'หาหุ้น' กับ...อาจารย์กวี

'หาหุ้น' กับ...อาจารย์กวี

เมื่อวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชมรมนักศึกษาการลงทุน CSI วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

 ได้จัดงาน “CSI Fun ครั้งที่ 1” ขึ้น เพื่อร่วมกันทำกิจกรรม “หาหุ้น” โดยมีนักศึกษา CSI ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการ ผู้บริหาร และนักลงทุนมากกว่า 200 ชีวิตมาร่วมงาน

ในการสังสรรค์และร่วมกันทำกิจกรรมครั้งแรกนี้ พวกเราโชคดีมาก เพราะในครั้งนี้ท่านอาจารย์กวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการของบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย ได้ให้เกียรติมาเป็นวิทยากร และแนะนำเทคนิคในการ “หาหุ้น” โดยเริ่มจาก “หลักการลงทุนสำหรับ...นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor)” ซึ่งผมเองรู้สึกว่ามีประโยชน์มาก จึงอยากเล่าให้คุณผู้อ่านได้อ่านกัน ดังนี้ครับ

หนึ่ง เลือกบริษัทพื้นฐานดี

อาจารย์กวีได้กล่าวถึง การคัดเลือกบริษัทดีผ่าน Five Forces Model ซึ่งเป็นโมเดลที่สร้างขึ้นโดย ศาสตราจารย์ไมเคิล พอร์ตเตอร์ โดยโมเดลดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องปัจจัย 5 ประการคือ

คู่แข่งที่จะเข้าใหม่

ผู้ขายวัตถุดิบและแรงงาน

ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ

สินค้าหรือบริการทดแทน

คู่แข่งขันระหว่างกิจการในอุตสาหกรรมเดียวกัน

อาจารย์กวีได้ยกตัวอย่างบริษัท CPALL ที่เป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ในเมืองไทยว่า เป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรม ทำให้มีอำนาจต่อรองกับผู้ขายวัตถุดิบอย่างมหาศาล การตั้งราคาคงที่ก็ทำให้ผู้ซื้อสินค้าไม่สามารถต่อรองราคาได้ คู่แข่งรายใหม่เข้ามาได้ยากมาก สินค้าทดแทนไม่สามารถทำได้เนื่องจาก ทำเลที่ตั้งที่ดีและจำนวนสาขาที่มีเป็นจำนวนมากมาย และสุดท้ายคือ คู่แข่งขันที่เป็นร้านสะดวกซื้อเหมือนกัน แข่งขันกับเซเว่นได้อย่างยากลำบากมาก

สิ่งที่สะท้อนต่อหุ้นของ CPALLL ก็คือ ราคาหุ้นของ CPALL ทำสถิติสูงสุดใหม่ (New High) อยู่บ่อยครั้งและต่อเนื่องนั่นเอง ดังนั้นโมเดล Five Forces จึงเหมาะอย่างยิ่งในการหาหุ้น

สอง ซื้อเมื่อหุ้นถูก

“มีวิกฤตรออยู่ข้างหน้า อดทนรอ” เป็นคำกล่าวของอาจารย์กวี ซึ่งท่านได้ชี้ให้เห็นถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นมาแล้วจำนวนมากมาย อาทิ วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตด็อทคอม วิกฤตซับไพรม์ และวิกฤตยุโรป เป็นต้น

 

ภาพแสดงแนวโน้มการลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังเกิดวิกฤตเกือบจะทุกครั้ง

อาจารย์กวี ยังชี้ให้เห็นถึงราคาที่เปลี่ยนแปลงไปของหุ้นจากจุดต่ำสุดไปจุดสูงสุด ในภาพด้านล่างเราจะเห็นราคาหุ้นของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จากจุดต่ำสุดในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งไปจุดสูงสุด อัตราผลตอบแทน 12900% ในช่วงวิกฤตซับไพรม์อยู่ที่ 1429% แต่หากถือหุ้นตั้งแต่จุดต่ำสุดในช่วงต้มยำกุ้ง และผ่านช่วงซับไพรม์ และขึ้นไปจุดสูงสุด อัตราผลตอบแทนก็จะสูงถึง 64900% ทีเดียว

