่อนไขที่พระมหากษัตริย์ “จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้” จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะความในมาตราที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ และก่อนหน้านั้นกำหนดไว้ว่า “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือ (เน้นโดยผู้เขียน) จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์...” 

 การไม่มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ครั้งนั้น จึงอาจทำให้เกิดการตีความเกี่ยวกับเหตุผลในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐธรรมนูญของไทยได้ว่า แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร แต่ถ้ายัง “ทรงบริหารพระราชภาระได้” ก็ไม่จำต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อาจจะถือเป็นกรณีแบบอย่าง (precedent) ในการตีความเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในโอกาสต่อจากนั้น 

แต่อย่างไรก็ตาม ตามเจตนารมณ์ทั่วไปของรัฐธรรมนูญหรือประเพณีการปกครองการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของประเทศที่ปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ผู้เขียนเข้าใจว่า เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร ก็ย่อมอาจกินความได้ว่า “ทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้” 

 ขณะเดียวกัน แม้พระมหากษัตริย์ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร ก็ย่อมมีกรณีที่ “ทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้” เช่น ในกรณีที่ทรงผนวชหรือทรงพระประชวรหรือยังทรงพระเยาว์ และในกรณีที่ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น และถ้าพิจารณาจากที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการตีความถึงเหตุผลความจำเป็นในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า ตกลงแล้ว ในปัจจุบัน ควรจะตีความอย่างไร ? 

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๕๗ (ฉบับที่ ๔) วันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ มีการแก้ไขเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการโดยในมาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา ๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และข้อความที่ให้เพิ่มเติมคือ “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้....”