จะปฏิรูปประเทศได้ ต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง

จะปฏิรูปประเทศได้ ต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง

ระบบเศรษฐกิจไทยเป็น ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบกึ่งผูกขาด ที่พึ่งพาทุนข้ามชาติสูง

 ใช้วิธีสั่งเข้าทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามา โดยไม่จำเป็นต้องพัฒนาคนไทยให้คิดเป็น ทำเป็น มากนัก (แค่เป็นแรงงานรับใช้ระบบทุนได้) และระบบการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นเสรีประชาธิปไตยด้วย ระบบการศึกษาสมัยใหม่ช่วยให้คนไทย ที่มีโอกาสได้รับการศึกษามีความรู้และทักษะ ไปทำงานรับใช้ระบบเศรษฐกิจทุนได้จำนวนหนึ่ง แต่การจัดการศึกษาที่จารีตนิยมล้าหลัง ไม่ได้พัฒนาคนไทยให้คิดวิเคราะห์เป็น เป็นตัวของตัวเอง ตามแนวคิดเสรีนิยม ดังนั้นถึงจะมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในระดับหนึ่ง แต่วัฒนธรรมทางการเมืองแบบอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์ยังคงดำรงอยู่

การพัฒนาระบบแบบทุนนิยมพึ่งพาทุนต่างชาติของไทย ยังสามารถปรับตัวไปได้ในอีกแนวหนึ่งคือ ผนวกวัฒนธรรมระบบอำนาจนิยมระบบอุปถัมภ์ ของยุคศักดินาเข้าไปกับระบบทุนนิยมกึ่งผูกขาด ชนชั้นที่ปกครองเก่งในการใช้ส่วนผสมของทั้งสองระบบ เอาเปรียบประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติได้เพิ่มขึ้น

การพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารทุนข้ามชาติแนวนี้ผลิตสินค้าและบริการได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ล้างผลาญทรัพยากร เอาเปรียบแรงงานและผู้บริโภค ทำให้คนส่วนน้อยรวยขึ้น แต่คนส่วนใหญ่มีระดับรายได้ต่ำ(และปานกลาง )ได้รับการศึกษาข้อมูลข่าวสารต่ำ สร้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ในหมู่ประชาชนเพิ่มขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่มีโอกาสพัฒนาความรู้ ความเข้าใจทางสังคมและการเมืองได้น้อย ถูกครอบงำให้เชื่อถือยกย่องชนชั้นนำที่มีความรู้ ความมั่งคั่ง อำนาจ ฯลฯ มากกว่า

ความเหลื่อมล้ำทางฐานะเศรษฐกิจในหมู่ประชาชน ได้รับการยืนยันด้วยข้อมูลจาก สำนักสถิติแห่งชาติ จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2529 และ 2554 มีประเด็นที่น่าสนใจพอสรุปได้ คือ

  1. ช่องว่างระหว่างคนรวยที่สุดและจนที่สุด ในรอบ 3 ทศวรรษ (2529-2554) ไม่ได้แคบลง แต่กลับกว้างขึ้นอีก ครอบครัวคนกลุ่มรวยที่สุด 10% แรก เคยมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าครอบครัวกลุ่มที่จนที่สุด 10% หลัง 20 เท่าในปี 2529 พอผ่านมาถึงปี 2554 ความแตกต่างนี้ยังเพิ่มเป็น 21 เท่า (คนรวยที่สุดมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 90,048 บาท จนที่สุดมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 4,266 บาท)
  2. ทรัพย์สินกระจุกตัวอยู่กับครอบครัวคนรวยเป็นสัดส่วนสูงมากและสูงกว่าการกระจุกตัวของรายได้ด้วย กลุ่มที่รวยที่สุด 10 % แรกมีทรัพย์สิน 57% ที่ดิน 60% และเงินฝากธนาคาร 93% ของคนทั้งประเทศ (ในแง่มีรายได้คนรวย 10% แรกมีรายได้เป็นสัดส่วน 38% ของรายได้คนทั้งประเทศ ขณะที่ครอบครัวที่จนที่สุด 10% สุดท้าย มีสัดส่วนรายได้เพียง 2%)
  3. ไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง (คนรวยส่วนน้อยรวยต่างจากคนส่วนใหญ่มาก) อยู่ในอันดับท้ายๆ ของโลก คืออันดับ 162 จาก 174 ประเทศทั่วโลก

