แท็กซี่ไม่มีเศษ ประเทศไม่ใช้เงินสด

แท็กซี่ไม่มีเศษ ประเทศไม่ใช้เงินสด

ณ กรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย เมืองที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก เมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่างจังหวัดมาเยือนติดอันดับท็อปของโลก

เมืองที่มีผู้คนจากต่างจังหวัดหลั่งไหลมาแสวงหาโอกาสในชีวิตทั้งการศึกษา การงาน เมืองที่มีจำนวนประชากรข้อมูลทะเบียนราษฎร์ราว 5 ล้านกว่า แต่มีประชากรทั้งขาจรและขาประจำมาพำนักพักอาศัยมากมายกว่านั้นเกินเท่าตัว และไม่ว่าจะมองด้วยสายตาของคนที่รักหรือเบื่อกรุงเทพฯ เราก็ต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า เมืองหลวงของเราที่มีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นนี้ มีการจัดการเรื่องการขนส่งมวลชนยังไม่ดีนัก 

จริงอยู่ เรามีความทันสมัยของรถไฟฟ้า ทั้งใต้ดินและบนฟ้าทำให้การเดินทางไปไหนมาไหนทำได้รวดเร็วขึ้น, มีรถเมล์ สาธารณะทั้งแบบฟรีและเสียเงิน แต่คนก็อัดแน่นกันราวกับปลากระป๋อง และที่สุดแล้วหากจะเดินทางให้ถึงจุดหมายที่พาหนะสาธารณะพาไปไม่ได้ รถแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์ จึงยังเป็นคำตอบที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

สำหรับผู้ใช้บริการแท็กซี่ สิ่งหนึ่งที่เป็น pain point ของผู้โดยสาร (และอาจรวมถึงคนขับ) คือเรื่องของการจ่ายเงิน ทอนเงิน บางครั้งอาจกลายเป็นสาเหตุของการถกเถียงกันในรถได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมผู้โดยสาร มักรู้สึกว่าต้องยอมจำนนจ่ายค่าโดยสารเกินราคาจริงด้วยเหตุผลที่ “ไม่มีเงินเศษ” ที่จะจ่ายหรือทอนให้พอดี 

ประกอบกับการอยู่บนรถจะไปหาแลกเงินที่ไหน เหมือนพ่อค้าแม่ขายที่สามารถแลกเงินกับร้านข้างๆ ได้ เรื่องเล็กๆ เหล่านี้ได้รับการบ่นบ่อยๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าจากประสบการณ์ของคนใช้จริงๆ แต่ก็ยังไม่มีวิธีแก้ตรงๆ

จนถึง ณ วันนี้ ปี พ.ศ.2560 เมื่อประเทศไทยเริ่มมีบริการพร้อมเพย์ หนึ่งใน National e-payment ที่เป็นวาระแห่งชาติ อันจะนำพาประเทศเราก้าวสู่ความเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ในอนาคต แม้จุดนั้นจะยังอีกไกล 

แต่ตัวบริการพร้อมเพย์เองก็มีคุณประโยชน์ไม่น้อยกับประชาชน เอกชน จนถึงรัฐบาล การจะโอน จะจ่าย จะรับเงินแบบไม่ต้องใช้เงินสด สามารถทำได้ง่ายดาย ไม่ต้องจำเลขบัญชี เพียงใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือเลขบัตรประชาชน แถมยังช่วยประหยัดค่าธรรมเนียมการโอนต่างๆ ในแง่ภาพใหญ่ยังช่วยรองรับการจ่ายเงินของภาครัฐอย่างตรงเป้าหมาย

ประโยชน์ของพร้อมเพย์ ยังนำมาใช้ประโยชน์ในการใช้บริการแท็กซี่ได้อีกด้วย เป็นความพยายามในการจุดตะเกียงในความมืดได้ทางหนึ่ง เมื่อผู้โดยสารสามารถจ่ายเงินให้คนขับผ่านทางโทรศัพท์โดยแท็กซี่ที่มีพร้อมเพย์ ก็พร้อมรับเงินค่าโดยสารได้อย่างสะดวก ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการไม่มีแบงค์ย่อย ไม่มีเงินเศษหรือเงินทอนได้เป็นอย่างดี ทำให้ลดความโต้เถียง การบ่นว่ามีการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน 

จะว่าไปการไม่พกเงินสดก็ช่วยลดความเสี่ยงจากการจี้ปล้นโจรกรรมของทั้งสองฝั่ง นอกจากนี้ การไม่ใช้เงินสดแต่เป็นธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์หมด ก็ยังมีหลักฐานเป็นประโยชน์พลอยได้ หากจะมีการติดตามถามไถ่ต่อจากนี้ หรือแม้แต่ในแง่ผู้โดยสารอาจต่อยอดเป็นการทำบัญชีค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น เพราะข้อมูลอยู่ในระบบย่อมแม่นยำกว่าอยู่ในความจำเฉยๆ 

นอกจากนี้ การจ่ายค่าแท็กซี่แบบพร้อมเพย์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะใช้ Mobile App หรือ Mobile Browser ก็นับว่าเป็นความสะดวกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพฤติกรรมของผู้คนสมัยนี้ คือ เมื่ออยู่บนรถแท็กซี่ ก็มักจะนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือฆ่าเวลาอยู่แล้ว นอกจากดู feed เฟซบุ๊ค, chat ในกรุ๊ปไลน์อ่านข่าวในเว็บบอร์ดดูคลิปที่สนใจ ฯลฯ ก็ยังสามารถใช้มือถือสารพัดประโยชน์นี้ จ่ายค่าโดยสารรถแท็กซี่ได้อีกด้วย 

ความเป็นสังคมที่ไร้เงินสดของไทยแลนด์บ้านเรา คงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย ยิ่งถ้าเทียบกับว่าจะให้เป็นอย่างประเทศสวีเดนที่กว่า 80% ของประเทศเป็น e-payment ไปหมดแล้ว แต่ถึงกระนั้น การค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ เปลี่ยน เพื่อสร้างความคุ้นเคย เพื่อสร้างความมั่นใจ ถึงเสถียรภาพและความปลอดภัย ของระบบบ้านเรา โดยเริ่มจากบริการต่างๆ ใกล้ๆ ไปพลางๆ ก็น่าจะดี

นั่งแท็กซี่ครั้งหน้า สั่งอาหาร delivery ครั้งต่อไป ถ้าเขามีบริการพร้อมเพย์ให้ใช้ อย่าลืมลองใช้กันนะ!