ราชบัลลังก์ดอกเบญจมาศกับสังคมไทย

ราชบัลลังก์ดอกเบญจมาศกับสังคมไทย

สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ แห่งประเทศญี่ปุ่น เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางพวงมาลา

 ถวายราชสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และทรงสดับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายความอาลัย พร้อมทั้งลงพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยในสมุดแสดงความเสียพระราชหฤทัย ณ อาคารสำนัก ราชเลขาธิการ ( กรุงเทพธุรกิจ ๕ มีนาคม ๒๕๖๐ )

การที่สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดิทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จมาประเทศไทย ทั้งๆที่พระองค์ทรงมีพระชนมมายุและกล่าวได้ว่าทรงตรากตรำเดินทางมานั่น ย่อมไม่ใช่เพียงเรื่องของกระบวนการทางการฑูตหรือการต่างประเทศเท่านั้น หากแต่ความรู้สึกที่ทรงผูกพันกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระราชวงศ์มาเป็นเวลาเนิ่นนานต่างหาก ที่ทำให้พระองค์ท่านเสด็จมาประเทศไทย ภาพที่สมเด็จทั้งสองพระองค์ทรงถวายราชสักการะพระบรมศพ ด้วยการโค้งคำนับเป็นเวลานาน จึงไม่ใช่เพียงสิ่งที่ทรงทำในพระราชพิธีเท่านั้น

ข่าวสำคัญนี้จึงไม่ใช่เป็นเรื่องชวนปลาบปลื้มสำหรับสังคมไทย ที่พระจักรพรรดิ์และสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมาประเทศไทยเท่านั้น แต่ในความรู้สึกของคนไทยแล้ว ผมอยากจะเดาว่าคนไทยรู้สึกอย่างมากในความหมายของ “ พระสหาย/มิตรไมตรี/เพื่อน ” ระหว่างพระองค์ท่าน

นอกจากความสัมพันธ์ในระดับเบื้องสูงแล้ว ผมคิดว่าประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องอารมณ์ความรู้สึกเชิงสังคม ของผู้คนทั้งสองประเทศที่มีต่อกันก็สำคัญไม่น้อย

กล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น มีลักษณะพิเศษมาเนิ่นนาน เอกสารการศึกษาความสัมพันธ์ไทย/ญี่ปุ่นหกร้อยปีที่เขียนโดยอาจารย์อิชิอิ โยเนโอะ และ โยชิกาวะ โทชิฮาระ (Yoneo Ishii, Toshiharu Yoshikawa) ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ยาวนานและซับซ้อน

เอกสารบันทึกซึ่งต่อมาพิมพ์เป็นหนังสือเรื่อง “ผู้บัญชาการชาวพุทธ ความทรงจำของนายพลนากามูระเกี่ยวกับเมืองไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา” แปลโดยอาจารย์เออิจิ มูราชิมา มหาวิทยาลัยวาเซดะกับอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ (ขณะนั้น ) ได้แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของนายพลชาวญี่ปุ่นที่ได้รับคำสั่งให้มาบัญชาการกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งท่านย่อมได้รับรู้ความหมายที่สังคมญี่ปุ่นมีต่อประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง ดังที่ท่านได้บันทึกถึงเจตนารมณ์ในการวางตัวในการทำงานในประเทศไทยตั้งแต่แรก

ในด้านคนไทยเอง ผมโชคดีได้ค้นพบบทความของคุณกฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ เขียนเรื่อง “ความทรงจำของนายพลนากามูระ – ความทรงจำของข้าพเจ้า” ในเวป www.openworld.in.th ซึ่งเป็นบทการอ่านและรีวิวหนังสือของนายพลนากามูระไว้อย่างน่าสนใจ คุณกฤตภาศได้ทาบประสบการณ์ของท่านกับความรู้สึกที่ได้รับ จากหนังสือเล่มดังกล่าว และท่านได้ยกความที่แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกที่ดีที่คนไทย มีต่อทหารญี่ปุ่นแม้ในยามที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามไปแล้ว การเชื่อมต่ออารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ คุณกฤตภาศสรุปความไว้ประโยคหนึ่งว่า“ประวัติศาสตร์และชีวิตผู้คนนั้นไม่เคยแยกขาดจากกันเลย”

เอกสารการค้นคว้าที่ดีเยี่ยม (เพิ่มเติมจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก) ของพันโท ดร.สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ เรื่อง “ตำนานใหม่ของขบวนการเสรีไทย : เรื่องราวการต่อสู้เพื่อเอกราช สันติภาพ และประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” ได้ชี้ให้เห็นถึงการต่อสู้ทางการเมืองภายในของสังคมไทยในช่วงสงครามโลก และการจัดวางความสัมพันธ์กับกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งการศึกษาฉบับนี้เห็นได้ชัดเจนว่ากองทัพญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยนั้น แตกต่างไปจากที่อยู่ในประเทศใกล้เคียงไทย เพราะกองทัพญี่ปุ่นบีฑาต่อคนไทยน้อยมากกว่ามาก

ความนิยมที่ผู้คนในสังคมไทยมีต่อวรรณกรรมเรื่อง “ คู่กรรม” ของคุณทมยันตีอาจจะไม่ใช่แค่ซาบซึ้งกับความรักข้ามพรมแดนชาติอย่างเดียว หากแต่มีรากฐานมาจากอารมณ์ความรู้สึกที่สังคมไทยมีต่อญี่ปุ่นที่เป็น “มิตร” และแสดงออกในเรื่อง “ความรัก” ของหนุ่มสาว

หากมองไปในอีกด้านหนึ่ง การรับรู้ของคนญี่ปุ่นที่มีต่อประเทศไทยโดยทั่วไปก็มีนัยยะของการให้คุณค่าในแง่บวก ประสบการณ์ส่วนตัวของผมพบว่าชาวบ้านญี่ปุ่นทั่วไปจะรับรู้ถึงความจงรักภักดีของยะมะดะ นะงะมะซะ หรือ ออกญาเสนาภิมุข ในสมัยราชอาณาจักรอยุธยา พร้อมกันนั้น ก็มักจะเน้นลักษณะพิเศษร่วมกันของสองประเทศ อันได้แก่การไม่ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกในช่วงก่อนสงครามโลก

ระบอบอารมณ์ความรู้สึกของทั้งสองสังคมที่มีต่อกันเช่นนี้ น่าจะเป็นฐานหนึ่งของการตัดสินใจเคลื่อนย้าย การผลิตของทุนญี่ปุ่นหลัง 1970 และดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้

ผมใช้คำว่า " ราชบัลลังก์ดอกเบญจมาศ (Chrysanthemum Throne) ซึ่งเป็นคำที่มีผู้ใช้แทนสถาบันพระจักรพรรดิ์ของประเทศญี่ปุ่น มาประกอบกับ “สังคมไทย” เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ในระดับนามธรรม ระหว่างสองประเทศนี้มีความหมายอย่างลึกซึ้งแฝงฝังอยู่

ขอทรงพระเจริญ