ภาพหลังจากเฟดขึ้นดอกเบี้ยคืนนี้...

ภาพหลังจากเฟดขึ้นดอกเบี้ยคืนนี้...

น่าจะถือว่าเป็นครั้งหนึ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐ แบไต๋ว่าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แบบค่อนข้างแน่นอน 98%

 ในบทความนี้ ผมขอสรุปความเห็นของผมเกี่ยวกับภาพ หลังการตัดสินใจของเฟดในคืนนี้ และฟันด์โฟลว์ในรอบนี้ไว้ 5 ประการ ดังนี้

หนึ่ง ผมมองว่าเฟดยุคนี้ไม่มีอิสระในการตัดสินใจแบบเบ็ดเสร็จ เหมือนยุคอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ บารัก โอบามา เพราะปกติเวลาเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะใช้วิจารณญาณของคณะกรรมการทุกท่าน หรือบางครั้งก็มีการใช้เป็นสูตรคณิตศาสตร์ในการเป็นเหตุผลประกอบในการตัดสินใจจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ เข้าใจว่าทีมเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ อยากจะให้เฟดใช้สูตรคณิตศาสตร์มากขึ้น ซึ่งความจริงดังกล่าวสะท้อนมาจาก รองประธานเฟด นายสแตนลีย์ ฟิชเชอร์ ที่พูดเรื่องนี้ถึง 2-3 ครั้งในช่วงเดือนที่แล้ว เรื่องกฎการขึ้นดอกเบี้ยที่ใช้สูตรคณิตศาสตร์ จึงค่อนข้างเชื่อได้ว่าน่าจะมีการแทรกแซงในลักษณะส่งสัญญาณว่าอยากให้เปลี่ยนลักษณะของแนวทางการขึ้นดอกเบี้ยในภาพใหญ่ 

รวมถึงทีมของทรัมป์อยากจะให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย โดยอ้างว่าถ้าเป็นกฎทางคณิตศาสตร์ ต้องขึ้นไปนานแล้ว จึงอาจมองได้ว่าเป็นความกดดันทางอ้อมเล็กน้อยจากนายทรัมป์ต่อเฟด จึงคาดว่าการประชุมเฟดในกลางดึกคืนนี้ โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยสูงมากจนเกือบจะแน่นอนแล้ว

นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทั้งนายบิล ดัดลีย์ ประธานเฟดนิวยอร์ก และนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมดีมาก ทั้งเรื่องดอกเบี้ยที่แท้จริงซึ่งตอนนี้ห่างจากจุดที่เป็นระดับเหมาะสมแค่ 2% อัตราการว่างงานห่างจุดระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาแค่ 0.5% อัตราเงินเฟ้อก็ใกล้ 2% เต็มที ซึ่งนางเยลเลน พูดชัดเจนว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่นอน

สอง นางเยลเลน พูดค่อนข้างชัดว่าปี 2560 จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแน่นอน นั่นก็หมายความว่าในปีนี้จะมีการขยับดอกเบี้ย 2 ครั้งเป็นอย่างต่ำ ดังนั้น ตลาดก็น่าจะประเมินว่าอาจจะ 2-4 ครั้ง อยู่ที่จังหวะว่าจะมีวิกฤตอะไรหรือไม่ แต่โอกาสสูงสุด ผมมองว่าน่าจะอยู่ที่ 3 ครั้ง ทว่าถ้าสมมติว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาน่าจะมีปัญหาเหมือนกัน เพราะตลาดพันธบัตรของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะถ้าดูที่อายุ 10 ปี ถือว่าผลตอบแทนค่อนข้างต่ำประมาณ 2.5% ซึ่งการที่ค่อนข้างต่ำจะทำให้มูลค่าเวลาประเมินมูลค่าหุ้นแต่ละตัวของในตลาดสหรัฐอเมริกาค่อนข้างสูง ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี จะเกิน 3% กว่าแน่ๆ และตรงนี้จะเป็นปัจจัยทำให้ดัชนีหุ้นดาวน์โจนส์ที่ 2หมื่นจุดต้นๆ ค่อนข้างมีปัญหาในการยืนให้อยู่ได้

สาม ธนาคารกลางญี่ปุ่นและยุโรปน่าจะได้ประโยชน์ แทบจะไม่ต้องกระตุ้นอะไรเลย เสมือนว่าดอลลาร์แข็ง แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอย่างน้อย 2 ครั้ง ทำให้แบงก์ชาติญี่ปุ่นเองสามารถอยู่เฉยๆ เยนก็อาจจะอ่อนค่าลง ทำให้ดัชนีนิเคอิขึ้นมาได้ ซึ่งรวมถึงยุโรปด้วย การที่เศรษฐกิจในยุโรปในตอนนี้ที่ดูร้อนแรงขึ้น ถ้าจะกระตุ้นต่อก็เสี่ยงเหมือนกัน เมื่อเฟดมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย ทางอีซีบีก็อาจค่อนข้างโชคดีที่ว่าอาจไม่ต้องลดดอกเบี้ยเพิ่มหรือทำ QE ก็ได้ ตรงนี้ส่งผลให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นหรือยุโรป รวมถึงตลาดเงินญี่ปุ่นกับยุโรปได้อานิสงส์จากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงนโยบายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีแนวโน้มจะกระตุ้นเศรษฐกิจ จากแนวทางการบุกเบิกโครงสร้างพื้นฐาน

สี่ ด้านนโยบายการค้าของนายทรัมป์ ผมคาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อไทยสักเท่าไหร่ จะเห็นว่าจากที่ นายทรัมป์ พูดในสภาคองเกรสล่าสุด นโยบายการค้า นโยบายภาษี และนโยบายโครงสร้างพื้นฐาน จะอยู่ท้ายๆ ซึ่งถือว่าพูดน้อยมากๆ ดังนั้นผมเชื่อว่า ทีมทรัมป์น่าจะยังไม่มีทีมงานที่ชำนาญด้านการค้าจริงๆ ไม่มีกูรูที่เชี่ยวชาญด้านภาษีและโครงสร้างพื้นฐานมากเท่าไหร่นัก ทำให้ไม่กล้าที่จะเผยไต๋ในประเด็นนโยบายการค้า โครงสร้างภาษีการค้ามากนัก

จึงอาจมองได้ว่าลักษณะที่จะมีผลกระทบกับการค้าของไทย ยังใช้เวลาอย่างน้อยอีกปีถึงปีครึ่ง โดยในมุมการค้าของไทยที่จะมีผลจากนโยบายของนายทรัมป์ คงยังจะสามารถหาเวลาปรับตัวได้อีกพักใหญ่ เพราะดูแล้วตอนนี้ถ้าทีมทรัมป์ไม่เรียงลำดับเอาอย่างหนึ่งอย่างใดออกมา นายทรัมป์จะคะแนนตกเรื่อยๆ และเชื่อว่าสิ่งที่จะนำออกมาแรกๆ น่าจะเป็นเรื่องประกันสุขภาพ และจะแตะเรื่องการค้าที่เกี่ยวกับจีนหรือไทยในเป็นปีที่สองหรือสาม ดังนั้น มิติของการค้า การส่งออก การนำเข้า เราอาจจะพอมีเวลาหายใจบ้าง

ห้า ในมุมของฟันด์โฟลว์ ผมเชื่อว่าช่วงไตรมาสสามน่าจะค่อนข้างผันผวนมาก แม้เฟดดูประหนึ่งว่าน่าจะขึ้นดอกเบี้ยเป็นแบบขาเดียว คือขึ้นอย่างเดียว แต่โดยส่วนตัวผมมองว่าจริงๆแล้วไม่ใช่ เชื่อว่าเฟดจะชะงักในช่วงกลางปี คือกระแสฟันด์โฟลว์ในเดือนมีนาคมและเดือนเมษายนจะชัดเจนเมื่อเฟดจึงขึ้นดอกเบี้ย แต่ถ้ามาถึงกลางปีหรือประมาณไตรมาสสาม เชื่อว่าเฟดก็เริ่มไม่แน่ใจว่าจะมีเรื่องอะไรหรือไม่ดักหน้าเหมือนเคย ไม่ว่าจะเป็นจีน อังกฤษหรือยุโรป หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับโดนัลด์ ทรัมป์ เฟดก็อาจจะเริ่มชะงักอีกครั้ง ตามฟอร์มเดิมของเยลเลนครับ