Trumponomics (2) : ทรัมพ์ โลก และเอเชีย

Trumponomics (2) : ทรัมพ์ โลก และเอเชีย

สำหรับผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงนักวิเคราะห์แล้ว อาจกล่าวได้ว่า การวิเคราะห์นโยบายด้านการต่างประเทศ ของรัฐบาลใหม่ของสหรัฐ

ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมพ์ ทำได้ยากยิ่ง เนื่องจากหากติดตามกระแสข่าวต่างประเทศในแต่ละวัน จะเห็นว่าสัญญาณจากรัฐบาลทรัมพ์ดูค่อนข้างสับสน

โดยในช่วงแรกที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ จะเห็นว่าร้อนแรง เหมาะสมกับสโลแกนหลัก “America First” หรือสหรัฐต้องมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งห้ามชาวต่างชาติจาก 7 ประเทศมุสลิมเข้าประเทศ การยกเลิกข้อตกลง TPP และการเตรียมสร้างกำแพงที่ชายแดนเม็กซิโก เป็นต้น

แต่หลังจากท่าทีจากรัฐบาลทรัมพ์ก็ผ่อนคลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับว่าองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ว่ายังสำคัญ การมีท่าทีที่ผ่อนคลายขึ้นกับญี่ปุ่นและจีน รวมถึงการเลือกบุคคลที่เป็นที่ยอมรับในสังคมและวงการทูตมาดำรงตำแหน่งสำคัญด้านการต่างประเทศ เป็นต้น

ดังนั้น คำถามที่สำคัญสำหรับนักวิเคราะห์ด้านการต่างประเทศ รวมถึงด้านเศรษฐกิจที่ต้องเชื่อมโยงปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์คือ แนวนโยบายด้านการต่างประเทศของทรัมพ์ในอนาคตจะเป็นเช่นไร และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเอเชียอย่างไร

นับเป็นความโชคดีของผู้เขียนที่มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนา ของสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) ร่วมกับ Asia Foundation ในหัวข้อเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียในอนาคต ที่ทำให้ผู้เขียนได้มีมุมมองที่ชัดเจนขึ้น ผู้เขียนจึงขอนำเสนอข้อสรุปที่ได้จากการสัมมนา รวมถึงมุมมองที่ผู้เขียนเห็นด้วยและเห็นต่างจากคณะผู้อภิปรายบนเวที

กล่าวโดยสรุป ในเวทีสัมมนาดังกล่าว คณะผู้อภิปรายได้ถกเถียงถึง ประเด็นสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของบทบาทสหรัฐในโลกและเอเชีย

ประเด็นแรก ได้แก่ คำถามที่ว่าทรัมพ์เป็นผู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงการต่างประเทศ (Agent of Change) หรือเป็นแค่เพียง “ราคาคุย” โดย ผู้อภิปรายได้แตกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเชื่อว่าทรัมพ์จะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่การเมืองโลก ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นพรมแดน ที่ทำให้ผู้คนและสินค้าผ่านเข้าออกสหรัฐยากขึ้น การเน้นนโยบาย “อเมริกามาก่อน” โดยคำนึงถึงประโยชน์ของอเมริกาเป็นหลัก และการต่อต้านโลกาภิวัฒน์

กลุ่มที่สองเชื่อว่าในที่สุดแล้ว นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐในยุคทรัมพ์ก็จะคล้ายกับยุคก่อนหน้า เนื่องจากหากพิจารณาท่าทีของทรัมพ์ระยะหลัง ทั้งจากถ้อยแถลงต่อสภาคองเกรสที่ยังยึดมั่นใน “การค้าเสรีและเป็นธรรม” (Free and Fair Trade) ซึ่งไม่ต่างกับรัฐบาลยุคก่อนหน้า และจากการยอมรับบทบาทนาโต้มากขึ้น บ่งชี้ว่าทรัมพ์ “ยืดหยุ่น” และพร้อมปรับตัวเข้ากับกติกาโลกมากขึ้น หลังจากได้รับทราบมุมมองของผู้นำภาคธุรกิจต่าง ๆ

ประเด็นที่สอง ได้แก่ นโยบายของสหรัฐต่อจีน ในประเด็นนี้ คณะผู้อภิปรายเห็นว่า นโยบายการต่างประเทศของโอบามาที่ให้ความสำคัญกับเอเชียและอาเซียนมากขึ้น หรือนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” (Pivot to Asia) นั้นล้มเหลวในการชะลออิทธิพลของจีนในเอเชีย เห็นได้จากการที่จีนสามารถสร้างหมู่เกาะเทียมในทะเลจีนใต้ รวมถึงการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) เพื่อคานอำนาจธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ของสหรัฐ

