รู้จัก รู้แจ้ง รู้จริง

รู้จัก รู้แจ้ง รู้จริง

คงไม่มีใครปฎิเสธว่าความรู้ (Knowledge) มีความสำคัญ แต่กระนั้นความรู้เองก็ยังมีระดับของความลึกอยู่ด้วย

นั่นคือรู้เพียงผิวเผิน รู้แบบรับรู้รับทราบ รู้แบบเข้าใจนำไปใช้ประโยชน์ได้ รู้แบบลงมือปฎิบัติทำให้เกิดผลหรือนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวได้ หรือรู้ลึกถึงที่มาที่ไปที่เป็นแก่นของสิ่งนั้นจนถึงขั้นสามารถเปลี่ยนรูปแปลงร่าง ต่อยอดนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลายตามบริบทหรือสภาพแวดล้อมนั้นๆ

ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ (learning process) จึงเป็นขั้นตอนพื้นฐานที่ทำให้คนหรือองค์กรสามารถจัดเก็บหรือรวบรวมความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการองค์กรไว้ได้อย่างเป็นระบบ และควรจัดทำให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้งานจากใครก็ตามในองค์กร แต่กระนั้นยังมีอีกกระบวนการหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน ถ้าความรู้เปรียบได้ดังลำต้นและรากของต้นไม้ กระบวนการคิด (thinkingprocess) ถือว่าเป็นกระบวนการต่อยอดของความรู้ ทำให้เกิดความคิดใหม่ๆแตกเป็นกิ่งก้านสาขาย่อยๆออกไปจากความรู้หลัก อีกทั้งยังทำให้เกิดความคิด (idea) ที่เป็นเสมือน ใบไม้ ดอกไม้ จนถึงผลไม้ ที่เป็นความเจริญเติบโตงอกงามขององค์กรนั้นๆ

เราจึงต้องรู้ว่า ความรู้หรือการเรียนรู้ของเรานั้น จะต้องรู้อะไรแบบไหน รู้อย่างไร และรู้ไปทำไม จึงจะเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีจริงๆ โดยแบ่งระดับขั้นของความรู้เป็น 3 ระดับคือ ขั้นต้นคือรู้จัก ขั้นกลางคือรู้แจ้ง และขั้นสูงคือรู้จริง

Know What (รู้จัก) คือรู้ว่าอะไร ที่ไหน เมื่อใด และเกี่ยวข้องกับใคร หาได้ทั่วไปในเว็บ รับรู้ได้จากการถาม การฟังอย่างตั้งใจ แน่นอนความรู้นั้นช่วยเปิดโลก เปิดสมอง เปิดมุมมองใหม่ที่แตกต่างจากสิ่งที่เราคุ้นเคย แต่กระนั้นมันก็ทำหน้าที่แค่เพียงจุดประกายบางอย่างให้เราเท่านั้น ยังไม่ถือว่าเกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม ยิ่งเรารู้แล้วไม่ได้ทำอะไรต่อ ผ่านไปก็กลายเป็นความไม่รู้เหมือนเดิม สำหรับการทำงานในองค์กรสิ่งนี้เปรียบได้ดังแค่ข้อมูล หรือเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาทุกวัน คนที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรืออยู่ในเหตุการณ์นั้นๆก็สามารถรับรู้ได้ แต่ถ้าไม่ได้นำไปประมวลผลต่อก็จะผ่านเลยไป

ปัจจุบันสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นแหล่งผลิตบุคลากรหลักของประเทศ จึงถูกท้าทายด้วยความต้องการของตลาดแรงงาน สถานประกอบการ และความต้องการของผู้บริโภค นั่นเพราะความขาดแคลนบุคลากรทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ (skilled workforce) คนทำงานที่มีทักษะหลายด้าน (multi-skilled workforce) บุคลากรที่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้ (knowledge worker) โจทย์ใหญ่ของสถาบันการศึกษาจึงอยู่ที่ว่าบุคลากรที่สำเร็จการศึกษามานั้นจะต้องไม่ใช่แค่รู้หรือเคยรู้ แต่ต้องมีทักษะพื้นฐานที่พร้อมจะเริ่มงานได้

