วัดพุทธพาณิชย์

วัดพุทธพาณิชย์

วัดพุทธคือสถานที่สะอาด โปร่งใส ไร้มลทิน พระสงฆ์ในวัดถือศีลวินัยสงฆ์ 227 ข้อ ศึกษาพระไตรปิฎกให้รู้แจ้งแตกฉานยิ่งขึ้น

 หมั่นฝึกสมาธิภาวนาจิต และเผยแผ่พระธรรมเป็นธรรมทานแก่ฆราวาสเป็นประจำ ยังความเบิกบานใจโดยทั่วกัน

วัดพุทธพาณิชย์คือแหล่งมั่วสุมมลทิน บุคคลไร้ความละอายใจ เรียกตนว่าพระธัมมชโยแห่งวัดพระธรรมกาย ที่มีแต่อาคารวัตถุมหึมานี้ เปรียบได้กับ “หมาป่าในคราบแกะ” ห่มจีวรเจาะจงตบตาผู้คนว่าตนคือพระ ในขณะที่ทำธุรกิจซื้อขายผิดพระธรรมวินัย เกลี้ยกล่อมให้เหยื่อฆราวาส “ซื้อบุญ” ถ่ายเทเงินทองใส่มือตน โดยอ้างพระธรรมอย่างผิดๆ ยังผลให้กระเป๋าเงินทองของเหยื่อเปิดบานตะไทกันทั่ว บัดนี้ รัฐได้ตั้งข้อหาต่อพระปลอมคนนี้ว่า ร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน และรับของโจร ตามที่ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับ ที่ 942/2559 ลงวันที่ 17 พ.ค. 2559 รวมทั้งข้อกล่าวหาในคดีอาญาฐานอื่นอีกมากมาย

พระไชยบูลย์ สุทธิผล (ธัมมชโย) ได้แสดงเจตนาพูดจาหลอกลวงเหยื่อฆราวาสให้หลงไหลงมงาย ซื้อฆ้อนปลอมจากวัดพระธรรมกาย เพื่อให้นำไปทำท่าทุบฆ้อนทำเงินทำทองที่บ้าน หากทำเงินได้จริง โรงพิมพ์ธนบัตร์คงปั้มธนบัตรออกมาไม่ทันพลานุภาพของฆ้อนวิเศษนี้แน่ นับเป็นการพูดจาโกหกละเมิดศีลข้อสี่ห้ามมุสา เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้หลงไหลนิยม “วัตถุเงินทองของนอกกาย” แต่ประการใด

ศาสนาโลกต่างก็ประณามคำมุสาไว้ อาทิ ฮินดู--สรรพสิ่งย่อมเป็นไปตามที่วาจาได้เปร่งไว้ ผู้ใดใช้วาจาอย่างไร้สัจจะ ผู้นั้นย่อมไร้ความซื่อสัตย์ต่อโลก ยิว--เรามิบังควรพูดอย่างหนึ่งแต่ในใจคิดเป็นอีกอย่างหนึ่ง คริสต์--เจ้างูร้าย เจ้าจะพูดดีได้อย่างไรเมื่อเจ้าเป็นคนชั่วร้วย? คนดีย่อมทำดี คนชั่วย่อมทำชั่ว ในวันที่พระผู้เป็นเจ้าทรงพิพากษา เจ้าจะต้องรับผิดชอบและถูกลงโทษอย่างแน่นอนต่อทุกคำมุสาของท่าน อิสลาม--ผู้เสแสร้งหลอกลวงมีนิสัยใจคอสามแบบ คือ พูดเมื่อใดก็โกหกเมื่อนั้น สัญญาเมื่อใดก็ทรยศเมื่อนั้น และได้รับความไว้ใจเมื่อใดก็หักหลังเมื่อนั้น ปรมาจารย์เล่าจื๊อ--อย่าพูดด้วยปากในสิ่งที่หัวใจปฏิเสธ ปราชญ์นักปกครองขงจื๊อ--คนมีวาจาที่เชื่อถือไม่ได้คือคนหาประโยชน์อันใดมิได้โดยสิ้นเชิง เกวียนจะเคลื่อนไปได้อย่างไรหากไม่มีแอกเป็นหลักเทียบวัวให้เดินลาก รถม้าจะเดินไปได้อย่างไรหากไม่มีแอกเป็นหลักเทียบม้าให้วิ่งพาไป พุทธ/มหารัตนคุตสูตร 27--นักมุสาจักโกหกตัวเองตลอดรวมถึงเทวดาฟ้าดินทั้งหลาย คำมุสาคือต้นกำเนิดแห่งความชั่วร้ายทั้งปวง ย่อมนำคนกล่าวมุสาไปสู่ทุคติ ทำลายคำสั่งสอน และทำร้ายสรีระตน พุทธ/พระธรรมบท--ละอายเมื่อไม่ควรละอาย ไม่ละอายเมื่อควรละอาย กลัวเมื่อไม่ควรกลัว ไม่กลัวเมื่อควรกลัว เห็นโทษเมื่อไม่มีโทษ ไม่เห็นโทษเมื่อมีโทษ สัตว์โลกที่เห็นผิดๆเช่นนี้ย่อมไปสู่ทุคติ

ทำไมพระไชยบูลย์จึงได้แปรรูปจากพระปกติเป็นพระนอกรีต?

