หุ่นยนต์กับแรงงานมนุษย์

หุ่นยนต์กับแรงงานมนุษย์

พัฒนาการทางเทคโนโลยี ที่นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์ชาติ

ที่สำคัญจริงๆ นั้นมีอยู่เพียง 3-4 เรื่องได้แก่

- การนำไฟมาใช้ปรุงเนื้อสัตว์ให้สุก ทำให้มนุษย์ย่อยโปรตีนได้มากกว่า เป็นเหตุให้สมองมนุษย์มีขนาดใหญ่มากขึ้นและเพิ่มศักยภาพทางปัญญา

- การเลี้ยงสัตว์ (domestication) และการทำการเกษตร ทำให้สามารถมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งถาวรได้

- การนำเอาพลังงานจากสัตว์และจากแหล่งอื่นๆ มาทดแทนแรงงานของมนุษย์

- วิวัฒนาการด้านสุขอนามัยและการแพทย์ที่ทำให้มนุษย์มีสุขภาพและอายุที่ยืนยาวมากขึ้น

ในทั้ง 4 ข้อนี้ผมคิดว่าข้อ 3 มีความสำคัญมากที่สุดในการขับเคลื่อน การพัฒนาทางเศรษฐกิจของโลก ร่วมกับระบบทุนนิยมที่ส่งเสริมให้มีการรวบรวม และจัดสรรทรัพยากรเพื่อการบริโภคและการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ จะเห็นได้ว่ายุคอุตสาหกรรม (industrial revolution) ซึ่งขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดในช่วง 300 กว่าปีที่ผ่านมานั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ (steam engine) เมื่อปี 1712 การนำเอาไอน้ำและต่อมาคือพลังงานจากน้ำมัน แสงอาทิตย์ ลม ฯลฯ มาทดแทนการใช้แรงงานของมนุษย์เองนั้น เป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนความเจริญทางเศรษฐกิจ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่ในระยะหลังนี้เทคโนโลยีกำลังพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง คือนอกจากจะทดแทนแรงงานของมนุษย์แล้ว ก็กำลังจะทดแทนมันสมองของมนุษย์ได้อีกด้วย ทำให้มีการพูดถึงหุ่นยนต์และ Artificial intelligence (เอไอ) มากขึ้นและในประเทศไทยก็มีนโยบายส่งเสริมให้การผลิตหุ่นยนต์เป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมหลักของประเทศในอนาคต

แต่เมื่อเดือนตุลาคม 2015 Stephen HawKing (คงไม่ต้องขยายความว่า Stephen HawKing คือใคร) ตอบคำถามที่แสดงความเป็นห่วงว่าหุ่นยนต์จะแย่งงานมนุษย์ ว่าหากวันหนึ่งในอนาคต เครื่องจักร (รวมถึงหุ่นยนต์และ) ผลิตทุกอย่างที่มนุษย์ต้องการ ผลที่จะตามมานั้นขึ้นอยู่กับการกระจายรายได้และทรัพย์สิน ในเชิงบวกมนุษย์ทุกคนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่ง หากผลผลิตของเครื่องจักรจะถูกนำมาแบ่งปันกันอย่างเท่าเทียม แต่ในทางลบ คนส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาวะยากจนอดอยากได้ หากผู้ที่เป็นเจ้าของเครื่องจักรรักษาผลประโยชน์ของตนมิให้ระบบการเมืองเก็บภาษีรายได้และสินทรัพย์เพื่อนำมาจัดสรรให้กับคนกลุ่มอื่นได้ ทั้งนี้ในความคิดเห็นของนาย HawKing นั้น แนวโน้มขณะนี้เป็นไปในแนวทางที่สอง กล่าวคือพัฒนาการทางเทคโนโลยี ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นมิได้ลดลงแต่อย่างใด

หากหุ่นยนต์และเครื่องจักรผลิตสินค้าและบริการให้กับมนุษย์ได้เกือบทั้งหมดจริงในอนาคต ก็ยังมีผลกระทบอีกมิติหนึ่งที่สำคัญยิ่งคืออาจจะเป็นจุดจบของระบบทุนนิยมด้วยก็ได้เพราะทุนนิยมนั้นอาศัยการขับเคลื่อนจากความต้องการของมนุษย์ทุกคนที่จะทุ่มเทพลังงานและความคิดเพื่อประโยชน์ส่วนตัว (ซึ่งเป็นประโยชน์กับส่วนรวมในที่สุด) แต่คนส่วนใหญ่ไม่น่าจะแข่งขันกับหุ่นยนต์ที่ทำงานได้เกือบ 24 ชม. โดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทนใดๆ ได้ กล่าวคือระบบเศรษฐกิจดังกล่าวจะใช้คนที่ค้นคว้าพัฒนาให้เครื่องจักร/หุ่นยนต์ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น บวกกับคนงานดูแลเครื่องจักร/หุ่นยนต์ ไม่กี่หมื่นคน ทำให้ต้องถามว่าคนอีก 7 พันล้านคนนั้นจะหารายได้มาจากแหล่งใด กล่าวในเชิงของเศรษฐศาสตร์นั้นเป็นไปได้ว่าจะต้องอาศัยระบบทุนนิยมน้อยมากในการจัดสรรทรัพยากร (resource allocation) เพื่อการผลิต แต่ต้องพิจารณาถึงการแบ่งปันรายได้และความมั่งคั่งให้กับประชาชนอย่างเป็นธรรม (equitable distribution of income and wealth) กล่าวคือความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต (เป็นเจ้าของหุ่นยนต์/เครื่องจักร) กับความกินดีอยู่ดี จะต้องแบ่งแยกออกจากกัน กล่าวคือเปลี่ยนจากทุนนิยมไปเป็นสังคมนิยมโดยปริยาย

ในอีกด้านหนึ่งนั้น Bill Gates (คงไม่ต้องขยายความเช่นกันว่าเป็นใคร) ก็แสดงความเป็นห่วงว่ามนุษย์จะบริหารจัดการ automation ได้อย่างไร จึงเสนอแบบที่เล่นที่จริงว่าอาจต้องพิจารณาเก็บภาษีหุ่นยนต์เพื่อชะลอแนวโน้ม automation ก็เป็นได้ ซึ่งจะตรงกันข้ามกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่มีดำริว่าจะลดภาษีเพื่อส่งเสริมการผลิตหุ่นยนต์ อย่างไรก็ดีผมเห็นว่าแนวคิดให้เก็บภาษีนั้นเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะหุ่นยนต์และเครื่องจักรคือสินค้าทุนที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการเก็บภาษีจึงควรเก็บภาษีจากกำไรที่ได้มาจากสินค้าทุนดังกล่าว เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกว่า เพราะการเก็บภาษีหุ่นยนต์และเครื่องจักรจะชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจและความเจริญมั่งคั่งโดยรวม

แต่แนวคิดดังกล่าวก็ยังไม่ตอบโจทย์ที่เป็นประเด็นทางเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบัน ได้แก่ การที่สัดส่วนของรายได้จากค่าตอบแทนแรงงาน (labor share) ในจีดีพีตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาในประเทศพัฒนาแล้วเกือบทุกประเทศ ในขณะที่สัดส่วนของกำไร (จากสินค้าทุนและสิ่งปลูกสร้าง) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ครัวเรือนส่วนใหญ่มีรายได้ที่คงที่หรือลดลง ดังที่ผมเคยเขียนถึงมาก่อนหน้านี้ ผลที่ตามมาคือเกิดความไม่พอใจของคนส่วนใหญ่กับระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่ตอบสนองความคาดหวังและความต้องการของคนส่วนใหญ่ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ Brexit และนายโดนัล ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ โดยในกรณีหลังนี้ประชาชนเชื่อตามการหาเสียงของทรัมป์ว่าปัญหาที่เกิดจากระบบการค้าเสรีที่ทำให้สหรัฐถูกประเทศคู่ค้าเอาเปรียบ ทั้งๆ ที่สาเหตุหลักน่าจะมาจาก automation และ robotic มากกว่าครับ