กรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ : แค่เติมคำในช่องว่าง!

กรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ : แค่เติมคำในช่องว่าง!

มีข่าวคืบหน้าว่า ป.ป.ช. ไทยได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนเรื่อง “สินบนโรลส์-รอยซ์”

 แม้ว่า ป.ป.ช. อังกฤษจะยังไม่ยอมส่งรายละเอียดเพิ่มเติมมาให้

ถูกต้องแล้วครับ... และต้องเร่งเดินเรื่องให้เกิดความกระจ่าง ต่อสาธารณชนไทยด้วย เพราะมีความกังวลว่าจะมีข้ออ้างเรื่อง “อายุความ” และ “ไม่มีหลักฐานเพียงพอ” เพื่อจะให้คนทำผิดลอยนวลต่อไป

ความเชื่อถือและศรัทธาของประชาชน ต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน เป็นหัวใจของการที่จะผลักดันให้การปฏิรูปประเทศชาติ เดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมได้

ประธาน ป.ป.ช. พล...วัชรพล ประสารราชกิจ บอกนักข่าวว่าขณะนี้หลักฐานชัดเจน ทั้งในส่วนของเอกสารและตัวผู้ที่เกี่ยวข้อง กับกรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ ที่โยงไปถึงการบินไทยและ ปตท.

ท่านบอกว่าข้อมูลทั้งหมดที่นำไปสู่การตั้งอนุกรรมการไต่สวน เป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงจากหน่วยงานต่าง ๆ ยังไม่ใช่ข้อมูลที่ส่งตรงมาจาก ... อังกฤษ (Serious Fraud Office หรือ SFO) และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ

แต่ ป.ป.ช. ไทยก็จะเดินหน้าไต่สวนหาคนผิดให้ได้เพราะมีหลักฐานเพียงพอแล้ว

สำนักข่าวบลูมเบิร์กบอกว่าเหตุผลที่ SFO ยังไม่ยอมส่งข้อมูลเรื่องสินบนดังกล่าวให้กับไทย เป็นเพราะกังวลว่าไทยอาจใช้โทษประหารชีวิตต่อผู้ที่ทำผิด ซึ่งจะขัดต่อมาตรา 3 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของยุโรป

สื่อรายงานด้วยว่าอังกฤษและสหรัฐ ได้แจ้งว่าก่อนที่จะมีการแชร์หลักฐาน หรือข้อมูลระหว่างกันต้องการสร้างความมั่นใจก่อน ว่าไทยจะไม่มีการใช้บทลงโทษอาญาขั้นรุนแรงที่อ้างถึง

ความจริงจะเป็นเช่นไรก็ไม่น่าจะทำให้ ป.ป.ช. ไทยชะงักงันในการทำหน้าที่ “ทำความจริงให้ประจักษ์”

รายละเอียดที่ SFO และ DoJ (กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ) เปิดเผยออกมาสู่สาธารณชนในกรณีนี้ ก็น่าจะชัดเจนเพียงพอที่ฝ่ายไทยเราจะเดินหน้าสืบเสาะหาข้อมูล เพื่อนำไปสู่การตั้งข้อกล่าวหากับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเชื่อว่าหากฝ่ายอังกฤษและสหรัฐฯ ไม่ส่งเอกสารทางการที่ระบุชื่อ ว่าใครรับสินบนเท่าไหร่ ณ วันไหนแล้ว ป.ป.ช. ไทยเราจะไม่สามารถทำหน้าที่ในการขุดคุ้ยหาความจริงให้สิ้นสงสัยได้

ใครอ่านข้อมูลที่เปิดเผยจากสองหน่วยงานนี้ก็ร้องอ๋อกันไปทั่วแล้ว เพราะมีทั้งตำแหน่ง วันเวลาและสถานที่ออกจะโจ่งแจ้งเช่นนั้น หากฝ่ายสืบสวนของเราเองไม่สามารถ “เติมคำลงในช่องว่าง” ได้ ก็คงจะเสียความน่าเชื่อถือในฐานะ “มือปราบคอร์รัปชัน” กันไม่น้อยทีเดียว

ข้ออ้างทางการของ SFO และ DoJ ว่าไม่อาจจะแบ่งปันข้อมูลเรื่องนี้ได้ เพราะกลัวว่าฝ่ายไทยจะใช้โทษประหารชีวิต กับผู้กระทำผิดนั้นน่าจะเป็นเรื่องการตีความกฎหมายอย่างระมัดระวังของฝ่ายเขา

แต่นั่นเป็น “จุดยืนทางการ” ที่ฝ่ายเขาต้องการจะใช้แนวทาง “ปลอดภัยไว้ก่อน”

นั่นไม่ได้แปลว่าฝ่ายไต่สวนและสืบสวน จะไม่สามารถควานหาข้อมูลเพิ่มเติมจากช่องทาง “ไม่เป็นทางการ” เพื่อมาเติมเต็มการทำหน้าที่ของฝ่ายเขา

เพราะเป้าหมายของ ป.ป.ช. อังกฤษและกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ย่อมจะต้องมีความสอดคล้องต้องกันประการหนึ่ง นั่นคือการปราบปรามผู้มีพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบไม่ให้ใครเอาเยี่ยงอย่างได้อีก

อีกทั้งคำว่า “ความร่วมมือ” ระหว่างประเทศในทุก ๆ กรณีนั้นย่อมหมายถึงทั้งสองฝ่ายต้องทำเหมือนกัน เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งร้องขอเพื่อช่วยในการสืบเสาะ และติดตามผู้กระทำผิดที่โยงใยไปถึงอีกประเทศหนึ่ง

ได้เวลาที่ไทยเราจะแสดงความเป็นมืออาชีพ ในการปราบปรามคนฉ้อฉลของเราอย่างเต็มภาคภูมิได้แล้วครับ