การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับพัฒนางานวิจัยและกำลังคน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับพัฒนางานวิจัยและกำลังคน

ตามที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน เข้าเป็นภาคีความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559

 เพื่อร่วมกับนานาประเทศในการแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ และร่วมกันรับผิดชอบปัญหาโลกร้อน โดยแต่ละประเทศเป็นผู้กำหนดเป้าหมาย การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (รวมทั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก) ด้วยตนเอง ในรูปแบบของการนำเสนอเจตจำนง “การมีส่วนร่วมของประเทศ” (Nationally Determined Contribution: NDC) ความตกลงปารีสนี้ส่งผลให้มีข้อผูกพันต่อประเทศไทย หลายประการ อาทิ การดำเนินแผนงานโครงการและมาตรการต่างๆเพื่อให้บรรลุตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ (ลดก๊าซเรือนกระจก 20-25% ในปีพ.ศ. 2573) การจัดส่งรายงานผลการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกทุก 2 ปี การทบทวนและส่งเป้าหมายการลดก๊าซทุก 5 ปี และการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระยะยาวแบบปล่อยคาร์บอนต่ำและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ดังนั้น บริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อการดำเนินการในด้านต่างๆ ประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญเพื่อรับมือกับปัญหาให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมและให้มีความสอดคล้องกับกติกาภายใต้ความตกลงปารีส

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยองค์ความรู้เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเป็นระยะมากกว่า 15 ปีผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยมากกว่า 130 โครงการ และได้เป็นกัลยาณมิตรหน้าที่สนับสนุนการทำงานร่วมกับหน่วยประสานงานกลางกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Focal Point) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อบูรณาการภายใต้ความแตกต่างบริบทขององค์กรและหนุนเสริมให้ สผ. บรรลุยุทธศาสตร์ตามเป้าหมายผ่านงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำงานร่วมกับหน่วยงานรับผิดชอบหลักอื่นๆ ที่มีหน้าที่จัดทำนโยบาย แผน และมาตรการเพื่อรองรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

นอกจากนี้ สกว. ได้มีความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อการวิจัยด้านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งทาง อบก.ได้นำองค์ความรู้ส่วนหนึ่งจากรายงานสังเคราะห์และประมวลสถานภาพองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (TARC2) ที่ทางสกว. ได้สนับสนุนการจัดทำไปใช้ในการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อจัดทำฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การรายงานข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกในระดับเมือง และมุ่งสู่การลดคาร์บอนและเมืองคาร์บอนต่ำต่อไป ซึ่งรายงาน TARC2 นี้เป็นการรวบรวมองค์ความรู้ เทคนิควิธีการ และนโยบายหลักต่างๆ ในปัจจุบันที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศและระดับโลก

ในปี 2560 นี้ สกว. เห็นความสำคัญในการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยงานวิจัยในมิติต่างๆ เพื่อจะสามารถใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงได้เพิ่มความเข้มข้นการสนับสนุนประเด็นการวิจัยในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเชิงรุก โดยนอกจากเน้นพัฒนาองค์ความรู้ ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนากำลังคนที่ทำงานวิจัยในด้านนี้ โดยให้ทุนสนับสนุนในการการสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัยไทย-จีน เพื่อพัฒนาศักยภาพให้เป็นนักวิจัยมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านนี้ในอนาคต ภายใต้การเปิดรับทุนวิจัยร่วมกันกับ “โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) – Climate Change” ซึ่งกำลังประกาศรับสมัคร (รายละเอียดเพิ่มเติม http://rgj.trf.or.th/main/announcement/คปก-climate-change/) ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ทุนระดับปริญญาเอก โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาไปทำวิจัยระยะสั้นในต่างประเทศ (6-12 เดือน) ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันในต่างประเทศ รวมถึงได้รับการสนับสนุนทุนในการทำวิจัยในประเด็นนี้ด้วย

โดยสรุป สกว. กำลังเพิ่มการผลิตคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ในด้านนี้ไปพร้อมกัน รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับทีมนักวิจัย ในการทำงานร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยต่างประเทศ ทุนวิจัยในปีนี้ร่วมกับหน่วยงานให้ทุน NSFC ของประเทศจีน ที่ได้ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยร่วมกันระหว่างไทย-จีน ซึ่งองค์ความรู้จากผลลัพธ์งานวิจัยเหล่านี้จะถูกนำไปสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานหลักต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการการศึกษา ภาคประชาสังคม ในการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแผนพัฒนาอื่นๆ ในระดับต่างๆ เพื่อประโยชน์อันสูงสุดของการพัฒนาประเทศไทยให้มีความยั่งยืนต่อไป

...................................

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย