ฝึกคนให้ตรงงาน จัดการให้ตรงประเด็น

ฝึกคนให้ตรงงาน จัดการให้ตรงประเด็น

ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีทักษะ เป็นปัญหาใหญ่ในหลายประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือประเทศกำลังพัฒนา ตั้งแต่ภาพใหญ่ในระดับมหภาคหรือระดับประเทศ ไล่ลงไปในระดับอุตสาหกรรม จนกระทั่งถึงระดับจุลภาคในแต่ละองค์กร การขาดแคลนแรงงานนี้มีใน 2 ด้านใหญ่ๆคือ ด้านปริมาณ มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ และด้านคุณภาพ ทักษะความสามารถไม่ตรงหรือไม่ถึงระดับที่ต้องการใช้งาน ข้อมูลในประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันมีบัณฑิตจบใหม่จากทุกมหาวิทยาลัยมากกว่า 1 แสนคนต่อปี แต่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 27% ของจำนวนบัณฑิตจบใหม่ เรียกได้ว่าบัณฑิตจบใหม่ตกงานถึง 1 ใน 4 เลยทีเดียว โดยไปทำอาชีพอิสระบ้าง ศึกษาต่อบ้าง รวมถึงไปทำงานที่ไม่ตรงหรือต่ำกว่าวุฒิการศึกษา หลายมหาวิทยาลัยจึงมีนโยบายปรับตัว เน้นเปิดสอนสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญ ยกเลิกหลักสูตรที่ไม่มีผู้เรียน หรือลดการรับนักศึกษาในหลักสูตรที่ไม่ใช่ความต้องการของประเทศ ไม่นับรวมที่บริษัทเอกชนขนาดใหญ่หันมาสร้างสถาบันการศึกษาและผลิตคนป้อนอุตสาหกรรมของตัวเอง นโยบาย Thailand 4.0 จึงต้องอาศัยความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง ผนึกกำลังและทำงานให้สอดประสานกับความต้องการที่แท้จริงของภาคอุตสาหกรรม แน่นอนไม่ได้บอกว่าทุกสาขาจะต้องผลิตเพื่อป้อนภาคธุรกิจอย่างเดียว เพราะการศึกษาในสาขาต่างๆก็ต้องการความหลากหลายในวิชาชีพ แต่กระนั้นการที่เรากำลังจะมุ่งสู่อุตสาหกรรมใหม่ไฮเทคที่มีมูลค่าเพิ่มสูง การพัฒนาทักษะความสามารถใหม่ยิ่งมีความจำเป็น ในประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจคล้ายกับไทยในหลายด้าน อีกทั้งยังมีอุตสาหกรรมสำคัญคล้ายกับไทย ประสบปัญหาด้านแรงงานเช่นเดียวกัน ความไม่สอดคล้องกันระหว่างความต้องการแรงงานภาคอุตสาหการมและทักษะที่คนหางานมีอยู่นั้น ยังคงเป็นปัญหาสำหรับบริษัทต่างๆและเป็นอุปสรรคต่อความพยายามของรัฐบาลอินโดนีเซียในการลดอัตราการว่างงาน บริษัทต่างๆในอินโดนีเซียยังคงพบกับความยุ่งยากในการที่จะสรรหาคนงานที่มีความสามารถตามที่ต้องการ โรซัน พี โรเอสลานิ ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย (KADIN) ได้กล่าวว่า “ถ้าพวกเราไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ มันจะกลายเป็นระเบิดเวลาที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะต้องเผชิญ และพวกเราจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน” ความล้มเหลวของแผนงานการประสานและจับคู่ความต้องการระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมจะก่อให้เกิดความเสียหาย เขายังกล่าวว่า KADIN และกระทรวงกำลังคน ลงนามเห็นชอบร่วมกันที่จะทุ่มเทความพยายามในการปรับปรุงทักษะของคนทำงานผ่านการศึกษาในระดับอาชีวะ แม้ว่าปกติคนงานจะได้รับการฝึกอบรมโดยบริษัทที่รับเข้าทำงานหลังจากผ่านการคัดเลือกแล้วก็ตาม โดยรัฐบาลและภาคธุรกิจจะออกแบบแผนงานต่างๆขึ้นมาร่วมกัน ประกอบด้วย การฝึกอบรม การฝึกงาน และการให้ใบรับรอง แอร์ลังก้า ฮาร์ตาโต้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย ได้เสนอแนะว่าควรใช้แนวทางการพัฒนาทักษะฝีมือทางด้านช่างจากประเทศพัฒนาแล้วอย่างเยอรมันและสวิสเซอร์แลนด์เป็นแบบอย่าง ที่มีการเชื่อมโยงระบบการเรียนการสอนกับกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมจริง เขายังกล่าวว่า “ถ้าเรามองไปที่ประเทศเยอรมันหรือสวิสเซอร์แลนด์ เราจะเห็นว่านักเรียนนักศึกษาวัย 16 ปีจะเริ่มมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมโดยเข้าไปฝึกงานในโรงงานจริง ผลที่ได้รับคือเมื่อถึงอายุ 19 ปี พวกเขาเหล่านั้นจะมีความพร้อมที่จะเข้าสู่การทำงานจริงในทันที” แนวคิดการฝึกอบรมในสถานประกอบการจริงนี้จะช่วยก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก ในระยะยาวบริษัทต่างๆจะมีแรงงานที่มีทักษะความสามารถสูง ยิ่งไปกว่านั้นเขายังได้เรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม เข้ามาร่วมมือพัฒนาแผนงานดังกล่าวในประเทศร่วมกัน โดยปลายปีที่ผ่านมา รัฐมนตรีจาก 5 กระทรวงได้ลงนามในข้อตกลง (MOU) ที่จะร่วมกันปรับปรุงระบบการศึกษาในระดับอาชีวะ ร่วมกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เพื่อที่จะพัฒนาหลักสูตรและจัดให้มีผู้ฝึกสอนเพิ่มเติมให้กับวิทยาลัยอาชีวศึกษา โดยข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวจะมีการติดตามผลและรายงานความก้าวหน้าต่อประธานาธิบดี โจโกวิ วิโดโด้ เพื่อให้แน่ใจว่าวิทยาลัยอาชีวศึกษา จะผลิตนักศึกษาที่มีทักษะการปฎิบัติสอดคล้องกับความต้องการในภาคอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย ยังประกาศแผนฝึกวิชาชีพตามความต้องการ (demand-driven vocational program) ที่เรียกว่า “เชื่อมโยงและจับคู่” หรือ “Link and Match” ในเขตอุตสาหกรรมตะวันออก Mojokerto, East Java เพื่อจัดการกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่ขัดขวางการพัฒนาอุตสาหกรรม แผนงานดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้กระทรวงและผู้บริหารเขตพื้นที่ตะวันออกทำการเชื่อมโยงหรือประสานวิทยาลัยอาชีวศึกษา (SMK) ที่มีอยู่ 219 แห่งเข้ากับองค์กรธุรกิจ 49 บริษัทในเขตพื้นที่นั้น อาทิ ผู้สร้างทางรถไฟ PT INKA บริษัทหล่อโลหะ PT Barata Indonesia และบริษัทต่อเรือ PT Pal Indonesia เป็นต้น บริษัทเหล่านั้นได้ให้คำมั่นที่จะรับผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมในแผนงานดังกล่าวเข้าทำงาน นอกเหนือจากการเชื่อมโยงวิทยาลัยอาชีวศึกษาเข้ากับบริษัทผู้ใช้แรงงานแล้ว ยังวางแผนปรับปรุงวิธีการสอนและหัวข้อวิชาที่สอนในโรงเรียนเพื่อปรับปรุงคุณภาพของกำลังแรงงาน ตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งประธานาธิบดีเลขที่ 9/2016 เกี่ยวกับการพลิกฟื้นวิทยาลัยอาชีวศึกษา (SMK revitalization) ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียจะประกาศแผนงานในลักษณะเดียวกันนี้ในเขตพื้นที่อื่นด้วย อาทิ เขตตะวันตก West Java เขตภาคกลาง Central Java เขตยอคยากาต้า เขต DKI Jakarta และ Banten เพื่อเป็นช่องทางในการพัฒนาผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมให้ได้ 1 ล้านคนในปี 2019 สำหรับประเทศไทยเองก็มีนโยบายและมาตรการคล้ายกันนี้ และกำลังจะดำเนินการโครงการใหม่ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor ที่จะดึงเม็ดเงินลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลคาดหวังอย่างมากให้เกิดขึ้น