ร่วมใจปรับแนวคิด

ร่วมใจปรับแนวคิด

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ร่วมกับ 3 หน่วยงานเอกชน

 ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศ และ สมาคมธนาคารไทย จัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่จดแจ้งเข้าร่วมโครงการทำบัญชีเล่มเดียวต่อกรมสรรพากร เพื่อตอกย้ำถึงข้อดีของการทำบัญชีเล่มเดียว และข้อเสียของผู้ที่ยังไม่ทำบัญชีเล่มเดียวอย่างถูกต้อง

โครงการจัดทำบัญชีเล่มเดียวนั้น กรมสรรพากรได้เปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปีเข้าจดแจ้งเพื่อเข้าร่วมโครงการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี อาทิ ไม่มีการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ได้รับยกเว้นภาษีในปีบัญชี 2559 และปี 2560 หากมีกำไรเกิน 3 แสนบาท ถึง 3 ล้านบาท ก็จะได้รับยกเว้นภาษี แต่หากมีกำไรเกิน 30 ล้านบาท จะได้รับลดหย่อนภาษีเหลือเพียง 10%

ผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจำนวน 4.65 แสนราย คิดเป็นเกือบ 100% สำหรับเอสเอ็มอีนิติบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท แต่สิ่งที่สร้างความกังวลแก่กรมสรรพากรและ 3 สมาคมดังกล่าว คือ เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการ ยังไม่สามารถทำบัญชีเล่มเดียวอย่างถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์โครงการ โดยผู้แทนสมาคมธนาคารระบุว่า มีถึง 60% ของเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ยังไม่สามารถทำบัญชีได้อย่างถูกต้อง ทำให้กรมสรรพากรต้องออกโรงขอความร่วมมือจาก 3 สมาคม เพื่อหาแนวร่วม

ประเด็นกฎเกณฑ์การขอสินเชื่อที่กำหนดให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องใช้บัญชีที่ยื่นต่อกรมสรรพากรเป็นหลักฐาน ในการยื่นขอกู้แบงก์ ถือเป็นกติกาที่บังคับให้เอสเอ็มอีต้องทำบัญชีเล่มเดียว เพราะเงินทุนหมุนเวียนคือหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นอย่างมาก หากไม่สามารถนำบัญชีที่ยื่นต่อกรมสรรพากรไปกู้แบงก์ได้ ก็เท่ากับว่า ขาดโอกาสในการทำธุรกิจ กรมสรรพากร และ 3 สมาคม จึงถือโอกาสนี้ ให้คำแนะนำ เพราะเหลือระยะเวลาปรับตัวแค่ปีกว่าๆเท่านั้น

อธิบดีกรมสรรพากร ประสงค์ พูนธเนศ แจกแจงให้ฟัง โดยแยกกลุ่มที่ยังไม่ยอมทำบัญชีเล่มเดียวว่า มีทั้งกลุ่มคลื่นลูกใหม่ที่อยากทำบัญชีเดียว แต่ยังไม่เริ่ม กลุ่มที่รอให้ถึงต้นปี 2562 ซึ่งเป็นเวลาที่บังคับให้ใช้บัญชียื่นกรมสรรพากรขอเงินกู้จากแบงก์ กลุ่มที่ยังพอใจกับการเสียภาษีในอัตราต่ำ และ กลุ่มที่คิดว่า อย่างไรเสียก็ไม่ยอมทำบัญชีเล่มเดียว โดยหวังจะเคลียร์กับสรรพากรพื้นที่ได้

ขณะที่ ภาคเอกชน โดยสภาหอการค้าไทยร้องขอให้กรมสรรพากรปรับเปลี่ยนแนวคิดในการจัดเก็บภาษี เพราะผู้เสียภาษีนั้น มักจะยังมีความกังวลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ยังมีแนวคิดด้านเดียว คือ การจัดเก็บภาษีให้ได้มากที่สุด และ รวมถึง การเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่ ดังนั้น จึงขอให้กรมสรรพากรปรับเปลี่ยนแนวคิด และ ควรที่จะให้รางวัลต่อผู้กระทำดี

ด้านผู้แทนสมาคมธนาคารไทยแนะให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปรับเปลี่ยนแนวคิดเช่นกัน โดยบอกว่า การแข่งขันทางธุรกิจจะสูงมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีผู้ประกอบการต่างประเทศที่พร้อมเข้ามาแข่งขัน ดังนั้น จึงอยากให้ผู้ประกอบการอย่ามัวเสียเวลากับการคิดหาช่องทางในการเลี่ยงภาษี แต่ควรให้เวลากับการหาช่องทางในการพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้น

ส่วนกรมสรรพากรนั้น อธิบดีกรมสรรพากรรับปากที่จะไม่มีการสอบภาษีย้อนหลัง แต่ต้องทำความเข้าใจว่า การไม่สอบภาษีย้อนหลัง ไม่ใช่การนิรโทษกรรม ดังนั้น รายใดที่ยังมีคดีภาษีกับกรม ก็ยังต้องเดินหน้ากันต่อไป ขณะเดียวกัน ขณะนี้ กรมฯได้ปรับเปลี่ยนชื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบภาษี โดยใช้ชื่อว่า ส่วนแนะนำและตรวจสอบภาษีอากร เพื่อลดความกังวลต่อผู้เสียภาษี และเป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามชื่อดังกล่าว