ดร.อิริค ฟรอม์ม นักจิตวิเคราะห์โด่งดัง ผู้มีความเข้าใจในมนุษย์อย่างยากที่จะหาผู้เทียบเท่า และได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนามาแล้ว กล่าวไว้ว่า มนุษย์มีวิถีชีวิตอยู่สองแนว คือ 1. แนวจิตครอบครองที่มุ่ง “ครอบครอง” โดยใช้สิทธิ์ชอบ/มิชอบในการครอบครอง/กำจัดวัตถุสิ่งของ เงินทอง อำนาจ คู่สมรส บุตร ผู้ป่วย อวิญญูชน เอกสิทธิ์ ภาพลักษณ์ ความเก่งกล้า สุขภาพ ความงาม ศาสนา ปรัชญา อุดมการณ์การเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ รวมทั้งทำสงครามเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เป็นวิถีของสาวกในลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ นิยมเคารพนับถือผู้มั่งมีสินทรัพย์เงินทองราวกับเป็นผู้วิเศษ

2. แนวจิตเป็นอยู่ที่มุ่ง “เป็นอยู่” กับความอยู่ดีมีสุข โดยคิดพูดทำด้วยความรัก (เมตตาจิต) การเสียสละ การแบ่งปัน เสรีภาพ เอกเทศ สติสัมปชัญญะ และอยู่กับปัจจุบันกาล เพื่อเป็นหนึ่งเดียวกันกับโลก เป็นวิถีของสาวกในลัทธิสัตว์ประเสริฐ นิยมศรัทธาในศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาโลกทั้งปวง

พระไชยบูลย์กับสมุนได้เลือกเดินในวิถีแรก หลงไหลครอบครองแต่ “วัตถุเงินทองปัจจัยนอกกาย” ใช้จีวรทำบาปหลอกลวงเหยื่อเพื่อสถาปนาอาณาจักรส่วนตัว แถมแตกกิ่งก้านสาขาไปทั่ว กลายเป็น “พระนอกรีต” แสดงตนเป็นปฏิปักษ์กระด้างกระเดื่องต่อโครงสร้างหน้าที่ของราชการบริหารกิจสงฆ์ บิดเบือน/คัดค้านพระไตรปิฎก ตลอดจนฝ่าฝืนพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นับเป็นอาบัติขั้นปาราชิก

“พระนอกรีต” เหล่านี้คิดแต่ “เงินทองของนอกกาย” อย่างเดียวจนป่วยทางจิต (neurosis) พ่นมุสาวาทเป็นลมหายใจเข้าออก (pathological liar) วิญญาณจิตชำรุดขนาดโงหัวล้านไม่ขึ้น เห็น “ผิดเป็นชอบ” คอยหลบหลีกเงื้อมมือกฎหมาย มีทุกข์กาย/ใจท่วมท้นด้วยอวิชชา ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแจกแจงไว้ถึง 11 ประการ คือ ชาติทุกข์ (ความเกิด) ชราทุกช์ (ความแก่) มรณาทุกข์ (ความตาย) โสกทุกข์ (การสูญเสียญาติมิตรหรือทรัพย์สมบัติ) ปริเทวทุกข์ (การสูญเสียแล้วเพ้อละเมอแบบคนวิกลจริต) ทุกข์ (ทุกขเวทนาตามลำพังผู้เดียว ไร้ญาติขาดมิตร เนื่องมาจากความยากจนเข็ญใจ) โทมนัสทุกข์ (ทุกข์เคืองแค้นแน่นอุรา) อุปายาสทุกข์ (ประสบภัยพิบัติ) อัปปิเยหิสัมปโยคทุกข์ (ขาดปัจจัยที่โปรดปราด/ได้ปัจจัยที่ไม่โปรดปราน) ปิเยหิวิปปโยค (พลัดพรากจากปัจจัยที่โปรดปราน) และยัมปิจฉัง น ลภติทุกข์ (ลงทุนแล้วขาดทุนทางวัตถุปัจจัย/ลาภยศสรรเสริญ) ขอจงอย่าได้ประมาทกับ “พฤติกรรมแบ่งปันทุกข์” ต่อไปของพระน่าเวทนากลุ่มนี้

วิญญาณจิตของบรรดา “พระนอกรีต” ได้กระจายเข้าไปในวัดพุทธหลายแห่งในไทย/ต่างประเทศ และกำลังปรับเปลี่ยนค่านิยมของพระในวัดให้เลือกเดินตามแนววิถีชีวิตแรกแล้ว พระบางรูปได้เลี้ยวเข้าไปสยบอยู่กับ “วัตถุนอกกาย” (ปูพรม ติดแอร์) มี “ความสะดวกสบาย”ในวัดเป็นเรื่องเอก ส่วนหน้าที่รับผิดชอบของพระเป็นเรื่องรอง โดยอ้างว่าเป็นการเชิญชวนฆราวาสให้เข้าวัด เพื่อจะได้มี “จิตศรัทธา” ในพระธรรมภายหลัง ทั้งนี้ สวนทางกับฆราวาสสมัยโบราณที่เรียนรู้พระธรรมจากพระแท้ จนมีจิตศรัทธาขึ้นมา คือ “ตื่นรู้รักษาตัวรอดจากอวิชชา” ก่อนแล้ว จึงช่วยกันเสริมสร้างวัดขึ้นมาภายหลัง

