ความสำเร็จของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอินเดีย... ไม่มีทางลัด

ความสำเร็จของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอินเดีย... ไม่มีทางลัด

นโยบายยกเลิกธนบัตร (Demonetization) ใบละ 500 รูปี และ 1,000 รูปี ที่ผ่านมาของรัฐบาลอินเดีย

 ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 รวมเวลากว่าหนึ่งเดือน ได้สร้างความฮือฮาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จำนวนมากจากประชาชนอินเดียทั่วประเทศ

รัฐบาลอินเดียได้ประกาศว่า นโยบายดังกล่าวเป็นไปเพื่อการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของอินเดีย ให้มีความโปร่งใสมากขึ้น โดยรัฐบาลมีเป้าหมายจะเล่นงาน พวกที่ได้เงินมาแบบผิดกฏหมาย (Black money) พวกเลี่ยงการเสียภาษี พวกทุจริตคอรัปชั่น และต้องการปราบปรามพวกที่ให้เงินสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้าย รวมทั้งมุ่งที่จะนำพาเศรษฐกิจอินเดียสู่เศรษฐกิจแบบดิจิทัลในอนาคต

ซึ่งนโยบายดังกล่าว คงเป็นธรรมถ้าจะกล่าวว่า สำเร็จไปส่วนหนึ่ง โดยมีรายงานว่า การใช้ digital payment ในอินเดียภายหลังจากนโยบาย Demonetization ได้เพิ่มขึ้นถึงกว่าร้อยละ 300 โดยมียอดการใช้เงินจาก e-commerce และ point of sale รวม 1.6 ล้านครั้งต่อวัน โดยมีมูลค่ารวมเฉลี่ยประมาณ 2.36 พันล้านรูปีต่อวัน

ขณะที่เหรียญอีกด้านหนึ่งได้สะท้อนเสียงจากประชาชนอีกหลายกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากจากนโยบายดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเงินสด ที่เป็นธนบัตรที่พิมพ์ขึ้นใหม่ เพื่อทดแทนธนบัตรแบบเดิม ในระบบเศรษฐกิจและในมือประชาชน

ประชาชนต้องเข้าคิวเพื่อถอนเงินจากตู้ ATM ซึ่งหลายตู้ไม่มีเงินให้บริการ และมีการจำกัดจำนวนที่ถอนเงินได้ไม่เกิน 4,000 รูปี

รวมถึงประชาชนยังสับสนกับนโยบายที่ไม่ชัดเจน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เช่น ประชาชนจะฝากเงินเข้าบัญชีเพื่อแลกเงินอย่างไร จำนวนเท่าใด และเงินที่จะฝากจะถอนจะเสียภาษีอย่างไร และเท่าใด

เนื่องจากมีรายงานข่าวเป็นระยะว่า รัฐบาลอินเดียอาจมีนโยบายที่จะให้ผู้ฝากเงิน ซึ่งมียอดฝากจำนวนมากหรือร้านค้ามียอดขายสูงผิดปกติ เปิดเผยที่มาของรายได้ และชำระภาษีซึ่งอาจมีอัตราสูงถึงร้อยละ 50 ภายในเดือนมกราคม 2560

นอกจากนี้ ที่สำคัญไปกว่านั้น ก็คือ เหล่าบรรดาเกษตรกร ชาวนา และร้านค้าขนาดเล็ก เช่น ร้านขายน้ำชาข้างทางจำนวนมากยังได้รับผลกระทบจากนโยบาย Demonetization เนื่องจากส่วนใหญ่ประชาชนกลุ่มนี้ ใช้เงินสดในการค้าขาย ไม่ได้มีเครื่องรูดการ์ดบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตประจำร้าน

การที่ลูกค้าไม่มีเงินสดในมือ ทำให้ประชาชนกลุ่มอาชีพเหล่านี้ขายสินค้าได้ลดลง หรือจำเป็นต้องขายสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรประเภทต่างๆ แม้จะถูกกดราคาก็ตาม

ที่ผ่านมา ในรอบสองปี นับตั้งแต่รัฐบาลอินเดียเข้าบริหารประเทศ นายกรัฐมนตรีโมดี ได้แสดงผลงานหลายประการ โดยมีนโยบายสะเทือนวงการหลายๆ นโยบายออกมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะปฎิรูปเศรษฐกิจอินเดียอย่างรวดเร็ว