Know How (รู้แจ้ง) เป็นความรู้ที่ไม่ได้หาได้ทั่วไป ในแหล่งความรู้สาธารณะต่างๆหรือแม้แต่ในเว็บไซต์จะมีน้อยกว่า อย่างไรก็ตามความรู้นี้เป็นกระบวนการที่ต่อยอดจากความรู้แรกที่เราได้รับ เกิดจากการชมการสาธิตและลงมือปฏิบัติด้วยตนเองจึงจะเกิดความเข้าใจ เป็นกระบวนการขั้นต้นที่จะต้องฝึกอบรมและฝึกปฎิบัติภายใต้คำชี้แนะจากผู้รู้ที่ปฎิบัติมาก่อน ทำซ้ำๆติดต่อกันจนเกิดความชำนาญและจะกลายเป็นทักษะความสามารถในที่สุด แน่นอนตราบใดที่ยังไม่ได้ลงมือทำ คงยากที่จะบอกว่าเราเข้าใจ และทำได้ทำเป็น

เมื่อประกอบกับความต้องการของประเทศ ที่พยายามจะปรับโครงสร้างไปสู่อุตสาหกรรมที่ไฮเทคขึ้น ดึงเม็ดเงินการลงทุนจากประเทศชั้นนำ อย่างเช่นโครงการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่ครอบคลุม 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง สิ่งที่นักลงทุนถามหาไม่ใช่แค่สิทธิประโยชน์จากการลงทุน หากแต่ถามหาว่าไทยมีบุคลากรที่มีทักษะความสามารถสูง (highly skilled worker) พร้อมรองรับหรือไม่ นี่คือโจทย์ที่ใหญ่กว่าเดิมที่รัฐบาลต้องหาทางออกให้ได้

Know Why (รู้จริง) เป็นกระบวนการสร้างความรู้ใหม่ ที่แตกต่างไปจากความรู้เดิมที่เรารู้จักและรู้แจ้งแล้ว แต่เมื่อเราทดลองพลิกแพลงไปในสถานการณ์แบบอื่นๆ จะทำให้เรารู้ว่าอะไรได้อะไรไม่ได้ ถ้าปรับเปลี่ยนแก้ไขบางอย่างจะเกิดผลเช่นไร จากทักษะในการทำซ้ำจนชำนาญจะกลายเป็นปัญญาในที่สุด เรียกว่าเป็นการบูรณาการทุกสิ่งที่เรารู้แจ้ง โดยทดลองหรือทดสอบสมมติฐานบางอย่างในสิ่งที่เรายังไม่รู้ จนได้ข้อสรุปใหม่บางอย่าง แน่นอนสิ่งนี้ถ้ายังไม่เคยมีใครรู้มาก่อนก็ถือว่าเป็นความรู้ใหม่ (new knowledge) นั่นเอง

ระดับความรู้ขั้นที่สามนี่ จะช่วยเสริมแผนยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องของนวัตกรรม (Innovation) ที่หลายองค์กรของไทยเริ่มปรับตัวจากบริษัทผู้รับจ้างผลิต ไปสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการใหม่ๆที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และยุทธศาสตร์การสร้างธุรกิจใหม่ที่ไฮเทค (Tech Startups) จากนักคิดนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ ถ้าเปรียบเป็นเชฟทำอาหาร การที่สามารถปรุงอาหารสูตรเดิมได้ตามที่เคยเรียนรู้หรือลงมือทำมานั้น เป็นแค่ระดับ know how แต่ถ้าสามารถสร้างสรรค์เมนูใหม่ ปรับเปลี่ยนส่วนผสมตามวัตถุดิบที่มีอยู่ในมือได้อย่างมีคุณค่าและอร่อยด้วย เหมือนอย่างเชฟกระทะเหล็กที่ทำได้ทุกอย่าง ตามแต่ว่าวัตถุดิบที่มีจะเป็นอะไร อันนี้เรียกว่ารู้ระดับ know why คือรู้ถึงแก่นและสาระของวัตถุดิบแต่ละอย่าง สามารถพลิกแพลงจับวางสร้างสรรค์ได้ไม่จำกัดนั่นเอง

จึงไม่แปลกใจถ้าวันนี้เราจะเริ่มเห็นสถานประกอบการใหญ่ๆ บริษัทที่มีชื่อเสียงของไทย เริ่มที่จะขยับปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่ๆที่ไม่เคยทำมาก่อน แม้กระทั่งธุรกิจการผลิตบุคลากรที่เน้นภาคปฏิบัติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีมานานแล้วในต่างประเทศ (Corporate University) แต่กำลังเกิดขึ้นมากมายหลายแห่งในไทย และกำลังจะกลายเป็นแนวโน้มใหม่ที่สถาบันการศึกษาจะต้องเอื้อมมือออกมาจากรั้วของตัวเอง และกระชับความสัมพันธ์ให้เหนียวแน่นขึ้นกับสถานประกอบการ