ไอซ์แลนด์ (2)

ไอซ์แลนด์ (2)

ไอซ์แลนด์ (2)

สัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันเขียนถึงข้อมูลพื้นฐานของประเทศที่คนไทยนิยมไปเที่ยวกันมากในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา คือ ประเทศไอซ์แลนด์ สัปดาห์นี้จะขอเขียนต่อถึงเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ค่ะ

เศรษฐกิจไอซ์แลนด์ค่อนข้างดี เพราะคนขยัน และรักประเทศ มีในช่วงปี 2551 (ค.ศ.2008) ที่เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินในซีกโลกตะวันตกเท่านั้นที่เศรษฐกิจอ่อนแอไปเล็กน้อย เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านั้นกู้ยืมเงินต่างประเทศมากเกินไป 

แต่เดิม เศรษฐกิจของไอซ์แลนด์มาจากการส่งออกสินค้าประมง คือปลาต่างๆ ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นสินค้าหลักอยู่ แต่ในช่วงหลังวิกฤตการณ์ปี 2551 ภาคบริการได้ขึ้นมาแซงหน้าแล้ว โดยภาคบริการมีสัดส่วนถึง 73.7% ของจีดีพี ภาคอุตสาหกรรม 20.4% และภาคเกษตร 5.9%

หลังเกิดวิกฤติในปี 2551 ไอซ์แลนด์ต้องลดค่าเงินไอซแลนดิชโครน (ISK) และธนาคารขนาดใหญ่ที่สุด 3 แห่งต้องล้มไป ไอซ์แลนด์ต้องกู้เงินจาก IMF และจากประเทศอื่นๆ เพื่อเรียกความมั่นใจกลับมายังสกุลเงินของตนและภาคการเงินในประเทศ มีการตั้งธนาคารใหม่ขึ้นมาสามแห่งเพื่อรับโอนทรัพย์สินจากธนาคารที่ล้มไป และสองในสามแห่งปัจจุบันมีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งรัฐตั้งใจจะแปรรูปธนาคารทั้งสองแห่งนี้ในอนาคต

อ่านแล้วคล้ายประเทศไทยในปี 2539-2542 เหมือนกันนะคะ

เนื่องจากไอซ์แลนด์มีพลังงานเหลือเฟือ จึงไม่เคยนำเข้าพลังงานเลย มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังความร้อนใต้พิภพ และยังนำความร้อนนี้มาสร้างแหล่งท่องเที่ยวด้านสปา โดยเปิดเป็นบ่อน้ำร้อนที่มีน้ำเค็มและไอน้ำที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ ให้คนไปลงแช่เล่น ใช้ชื่อว่า “บลูลากูน” สร้างรายได้ให้กับรัฐได้มากพอสมควร เพราะถือเป็นหนึ่งในสถานที่ที่นักท่องเที่ยว “ต้องไป” บริเวณรอบโรงไฟฟ้าและสปาแห่งนี้ มีบรรยากาศเสมือนไปท่องโลกในนิยายวิทยาศาสตร์เลยค่ะ

สินค้าของสปามีขายบนเครื่องของสายการบินไอซ์แลนด์แอร์ด้วย และขายแพง ทำให้ดิฉันอยากเห็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร “อภัยภูเบศร” ได้บรรจุอยู่ในหีบห่อสวยขึ้นไปขายแพงๆ บนเครื่องการบินไทยจริงๆ ค่ะ

พลังงานที่เหลือเฟือนี้ ทำให้ค่าไฟฟ้าของไอซ์แลนด์ถูกกว่าของไทย และมีอาชีพใหม่เกิดขึ้น คือการรับจ้างถลุงแร่อลูมินั่ม โดยขนแร่อลูมินั่มมาจากอังกฤษ ถลุงด้วยไฟฟ้าของไอซ์แลนด์ แล้วส่งแร่ที่ถลุงเสร็จกลับไปอังกฤษ ค่าขนส่งรวมค่าถลุงแล้ว ยังถูกกว่าถลุงที่อังกฤษค่ะ

การโทรคมนาคมของประเทศนี้ดีมาก เนื่องจากภูมิอากาศในฤดูหนาวค่อนข้างโหดร้าย และภัยธรรมชาติค่อนข้างรุนแรง การสื่อสาร และการพยากรณ์อากาศจึงต้องฉับไวและแม่นยำ อินเทอร์เน็ตของโรงแรมที่ดิฉันไปพักเร็วและแรงทุกแห่งค่ะ ประเทศไอซ์แลนด์มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 98.2% ของจำนวนประชากร

รายได้หลักของรัฐบาลมาจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาค่ะ แต่เดิมก่อนเกิดวิกฤติในปี อัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 35.7% หลังจากวิกฤติ รัฐได้ขึ้นอัตราภาษีสูงสุดเป็น 45.2% ในปี 2552 และขึ้นมาจนถึงอัตรา46.3%ในปัจจุบัน โดยหากรายได้ไม่เกิน 309,140 โครน จะเสียภาษีในอัตรา 37.3% ส่วนที่ไม่เกิน 527,264 โครน เสียในอัตรา 39.74% และส่วนที่เหลือเสียในอัตรา 46.3%

สำหรับอัตราภาษีเงินได้ของภาคธุรกิจต่ำกว่า คือบริษัทจำกัด เสียภาษีเงินได้ในอัตรา 20% และภาษีมูลค่าเพิ่มมีอัตรา 24% ยกเว้นสินค้าและบริการบางประเภท คือ อาหาร โรงแรม หนังสือ และหนังสือพิมพ์ พลังงานความร้อน ไฟฟ้า และเชื้อเพลิง เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 11% 

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐสวัสดิการดีมากคือ ภาษีประกันสังคมสูงค่ะ รวม 11.35% โดยหักจากพนักงานในอัตรา 4% และบริษัทสมทบในอัตรา 7.35% เรียกว่าค่อนข้างสูงมาก

พูดถึงสังคมที่ใช้เงินสดน้อย ดิฉันว่าไอซ์แลนด์น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี ดิฉันสันนิษฐานว่าเนื่องจากประชากรมีการศึกษาสูง ไปเที่ยว 5 วันดิฉันจ่ายเป็นบัตรเครดิตเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าขนมขบเคี้ยวที่ซื้อระหว่างทาง ค่าของฝาก ค่าอาหาร หรือการซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ไกด์บอกว่า ซื้อเท่าไหร่ก็ใช้บัตรเครดิตได้ บางคนยังจ่ายค่าเข้าห้องน้ำ 60 บาท ด้วยบัตรเครดิต

นอกจากจะสามารถจ่ายทุกอย่างด้วยบัตรเครดิตแล้ว ที่นี่ยังใช้พนักงานบริการน้อยมาก สิ่งที่ต้องช่วยตัวเองมีมากมาย เช่น ยกกระเป๋าเอง เติมน้ำมันเอง และการเช็คอินเองที่สนามบิน ถือเป็นเรื่องปกติในโลกตะวันตก แต่ที่ไอซ์แลนด์ ต้องติดแทคกระเป๋าเดินทางเอง และยกกระเป๋าไปที่เครื่องชั่งน้ำหนักเพื่อชั่งและยิงอ่านบาร์โค้ดเองด้วย เรียกได้ว่าต้องบริการตนเองทุกขั้นตอน เพราะคนของเขาน้อย คิดดูสิคะ คนสามแสนสามหมื่นกว่าคน บริการนักท่องเที่ยวปีละ 1.6 ล้านคน ถ้าเปรียบเทียบก็เสมือน เมืองไทยมีคน 67 ล้านคน บริการนักท่องเที่ยว 320 ล้านคน นั่นเอง!!!

ประสบการณ์นี้ทำให้ได้คิดว่า จะเป็นสังคมที่ใช้เทคโนโลยีมาแทนคน และเป็นสังคมไม่ใช้เงินสดอย่างที่รัฐอยากจะเห็น ต้องให้การศึกษากับประชาชนก่อน มิฉะนั้น คนไม่รู้จะถูกเอาเปรียบ หรือกลายเป็นผู้ด้อยโอกาสมากขึ้นในสังคม ของสวีเดนที่ว่าจะเป็นสังคมปลอดเงินสด หรือ cashless society นั้น ท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำสวีเดนให้ความรู้ว่า เขาแจ้งว่าคงอีกระยะหนึ่ง ยังไม่ใช่ในเร็ววันนี้ เพราะกลุ่มผู้สูงวัย ผู้พิการ ยังไม่พร้อม การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการใช้จ่ายแบบดิจิทัลจึงเป็นเพียงการเพิ่มทางเลือกให้คนสวีเดนเท่านั้น และการเปลี่ยนแปลงต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปค่ะ