นโยบายดังกล่าวได้แก่ นโยบาย Make in India นโยบาย Digital India นโยบาย Skill India นโยบาย Smart Cities นโยบาย Swachh Bharat หรือ Clean India และนโยบาย Start up เป็นต้น

โดยนโยบายดังกล่าว ล้วนถือเป็นนโยบายแบบ Top-Down ทั้งสิ้น

นักวิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของอินเดียท่านหนึ่ง ชื่อว่า Manoj Joshi ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ Times of India ระบุว่า ความสำเร็จในการสร้างระบบเศรษฐกิจนั้น ไม่มีทางลัด จำเป็นจะต้องใช้เวลา รัฐบาลอินเดียไม่ควรใจร้อน และจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือและพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินนโยบายด้วย

Manoj Joshi แสดงความเห็นว่า การดำเนินนโยบายแบบ Top-Down อาจส่งผลเสีย โดยยกตัวอย่างของจีน ซึ่งดำเนินนโยบายแบบ Top-Down เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในอดีตที่ผ่านมา และได้ส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงทั้งแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและประเทศ

ดังเช่น นโยบาย Great Leap Forward ในช่วงทศวรรษที่ 1950s และการปฏิวัติวัฒนธรรม ในช่วงสมัยการปกครองของเหมาเจ๋อตุง

อย่างไรก็ดี จีน ก็มีตัวอย่างที่ดีเช่นกัน โดยที่กลับตัวทัน และนำนโยบายด้านเศรษฐกิจที่มีแผนระยะยาวมาปรับใช้ ซึ่งกว่าที่จีนจะปรับตัวจากศูนย์และกลายมาเป็นประเทศที่เป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้นั้น ใช้เวลาถึง 40 ปี นับตั้งแต่สมัยเติ้งเสี่ยวผิง

สิ่งที่อินเดียควรเรียนรู้จากจีน คือ การปรับเปลี่ยนทางสังคมและเศรษฐกิจนั้น ไม่มีทางลัด จำเป็นต้องใช้เวลา และการวางแผนที่ดีอย่างเป็นระบบ

ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงสมัยของนายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งเพียงสมัยเดียว

Manoj Joshi มองว่า นโยบายที่ดีของรัฐบาลโมดี ควรมีการวางแผนให้มีความต่อเนื่อง โดยคำนึงว่า หากนายกรัฐมนตรีโมดีจำเป็นจะต้องลงจากอำนาจในอนาคต จะดำเนินการกับนโยบายต่างๆ ต่อไปอย่างไร

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการกำจัดการคอรัปชั่น รัฐบาลอินเดียควรมีแนวทางที่มีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบและรอบด้าน และมีความเป็นไปได้ในการดำเนินนโยบาย

ซึ่ง Manoj Joshi มองว่า รัฐบาลโมดีขาดคุณสมบัติในข้อนี้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการดำเนินนโยบาย Demonetization ในครั้งนี้

นอกเหนือจากนโยบาย Demonetization ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักแล้ว อีกหนึ่งนโยบายที่กำลังเป็นที่วิจารณ์ก็คือ นโยบาย Start-up ซึ่งล่าสุด กลุ่มนักธุรกิจในอุตสาหกรรมไอทีได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการในการสนับสนุนกลุ่ม Start-up ที่ชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า consumer internet และ telecom hardware

อีกหนึ่งเรื่องที่อาจสะเทือนต่อรัฐบาลอินเดียปัจจุบัน คือ การประกาศบังคับใช้กฎหมาย GST ซึ่งหลายฝ่ายเริ่มไม่มั่นใจว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในเดือนเมษายน 2560 หรือไม่ เนื่องจากสภากฎหมาย GST หรือ GST Council ซึ่งมีรัฐมนตรีคลังจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นเป็นสมาชิกยังไม่สามารถตกลงกันได้ในบางประเด็น ซึ่งถ้าหากมีการเมืองเข้ามาแทรก รวมถึงปัญหาสภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย และผลกระทบอันเกิดจากนโยบาย Demonetization อาจทำให้การประกาศใช้กฎหมาย GST ไม่เป็นไปตามกำหนด

ซึ่งหลายฝ่ายให้ข้อมูลว่า การพิจารณาประกาศใช้กฎหมาย GST อาจมีความเป็นไปได้ที่จะต้องเลื่อนออกไปเป็นช่วงปลายเดือนกันยายน 2560 หรือนานกว่านั้น

.............................................

ดร. พรพิมล สุคันธวณิช

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน