Undo ปฏิรูปสื่อ

Undo ปฏิรูปสื่อ

คนที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ คงคุ้นเคยกับคำสั่ง “undo” ซึ่งมีความหมายว่า ยกเลิก หรือ ลบล้างคำสั่ง

หรือสิ่งที่ทำมาก่อนหน้า หากได้ undo อะไรไปก็จะเสมือนว่าสิ่งที่เคยทำนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย เพราะมันจะไม่ปรากฏร่องรอยอะไรของของเดิมให้เห็นเลย อาการแบบ “undo” น่าจะใกล้เคียงกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น กับการปฏิรูปสื่อในสังคมไทยในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา

หากจะถามว่าใครมีบทบาทในการ undo การปฏิรูปสื่อ หลายคนคงคิดง่ายๆว่าน่าจะเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และองคาพยพอันเป็นผลจากคสช.นับแต่รัฐประหารในพ.ศ.2557 แต่ถ้าวิเคราะห์ตามข้อเท็จจริง นอกจากคสช.และคณะต่างๆ ที่จัดตั้งโดยคสช.แล้ว ยังมีผู้ก่อความเปลี่ยนแปลงให้วงการสื่อของไทย ในลักษณะที่ทวนกระแสการปฏิรูปสื่อดั้งเดิมอื่นๆอีก ไม่ว่าจะเป็น องค์กรกำกับดูแลสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อ องค์กรสื่อมวลชน หรือ แม้แต่ประชาชนผู้บริโภคและใช้สื่อเอง

คำว่า“ปฏิรูปสื่อ” อาจจะเป็นอะไรที่แพร่หลาย โดยเฉพาะในวาทกรรมการ “ปฏิรูป” ที่ริเริ่มโดยคสช.ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แต่การปฏิรูปสื่อโดยคสช.แตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญจาก การปฎิรูปสื่อดั้งเดิมที่ก่อการโดยนักวิชาการหัวก้าวหน้า และภาคประชาสังคมในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปีพ.ศ.2535 จนนำไปสู่เจตนารมย์ที่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนพ.ศ. 2540 เพื่อปฏิรูปทั้งโครงสร้างความเป็นเจ้าของและการจัดสรรทรัพยากรการสื่อสารที่สำคัญ คือ คลื่นความถี่ ตลอดจน การให้หลักประกันกับเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชนและนักวิชาชีพสื่อ จากการควบคุมเบ็ดเสร็จโดยรัฐหรือการครอบงำจากเจ้าของ อันจะส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน รวมไปถึงการกำกับดูแลสื่อให้อยู่ในมาตรฐานจริยธรรมเพื่อลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ต่อสังคม

การปฏิรูปในระลอกแรกนำไปสู่กฏหมายลูก (...องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.. 2553) ที่ก่อให้เกิดองค์กรกำกับดูแลสื่ออย่าง กสทช. หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่มีหน้าที่สำคัญในการปฏิรูปการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่เสียใหม่ เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ มีโอกาสในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรนี้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น และให้อยู่บนหลักของการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม จากที่องค์กรภาครัฐ อย่างกรมประชาสัมพันธ์ กองทัพ และ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) เคยเป็นผู้ครอบครองหลักของคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์ และเคยแชร์ผลประโยชน์จากคลื่นร่วมกับเอกชนเพียงไม่กี่รายผ่านสัมปทานแบบระยะยาว อย่างในกรณีของ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 (ดำเนินกิจการโดยบริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด) ที่ได้สัมปทานจาก อ.ส.ม.ท. ภายใต้สัญญาที่มีการต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่ 2513 และจะสิ้นสุดในปี 2563 นั้น ก็จะต้องเปลี่ยนไปเป็นการเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้าถึงคลื่นได้ผ่านการแข่งขันที่เปิดกว้างและตรวจสอบได้จากสาธารณะ

...องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 82 และมาตรา 83 ได้กำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือบุคคลใดที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ไป ต้องแจ้งความจำเป็นในการถือครองคลื่นฯ เพื่อประกอบการพิจารณาเรียกคืนคลื่นฯ มาจัดสรรใหม่ พูดอีกอย่างก็คือ หากไม่ได้ใช้คลื่นฯไปเพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์หลักขององค์กรตนก็พึงต้องคืนคลื่นให้กสทช.ไปจัดสรรใหม่เพื่อประโยชน์ที่คุ้มค่าและเป็นการใช้คลื่นฯที่มีประสิทธิภาพกว่าต่อสาธารณะ

ตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่น กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพต่างๆถือครองคลื่นวิทยุระดับชาติอยู่ 201 คลื่น หากแต่ไม่ได้ใช้เพื่อกิจการของกองทัพทั้งหมด แต่เป็นการให้สัมปทานเอกชนไปประกอบกิจการหรือเอาไปเช่าช่วงต่อก็ย่อมจะเข้าข่ายว่าไม่ได้มีความจำเป็นในการใช้คลื่น ในทำนองเดียวกัน อสมท. ซี่งถือครองคลื่นวิทยุระดับชาติอยู่ 44 คลื่นก็ต้องสามารถแจกแจงให้เห็นได้ว่าเป็นการประกอบกิจการด้วยตนเอง ไม่ใช่เป็นการแบ่งเวลาหรือให้เช่าช่วงเป็นหลัก และเป็นไปเพื่อสนับสนุนเป้าหมายหลักขององค์กรเพียงใด อย่างไร ถึงควรได้รับการพิจารณาให้ถือครองคลื่นต่อไป

ตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ของกสทช. และ ระเบียบ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่และกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2556 สามารถสรุปเป็นแนวทางกว้างๆได้ดังนี้คือ 1. ถ้าหน่วยงานภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจเอาคลื่นฯไปให้เอกชนประกอบกิจการให้คืนคลื่นฯเมื่อสิ้นสุดอายุสัญญานั้นๆ 2. ถ้ามีกำหนดระยะเวลาการใช้งานคลื่นไว้ ก็ให้คืนคลื่นเมื่อสิ้นสุดระยะเวลานั้น 3. ถ้ามีได้มีการกำหนดระยะเวลาการใช้งานคลื่นไว้ มี 2 กรณี คือ วิทยุให้ไช้ได้ไม่เกิน 5 ปีนับจากวันออกประกาศคือ พ.ศ.2560 และโทรทัศน์ให้ใช้ได้ไม่เกิน 10 ปีนับจากวันออกประกาศคือ พ.ศ. 2565

ทั้งนี้ หากทุกอย่างเป็นไปตามที่วางแนวทางไว้ หน่วยงานอย่างกองทัพบก ซึ่งถือครองสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และ อสมท. ซึ่งถือครอง สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี ก็ต้องถึงกำหนดคืนคลื่นความถึ่ภายในปีนี้แล้ว ทว่าด้วยอานุภาพแห่ง ประกาศคสช.ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557ที่ออกมาเมื่อสิ้นปีที่แล้ว ทำให้หน่วยงานที่ถือครองคลื่นฯดังกล่าวสามารถยืดเวลาการคืนคลื่นไปได้ออกไปได้อีก 5 ปี แผนแม่บทและระเบียบของกสทช.เพื่อปฎิรูปการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากคลื่นฯทั้งวิทยุและโทรทัศน์จึงถูก undo ไปโดยปริยาย องค์กรอิสระอย่างกสทช.ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรา 44 ซึ่งเป็นคำสั่งของรัฎฐาธิปัตย์ในปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกเหนือไปจากการundo การคืนคลื่นความถี่แล้ว อีกเรื่องที่เป็นประเด็นร้อนสำหรับสื่อมวลชนมาตั้งแต่ต้นปีก็คือ การพยายามผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ ซึ่งก็มีตัวแทนจากภาคส่วนของสื่อมวลชนอยู่มาตั้งแต่ต้น (แต่มาลาออกเอาในช่วงหลัง) เรื่องนี้ได้รับการคัดค้านจากองค์กรสื่ออย่างกว้างขวาง ตามข่าวระบุว่ามีมากกว่า30 องค์กรวิชาชีพสื่อที่ผนึกกันเพื่อออกแถลงการณ์คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว

โดยสาระสำคัญ ร่างกฎหมายนี้จะสร้างองค์กรร่มใหญ่ที่จะทำหน้าที่เป็นองค์กรกำกับดูแลกันเองของสื่อในระดับชาติใช้ชื่อว่า “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” โดยจะผูกโยงอำนาจในการกำกับดูแลต่อสมาชิกที่มาจากองค์กรวิชาชีพสื่อในทุกประเภทสื่อในทุกระดับของประเทศ ผ่านกลไกการรับเรื่องร้องเรียน วินิจฉัย และตัดสินลงโทษ และการออกบัตรประจำตัวผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่องค์กรสื่อ ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพสื่อในสังกัดของสภาฯ ดังกล่าวให้กับนักวิชาชีพที่ทำงานอยู่ในองค์กรของตน

ประเด็นหลักที่คัดค้านมาจากความกลัวที่ภาครัฐจะสามารถควบคุมสื่อได้ผ่าน การมีตัวแทนจากภาครัฐอยู่ในสภาฯ กลไกของการออกบัตรประจำตัว และการให้อำนาจองค์กรในลักษณะกึ่งตุลาการ กล่าวคือ สามารถลงโทษทางปกครองได้ ในรูปแบบเดียวกับกสทช. แม้ความกลัวดังกล่าวจะมีมูลชัดเจน แต่หากเราย้อนไปดูจริงๆ การออกกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เพิ่งมาเริ่มเมื่อสมัยของคสช. แต่ได้ถูกริเริ่มมาตั้งแต่ยุครัฐบาลก่อนรัฐประหารโดยองค์กรวิชาชีพสื่อในส่วนของสื่อหนังสือพิมพ์

เจตนาในตอนนั้นดูเหมือนอยากจะให้องค์กรกำกับดูแลกันเองของสื่อ ได้มีช่องทางที่จะได้รับการสนับสนุนการดำเนินการ จากงบประมาณที่จัดสรรอย่างเป็นระบบผ่านกฎหมาย เพราะที่ผ่านมา การกำกับดูแลกันเองของสื่ออาศัยทุนจากการบริจาคของสื่อที่เป็นสมาชิกเป็นหลัก ซึ่งก็ทำให้มีงบประมาณค่อนข้างจำกัดและบริหารงานไม่ค่อยคล่องตัว ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ร่างกฎหมายฉบับเดิม (ที่เนื้อหาเน้นเกี่ยวกับเสรีภาพและสวัสดิภาพของสื่อ มากกว่าการสร้างกลไกการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพหรือมาตรฐานวิชาชีพที่ยกระดับขึ้น) มาถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามลำดับ ก็ได้ถูกจับแปลงโฉมเสียใหม่ให้สอดคล้องกับวาระการปฏิรูป ที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองมองสื่อเป็นจำเลยในการสร้างความวุ่นวาย และความกระด้างกระเดื่องในสังคม การปฏิรูปสื่อจึงเปลี่ยนไปเป็น ทำอย่างไรให้สื่ออยู่ในร่องในรอยที่จะไม่ขัดกับความสงบในนิยามแบบรัฐทหาร แต่ก็ยังมีเรื่องของการให้การอุดหนุนเป็นงบประมาณเป็นเงื่อนต่างตอบแทนอยู่ ทว่าในตอนนี้ สภาพการณ์ถูกประเมินโดยผู้เกี่ยวข้องว่าน่าจะ “ได้ไม่คุ้มเสีย” เสียแล้ว

บทต่อไปของการ undo การปฏิรูปสื่อในสังคมไทยจึงน่าจับตาอย่างยิ่ง และการทำความเข้าใจความสัมพันธ์อันซับซ้อนเหล่านี้จำเป็นต้องย้อนไปวิเคราะห์ถึงอดีต ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็เพื่อป้องกันไม่ให้เราก้าวไปในอนาคตแบบย้อนหลังเข้าคลองด้วย