สาม อดทนลงทุนระยะยาว

จากตัวเลขอัตราดอกเบี้ยทบต้นต่อปีเป็นระยะเวลายาวนานถึง 30 ปี ของเงินจำนวน 1 ล้านบาท พบว่า

อัตราดอกเบี้ย 2% ผลตอบแทนรวมจะเป็น 1.78 ล้านบาท

อัตราดอกเบี้ย 15% ผลตอบแทนรวมจะเป็น 58 ล้านบาท

อัตราดอกเบี้ย 26% ผลตอบแทนรวมจะเป็น 814 ล้านบาท

จากผลตอบแทนข้างต้น ก็แสดงให้เห็นว่า วิธีการง่ายๆในการที่จะทำให้เงินของเราเองงอกเงยและให้ผลตอบแทนในระดับสูงๆก็คือ การแสวงหาผลตอบแทนที่สูง ในระดับที่ความเสี่ยงที่พอจะรับได้ และลงทุนเป็นระยะเวลายาวนาน

สี่ การกระจายความเสี่ยง

การลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียวอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่มากเกินไป และอาจจะนำไปสู่ความเสียหายของเงินต้นที่อาจจะไม่สามารถรับได้ การเพิ่มการลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า อาจจะทำให้พอร์ตการลงทุนมีความปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นั่นขึ้นอยู่กับจริต...ของนักลงทุนเอง ตามระดับจิตใจที่พอจะยอมรับความเสี่ยงได้ ตามตารางด้านล่างนี้

 

ห้า ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง

หลังจากที่เราซื้อหุ้นไปแล้ว เราก็คงจะต้องมีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของเราเอง การอ่านข่าว งบการเงิน ดูยอดขาย ค่าใช้จ่าย ผลกำไร คณะผู้บริหาร คณะกรรมการบริษัท ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่คุณผู้อ่านที่เป็นนักลงทุนคงทราบดีอยู่แล้วว่า เป็นสิ่งที่จะต้องติดตามตรวจสอบ

ผมเองมีลิงก์ง่ายๆหลายลิงก์ที่อยากจะแนะนำคุณผู้อ่าน โดยผมใช้ชื่อลิงก์นี้ว่า “รวมลิงก์ หาหุ้น บรรยาย CSI รุ่นที่ 12” โดยกดลิงก์ไปที่ http://www.doctorwe.com/radio/20170224/6599 ที่ลิงก์นี้ผมได้รวบรวมวิธีการค้นหางบการเงิน ค้นหาผู้บริหารซื้อขายหุ้นของตัวเองกันอย่างไร ค้นหาบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ต่างๆไว้ และอื่นๆอีกมากมาย จึงขอเชิญคุณผู้อ่านลองคลิกเข้าไปดูนะครับ

ท้ายนี้ ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์กวี ชูกิจเกษม ที่กรุณามาให้วิทยาทานในงานมหกรรมหาหุ้น “CSI Fun” ในครั้งนี้เป็นอย่างสูงนะครับ ซึ่งการบรรยายของอาจารย์กวีในครั้งนี้ ก็ทำให้พวกเรารู้ว่า...เรายังไม่รู้อะไรอีกเยอะเลย ทำให้นึกถึงคำพูดของอดีตประธานาธิบดี John F. Kennedy ที่เคยกล่าวไว้ว่า “The greater our knowledge increases the more our ignorance unfolds.” แปลตามความได้ว่า “เรายิ่งมีความรู้เพิ่มขึ้น เราก็ยิ่งรู้ว่า...เราไม่รู้อะไรอีกเยอะเลย”