จริงๆแล้ว “พระนอกรีต” เหล่านี้ ได้รับอิทธิพลสำคัญจากฆราวาสผู้นิยมวิถีชีวิตแรก ฆราวาสร่ำรวยเหล่านี้บริจาคเงินบำรุงพระพุทธศาสนาเข้าวัดบ้าง เข้ามือพระบ้าง บางทีมากขนาดนับจำนวนทั้งหมดไม่ทันในวันหนึ่งๆ พระเริ่มเปิดบัญชีส่วนตัวกับธนาคาร “ไวยาวัจกร” ที่ทำหน้าที่จัดการกับเงินบริจาคให้ถูกต้องก็กลายเป็นส่วนเกินในวัด นานวันเข้า พระก็หันไปเอาอย่างฆราวาสดังกล่าวด้วยการเลือกแนววิถีชีวิตแรกที่นิยมวัตถุเงินทองเสียเอง วัดพุทธก็กลายเป็นวัดพุทธพาณิชย์โดยปริยาย จิตวิญญาณที่ยึดถือ “วัตถุเงินทองของนอกกาย” แทนพระธรรมเป็นสรณะ ได้แผ่กระจายไปทั่วเกือบทุกวัด ราวกับมะเร็งที่กำลังเกาะกินพระพุทธศาสนาอยู่อย่างเงียบเชียบ

ฉะนั้น ฆารวาสผู้นิยมวิถีชีวิตแบบสอง (จิตตภาวนา) น่าจะออกมาหน้าที่รับผิดชอบป้องกันแก้ไขมิให้วัดพุทธทั้งปวงต้องถูกมะเร็ง “วัตถุเงินทองนิยม” เกาะกินจนแตกดับกลายเป็นวัดพุทธพาณิชย์อย่างวัดพระธรรมกายต่อไป ส่วนผู้นำฝ่ายบริหารชาติบ้านเมืองน่าจะทำหน้าที่รับผิดชอบ “ร่วมด้วยช่วยกัน” อย่างแข็งขันกับฆราวาส ด้วยการจัดให้มีแผนงานเชิงบูรณาการ เพื่อปฏิรูปฟื้นฟูทุกวัดใกล้บ้าน เปิดโอกาสให้พระพุทธได้ตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดและปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบสงฆ์ต่อไป โดยเฉพาะให้ห้ามเรี่ยไรเงินทองในวัดและห้ามใช้วัดเป็นสถานที่ขายวัตถุปัจจัยนอกกายอย่างเด็ดขาด ปรับปรุงวัดให้เป็นสถานที่เรียนรู้พระธรรมอย่างแท้จริง ส่งเสริมสนับสนุนให้พระได้สนทนาธรรม ฝึกฝนวิธีทำสมาธิ เผยแผ่พระธรรมให้กับฆราวาสทุกวัยเป็นประจำ

นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีปัญญาหลักแหลมนามว่า อีเอฟ ชูมาเชอร์ ผู้ได้รับการฝึกฝนจากมหาวิทยาลับอ๊อกซฝอร์ด อังกฤษ และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐ ได้ศึกษาพระไตรปิฎกแล้ว พบว่า มีพุทธเศรษฐศาสตร์แฝงอยู่ ซึ่งต่างกับเศรษฐศาสตร์ตะวันตกที่มุ่งกระจายรายได้เข้ามือคนร่ำรวยให้ร่ำรวยยิ่งขึ้นและก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ท่านได้แนะนำให้รัฐบาลมีนโยบายที่เน้นการผลิต/บริการที่เกิดจากท้องถิ่นเพื่อผู้คนในท้องถิ่น เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างทนุถนอม การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมพอเพียงกับท้องถิ่น และระบบเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้

อนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็นวิญญาณจิตของพระองค์ที่มุ่งเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองในสังคมเมื่อตรัสว่า “เราไม่เคยเฝ้ามองแต่ในอดีต เราเฝ้ามองอยู่กับปัจจุบันว่า ยังมีอะไรอีกไหมที่เราพึงทำให้เรียบร้อยได้”

มาตรา 44 คือคำตอบว่า เรากำลังทำราชการป้องปราม “พระนอกรีต” ให้พ้นจากแผ่นดินธรรมอยู่ ดังเช่นที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงใช้พระราชอำนาจเผด็จการเพื่อส่วนรวมในการปกปักษ์รักษาพระพุทธศาสนาให้พ้นจากภัยคุกคามโดยศาสนาอื่น แต่ฆราวาสจะต้องออกมาลงมือลงไม้สนับสนุนม. 44 ด้วย เพื่อแสดงว่า ตนไม่ได้นับถือพุทธด้วยปากกับมือเท่านั้น