แต่อาจเป็นไปได้ที่นโยบายของทรัมพ์จะทำให้อิทธิพลของจีนในเอเชียลดลง โดยเป็นไปได้ที่สหรัฐอาจเล่นบทบาทเป็น “ประเทศอำนาจปานกลาง” (Middle Power) ในฐานะตัวกลางที่จะดึงให้ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียรวมกันเป็นพันธมิตรเพื่อคานอำนาจกับจีนและรักษาความสมดุลเชิงอำนาจในเอเชีย

ประเด็นสุดท้าย ได้แก่ บทบาทของสหรัฐในเวทีพหุภาคี ซึ่งในประเด็นนี้คณะผู้อภิปรายยังไม่มีข้อสรุป แต่คาดว่าเป็นไปได้ที่รัฐบาลทรัมพ์จะยืดหยุ่นขึ้นและพร้อมเป็นตัวกลาง (รวมถึงเป็น Middle Power) ในการคานอำนาจในเวทีพหุภาคี เพราะหากไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งทำหน้าที่ดั่ง “สมอ” (Anchor) ในการเป็นผู้นำในเวทีโลกแล้ว อาจเกิด “อุบัติเหตุ” ทางการเมืองโลก เช่น ในกรณีเกาหลีเหนือที่เริ่มส่งสัญญาณแข็งกร้าวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐไม่ทำหน้าที่ “สมอ” ดังกล่าว คณะผู้อภิปรายมองว่าประเทศเอเชียอื่นจะต้องร่วมมือกันเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในภูมิภาคนี้

หลังจากได้ฟังมุมมองของคณะผู้อภิปรายแล้วนั้น ผู้เขียนมีมุมมองต่อบทบาทของแนวนโยบายด้านต่างประเทศของรัฐบาลทรัมพ์ดังนี้

มุมมองแรก นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทรัมพ์จะยึดถือประโยชน์ของสหรัฐเป็นสำคัญ โดยรัฐบาลทรัมพ์จะให้ความสำคัญกับค่านิยมหรือแนวคิดแบบอเมริกัน (เช่น การเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย การยึดถือระบบเศรษฐกิจแบบเสรี) น้อยกว่าผลประโยชน์ ดังนั้น รัฐบาลทรัมพ์จึงน่าจะลดการแทรกแซงในการเมืองภายในประเทศต่าง ๆ และพร้อมจะจับมือกับทุกประเทศที่สามารถให้ประโยชน์กับสหรัฐได้

มุมมองที่สอง ได้แก่ มุมมองต่อจีน เป็นไปได้ที่รัฐบาลทรัมพ์จะยึดหลัก “Frenemy” ซึ่งมาจากคำว่าเพื่อน (Friend) ผสมกับศัตรู (Enemy) โดยในบางมุมอาจร่วมมือกับจีน เช่น กดดันเกาหลีเหนือ แต่ในบางมุมอาจเป็นปฏิปักษ์กับจีน เช่น ด้านการค้า เป็นต้น

มุมมองที่สาม ได้แก่ ประเด็นด้านโลกาภิวัฒน์ด้านเศรษฐกิจ ผู้เขียนเชื่อว่ารัฐบาลทรัมพ์ที่มีมุมมองต่อต้านกระแสโลกาภิวัฒน์และพหุภาคี น่าจะเชื่อในหลักการแบบทวิภาคี หรือการเจรจาแบบสองต่อสอง เพราะสหรัฐจะสามารถใช้อิทธิพลของตนที่เหนือกว่าคู่เจรจากดดันคู่เจรจาให้ทำตามที่ตนต้องการได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทรัมพ์ก็อาจจะสามารถยืดหยุ่นได้ตราบใดที่สหรัฐได้ประโยชน์สูงสุด

โดยหากสหรัฐใช้บทบาท Middle Power และสามารถทำให้ตนเองได้ประโยชน์สูงสุด และคุมเกมได้อย่างเด็ดขาดแล้ว รัฐบาลทรัมพ์ก็น่าจะทำ แต่หากให้ผลที่ไม่แน่นอน หรือมีความเป็นไปได้ว่าจะเสียเปรียบแล้ว รัฐบาลทรัมพ์ก็จะออกจากเกมนั้นและหันไปใช้เวทีทวิภาคีเพื่อกดดันคู่เจรจาแทน

เมื่อภาพเป็นเช่นนี้ แน่นอนว่าความผันผวนในระยะต่อไปจะมีมากขึ้น ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็จะมีมากขึ้น รวมถึงการสั่งสมกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ทั่วโลกก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกและเอเชียในระยะต่อไป

ผู้กำหนดนโยบาย นักธุรกิจ และนักลงทุน โปรดพึงระวัง

...............................................................

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่