เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยสำหรับเดือนม.ค. ที่รายงานไปเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มต้นปีได้ค่อนข้างสดใส โดย 2 ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งได้แก่ การลงทุนของภาครัฐ และการท่องเที่ยว ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวอาจจะสะดุดไปบ้างในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จากการที่รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะได้รับแรงขับเคลื่อนจากหลายปัจจัยมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง (ถึงแม้ตัวเลขในเดือนม.ค.ที่ออกมาดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานในปีที่แล้วต่ำก็ตาม) เนื่องจากสัญญาณการค้าในตลาดโลกเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index: PMI) ของยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน ในเดือนม.ค. และตัวเลขเบื้องต้นสำหรับเดือนก.พ. ต่างบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น ในขณะที่ PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯสำหรับเดือนก.พ. ในเบื้องต้นชะลอตัวลงจากระดับสูง โดย PMIของประเทศเหล่านี้ ได้แรงหนุนหลักจากการพุ่งขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ และคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออก เป็นสัญญาณว่าการค้าในตลาดโลกจะเร่งตัวขึ้น นอกจากนี้ การฟื้นตัวของราคาน้ำมัน น่าจะช่วยส่งผลให้บรรยากาศการค้าในตลาดโลกดีขึ้น เนื่องจากกำลังซื้อของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน โดยเฉพาะในตะวันออกกลางมีมากขึ้น ทั้งนี้ ไทยซึ่งเป็นประเทศสำคัญในห่วงโซ่การผลิตของโลก ก็น่าจะได้ประโยชน์จากการค้าในตลาดโลกที่ปรับตัวดีขึ้น

สำหรับการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ถึงแม้ตัวเลขในเดือนม.ค.ชะลอลงจากเดือนธ.ค. เนื่องจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐสิ้นสุดลง แต่แนวโน้มข้างหน้าน่าจะยังคงดีอยู่ เพราะผลของมาตรการภาครัฐเมื่อช่วงสิ้นปีบ่งชี้ว่า ผู้เสียภาษีมีความสามารถในการใช้จ่ายสูงพอที่จะสร้างความแตกต่างในตัวเลขเศรษฐกิจแต่ละเดือนได้ ซึ่งหากผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น ก็อาจจะมีการบริโภคมากขึ้น ในขณะที่ภาคการเกษตรมีแนวโน้มที่เกษตรกรจะมีรายได้ดีกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ภาคการเกษตรประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง ส่งผลให้รายได้ในปีที่แล้วลดลงอันเนื่องจากผลทั้งทางด้านราคาและปริมาณการผลิต แต่ในปีนี้ ผลผลิตของสินค้าเกษตรหลายประเภทปรับตัวดีขึ้น และการฟื้นตัวของราคาน้ำมันได้ช่วยหนุนราคายาง ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญ ให้ปรับตัวสูงขึ้น

ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งยังคงอ่อนแอ และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นยังคงจำกัดอยู่ในบางธุรกิจเท่านั้น เนื่องจากผู้ผลิตโดยรวมยังคงมีอัตรากำลังการผลิตเหลือ จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนเพิ่ม รวมถึงผู้ประกอบการบางส่วนรอดูความชัดเจนของโครงการลงทุนของภาครัฐและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนเพิ่ม ดังนั้น หากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น การลงทุนของภาคเอกชนน่าจะทยอยกลับมา นอกจากนี้ ไทยมีโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการที่ลงทุนในจีน เนื่องจากต้นทุนการผลิตในจีนเริ่มสูงขึ้น และผู้ประกอบการมีความกังวลว่าจีนอาจจะถูกตอบโต้ทางการค้าจากสหรัฐฯและยุโรป ซึ่งจะทำให้การส่งออกสินค้าจากจีนมีอุปสรรคมากขึ้น

สำหรับการลงทุนภาครัฐ ปีนี้มีแนวโน้มที่จะเบิกจ่ายได้มากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาสามารถเบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้า เนื่องจากมีหลายโครงการที่ติดปัญหาในแง่กฏระเบียบและความพร้อม ในขณะที่ในปีนี้ ปัญหาเหล่านั้นได้รับการแก้ไขไปมากแล้ว นอกจากนี้ ข้อมูลจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า ในปีนี้รัฐบาลมีแผนที่จะอนุมัติโครงการมีมูลค่ารวมมากกว่า 1 ล้านล้านบาท รวมถึงโครงการที่ผ่านการอนุมัติไปก่อนหน้านี้แล้วจะมีการเบิกจ่ายเป็นจำนวนเงินที่มากขึ้น ดังนั้น จำนวนเงินที่จะเข้าสู่ระบบก็จะมีมากขึ้น และจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน

ทางด้านการท่องเที่ยว มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 6.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มเดินทางกลับเข้ามา ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตรงกับช่วงเทศกาลตรุษจีน ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความเสี่ยงจากการก่อการร้ายในยุโรป และนโยบายต่อต้านชาวมุสลิมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยได้บ้าง

จะเห็นได้ว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับแรงขับเคลื่อนจากหลายปัจจัยมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวหรือขยายตัวเป็นวงกว้าง ในขณะที่นโยบายการเงินยังคงอยู่ในภาวะผ่อนคลาย และนโยบายภาครัฐสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้น ปีนี้จึงน่าจะเป็นปีที่ดีสำหรับเศรษฐกิจไทย โดยนักวิเคราะห์จากหลายๆหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เริ่มส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสที่จะเติบโตมากกว่าที่คาด