นอกจากคนส่วนใหญ่จะยากจนโดยเปรียบเทียบแล้ว พวกเขายังได้รับการศึกษา ข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพต่ำ มีฐานะทางสังคม มีการรวมกลุ่มสร้างอำนาจต่อรองได้ต่ำ การเลือกตั้งสส. จึงมักจะมีการซื้อเสียงขายเสียง ใช้อำนาจ ระบบอุปภัมถ์ และการหาเสียงแบบประชานิยม ฯลฯ

คนไทยส่วนใหญ่มองประชาธิปไตยแค่เรื่องเลือกผู้แทนให้คนได้เสียงข้างมากไปเป็นรัฐบาล ไม่ได้เข้าใจว่าประชาธิปไตยหมายถึงระบบการปกครองเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งประชาชนในฐานะพลเมืองผู้เสียภาษี และเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ต้องมีสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น สิทธิเสรีภาพในการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันอย่างทั่วถึงเป็นธรรม สิทธิที่จะได้ที่ทำกินและงานที่ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม สนองความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นได้ สิทธิในการตั้งสหภาพแรงงาน สมาคมชีพกลุ่มต่างๆฯลฯ

พลเมืองไม่ใช่มีสิทธิแค่เลือกตั้งผู้แทน แต่จะต้องมีการปฏิรูปในเชิงโครงทางเศรษฐกิจและสังคม ให้เกิดความเป็นธรรมและประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง ต้องปฏิรูประบบโครงสร้าง การเป็นเจ้าของผู้ควบคุมปัจจัยการผลิต และการจัดจำหน่าย เช่น ที่ดิน ทุน ฯลฯ ประชาชนมีสิทธิและโอกาสในการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มีงานได้ผลตอบแทนอย่างเป็นธรรม มีทรัพย์สินรายได้สูงขึ้นอย่างเสมอภาคเป็นธรรมเพิ่มขึ้น เมื่อประชาชนมีความรู้และรายได้แบบพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น พวกเขาจะรู้จักเลือกผู้แทนได้ดีขึ้น และรู้จักการรวมกลุ่มกันสร้างอำนาจต่อรอง ผลักดันให้รัฐบาลและสภาผู้แทนประชาชน ดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศที่เอื้อประโยชน์คนส่วนใหญ่ได้มากขึ้น

ประชาชนที่มีรายได้ มีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเจริญเติบโตขึ้น จากการซื้อขายกันเองในประเทศ ทำให้คนมีงานทำ มีรายได้และอำนาจซื้อเพิ่ม ตลาดและเศรษฐกิจในประเทศจะขยายตัว ลดการพึ่งพาทุนและการค้ากับต่างชาติที่ทำให้ไทยเสียเปรียบมากลงมาได้ เป็นเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองในระดับประเทศได้สูงขึ้น และควรจะระมัดระวังเรื่องการลดการทำลายระบบนิเวศได้ดีขึ้น

การจะปฏิรูปเศรษฐกิจได้ จะต้องปฏิรูปทางสังคมการศึกษา และวัฒนธรรมทางความคิดของประชาชนควบคู่ไปด้วย เช่น การปฏิรูปวิธีการเลี้ยงดู ฝึกอบรมเด็ก การปฏิรูปทางการศึกษา สื่อมวลชน การปฏิรูปวัฒนธรรมทางการเมือง วัฒนธรรมทางความคิดของประชาชน เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่รักการอ่าน การใฝ่รู้ การตั้งข้อสงสัย ตั้งคำถามเป็นคิดอย่างมีเหตุผล เป็นพลเมืองที่ฉลาด เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจการเมืองสังคม อย่างวิพากษ์มากขึ้น มีจิตสำนึกทางสังคม รู้เรื่องสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองที่รับผิดชอบ รู้จักการรวมกลุ่ม เพื่อทำให้ตนเองเข้มแข็งและสร้างอำนาจต่อรองทางสังคมเพิ่มขึ้น การปฏิรูปประเทศจะเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนฉลาด และสามารถผลักดันให้ชนชั้นนำ ต้องร่วมมือที่จะช่วยสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรม เพื่อการพัฒนาสังคมที่เน้นคุณภาพชีวิตของพลเมือง อย่างยั่งยืน มากกว่าการเพิ่มอัตราการเติบโตของสินค้าและบริการ ที่สร้างความร่ำรวยให้คนส่วนน้อย แต่สร้างปัญหาให้คนส่วนใหญ่