การเยียวยาเหยื่ออาชญากรรม !

การเยียวยาเหยื่ออาชญากรรม !

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันสังคมไทย มีอาชญากรรมเกิดขึ้นแทบทุกวัน และนอกจากจำนวนของการกระทำผิดอาญาจะมีมากขึ้นแล้ว

ลักษณะการกระทำผิดก็มีความรุนแรง และก่อความเสียหายมากยิ่งขึ้นด้วย สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ รัฐมีภารกิจที่สำคัญประการหนึ่ง ในการรักษาความสงบและความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินให้กับสังคม เมื่อหน้าที่ส่วนนี้ถูกทำให้เสื่อมไป อันเนื่องจากอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ปัญหาจึงมีว่า รัฐควรต้องรับผิดหรือเยียวยาผู้เสียหาย อันเนื่องมาจากการถูกกระทำผิดทางอาญา หรือ “เหยื่อ” จากการก่ออาชญากรรม อย่างไร

จากคำถามดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นที่มาของกฎหมายฉบับหนึ่ง นั่นคือ “พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544” นั่นเอง โดยหลักการและเงื่อนไขของกฎหมายฉบับนี้กำหนดว่า บุคคลที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ต้องได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดทางอาญาของผู้อื่น โดยตนเองมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอาญานั้น ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ หรือถูกกระทำโดยตรงหรือโดยพลาด พูดง่าย ๆ คือผู้เสียหายจะต้องเป็นเหยื่อโดยแท้จริงนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความเสียหายที่ได้รับนั้นอาจเป็นความเสียหายที่เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต หรืออันตรายที่เกิดแก่ร่างกายหรือจิตใจ นอกจากนี้ ความเสียหายจะต้องเกิดจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ระบุไว้แนบท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วย กล่าวคือ ต้องเป็นความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น ข่มขืนกระทำชำเรา อนาจาร ความผิดต่อชีวิตหรือต่อร่างกาย เช่น ถูกทำร้ายไม่ว่าโดยจงใจหรือประมาทเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ความผิดฐานทำให้แท้งลูก การทอดทิ้งเด็ก คนเจ็บป่วย หรือคนชรา เป็นต้น

สำหรับการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในกรณีที่ผู้เสียหายเสียชีวิตนั้น ได้แก่ ค่าตอบแทน ค่าจัดการศพ และค่าเสียหายอื่น ๆ ตามที่จะกำหนด ส่วนกรณีที่ผู้เสียหายไม่ถึงแก่ชีวิตนั้นเงินช่วยเหลือที่จะได้รับ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด ค่าขาดประโยชน์ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ ในจำนวนและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และค่าตอบแทนความเสียหายอื่น ๆ ตามที่จะกำหนด อย่างไรก็ดี การมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือตามกฎหมายฉบับนี้ จะไม่กระทบต่อสิทธิที่ผู้เสียหายพึงได้ตามกฎหมายอื่น ๆ ด้วย

เงื่อนไขในการขอรับความช่วยเหลือจากรัฐนั้น ผู้เสียหายจะต้องเป็นผู้ยื่นด้วยตนเอง หากไม่สามารถยื่นคำขอได้ด้วยตนเองให้ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา หรือบุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นหนังสือจากผู้เสียหายก็สามารถยื่นคำขอแทนได้ โดยให้ยื่นคำขอภายในหนึ่งปีนับจากวันที่ผู้เสียหายได้รู้ถึงการกระทำผิด โดยให้ยื่นคำขอ ณ สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม หรือที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัด หรือสถานีตำรวจทั่วประเทศ

จากเงื่อนไขการช่วยเหลือผู้เสียหายหรือเหยื่อในคดีอาญาตามกฎหมายฉบับนี้ จะเห็นได้ว่าถือเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐได้เข้ามามีส่วนรับผิดชอบอันเนื่องจากการที่รัฐบกพร่องในการปฏิบัติภารกิจในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่เมื่อพิจารณาในเงื่อนไขการปฏิบัติแล้วก็อาจมีหลายประเด็นที่ยังเป็นปัญหาซึ่งจะต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมากด้วย เช่น การคุ้มครองเฉพาะผู้เสียหายจากการกระทำความผิดตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้นจะเป็นการเพียงพอหรือไม่ จำนวนเงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเหมาะสมได้สัดส่วนในความเสียหายที่ได้รับหรือไม่ การขัดแย้งกันในหลักการที่ว่าผู้เสียหายจะเรียกร้องประโยชน์ตามกฎหมายฉบับนี้ได้โดยจะไม่ถูกตัดสิทธิที่พึงได้ตามกฎหมายอื่น ๆ แต่การที่ผู้เสียหายจะได้รับค่าตอบแทน หรือไม่เพียงใดให้คำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำความผิด สภาพความเสียหาย รวมทั้งโอกาสที่ผู้เสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่นด้วย อันจะทำให้ในทางปฏิบัติแล้วการที่ผู้เสียหายจะได้รับประโยชน์ตามกฎหมายนี้แทบจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น นอกจากนี้ เมื่อมีการยื่นคำขอแล้วผู้เสียหายจะได้รับค่าตอบแทนเมื่อใด จะทันต่อความจำเป็นที่จะช่วยเหลือผู้เสียหายหรือไม่ก็ไม่มีการกำหนดไว้ นอกจากนี้ หากภายหลังปรากฏว่าเหตุแห่งการขอรับค่าตอบแทนนั้น ไม่เข้าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดก็ให้คืนค่าตอบแทนภายในสามสิบวัน ซึ่งจะเป็นปัญหามากกับผู้เสียหายที่มีฐานะยากจน เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว เราคงต้องมาสำรวจการบังคับใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า นับแต่ประกาศใช้เราจะได้ประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และได้ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของเราได้มากน้อยเพียงใด และจะมีหนทางแก้ไขปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นอย่างไร เพื่อประโยชน์ในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมสำหรับทุกคน

หมายเหตุ มีข้อสังเกตว่าพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ไม่ได้กำหนดเฉพาะแต่การตอบแทนหรือช่วยเหลือผู้เสียหายแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังบัญญัติครอบคลุมไปถึงจำเลยในคดีอาญาซึ่งถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการและถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ต่อมาภายหลังปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด มีการถอนฟ้องระหว่างการดำเนินคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าไม่ได้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดด้วย ซึ่งถึงแม้จะมีรายละเอียดหรือเงื่อนไขการได้รับเงินช่วยเหลือที่คล้ายกันกับกรณีผู้เสียหายจากคดีอาญา เช่น กรณีที่เสียหายรวมถึงผู้มีสิทธิยื่นเรื่องขอรับค่าทดแทน แต่ก็มีส่วนคล้ายกันเป็นเพียงบางส่วน ไม่อาจพิจารณาศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและประสิทธิภาพที่เกิดจากการใช้กฎหมายรวมไปด้วยกันได้ ดังนั้น หากมีโอกาสผู้เขียนจะได้นำเรื่องการเยียวยาจำเลยในคดีอาญามากล่าวถึงในโอกาสต่อไป

.............................................

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ผจญ คงเมือง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์