มีลูกเพื่อชาติ นโยบายที่ต้องคิดต่อ

มีลูกเพื่อชาติ นโยบายที่ต้องคิดต่อ

คนไทยมีลูกน้อยลงเป็นเรื่องจริง หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ในช่วง 20 ปีข้างหน้า

 จำนวนประชากรรวมของประเทศจะลดลง หลายปีก่อนมีการเสนอแนวคิดเรื่องภาษีคนโสด วันนี้มีการพูดถึงสาวแก้มแดง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากความหวังดี ต้องการจะเพิ่มประชากรเพื่อให้ประเทศของเราก้าวหน้าต่อไป แต่หากเอามิติทางเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง นโยบายนี้ต้องถูกนำไปคิดต่อ ก่อนจะฟันธงกันว่าจะส่งคู่รักเข้ามุ้งเพื่อชาติหรือเปล่า

ประเด็นก็คือ หากมองมิติทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ประชากรกับเศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกันใน 3 เรื่องหลัก คือ 1) ประชากรจะกลายเป็นกำลังแรงงานของภาคเศรษฐกิจ ถ้าประชากรลดลง กำลังแรงงานของเราจะลดลงด้วย สุดท้ายเศรษฐกิจเลยหดตัว 2) ถ้าประชากรไทยลดลง เราจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากขึ้น และ 3) ถ้าประชากรลดลง กำลังซื้อในประเทศก็จะลดลง

เราลองมาพิจารณากันทีละประเด็นว่า ความเชื่อมโยงเหล่านี้นำไปสู่ทางเลือกเพียงทางเลือกเดียวคือการเพิ่มประชากรใช่หรือไม่

ประเด็นแรก ประชากรคือกำลัง  มีคนเยอะก็มีกำลังแรงงานเยอะ ประเด็นนี้เป็นจริงในยุคเศรษฐกิจ 2.0 และ 3.0 ที่กำลังคนยังต้องเป็นปัจจัยการผลิตหลักของระบบเศรษฐกิจ แต่สำหรับยุค 4.0 ที่เรากำลังขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อให้ไปถึงกันอยู่ เป็นยุคที่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจไม่ได้วัดกันที่จำนวนหัวของแรงงาน ว่ามีสักกี่มากน้อย แต่วัดกันว่า แรงงานแต่ละคนทำงานได้แค่ไหน ถ้าแรงงานไทยในอนาคตสามารถทำงานได้เก่งกว่าแรงงานในปัจจุบันเท่าตัว เราก็ไม่จำเป็นต้องมีแรงงานจำนวนเท่ากับทุกวันนี้ก็ได้

นอกจากนี้แล้ว หากดูแนวโน้มของคนมีงานทำ ในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรตามที่แสดงไว้ในรูป จะเห็นว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้มีงานทำในภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลง ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คงจะพอนึกภาพกันออกว่า นอกภาคเกษตร ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ภาคการบริการ ภาคการเงิน หรือภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลก จะมีการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจโลกที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่ยุค 4.0 จะ “บีบ” ให้ภาคเศรษฐกิจเหล่านี้ของไทยปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน นั่นหมายความว่าพลังการผลิตที่เกิดจากจำนวนคน จะไม่สำคัญเท่ากับพลังการผลิตที่เกิดจากพลังสมอง จำนวนแรงงานจึงไม่ใช่ตัวชี้เป็นชี้ตายทางเศรษฐกิจ แต่เป็นความเก่งของคนรุ่นใหม่ต่างหาก

ประเด็นที่สอง การขาดแคลนแรงงานนำไปสู่การใช้แรงงานข้ามชาติมากขึ้น การคิดเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า เรายังยึดมั่นถือมั่นว่าโครงสร้างการผลิตของประเทศในอนาคตยังจะมีหน้าตาเหมือนกับวันนี้ จึงยังต้องใช้คนในจำนวนเท่ากับวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วงมาก เพราะเรากำลังยอมรับกลาย ๆ กว่าใน 10 ถึง 20 ปีข้างหน้า เรายังใช้วิธีการผลิต วิธีทำมาหากินเหมือนกับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ประเทศอื่นกำลังหาทางแทนที่คนด้วยเครื่องจักรและหุ่นยนต์ เรากำลังจะเอาแรงงานต่างด้าวไปแข่งกับเครื่องจักรและหุ่นยนต์ ไม่ต้องดูหนังเรื่องคนเหล็กก็น่าจะเดาออกว่าใครจะเจ็บตัวมากกว่ากัน

ประเด็นที่สาม ประชากรน้อย กำลังซื้อในประเทศก็น้อยตามไปด้วย สะพานเชื่อมทางความคิดระหว่างจำนวนประชากรกับกำลังซื้อ คือ ขนาดของเศรษฐกิจ เราเชื่อว่า ถ้ามีแรงงานน้อยลง ก็จะผลิตสินค้าและบริการได้น้อยลง ระบบเศรษฐกิจจึงหดตัว คนของเรายากจนลง จนนำไปสู่กำลังซื้อที่ลดลง เช่น ถ้าเมื่อก่อน แต่ละปีประเทศสร้างรายได้ปีละ 1 ล้านบาท มีคนทำงาน 10 คน แต่ละคนก็จะมีรายได้ต่อหัวประมาณ 1 แสนบาท พอมีคนลดลงเหลือ 5 คน ทำให้ประเทศสร้างรายได้น้อยลงเป็นปีละ 4 ล้านบาท แต่ละคนมีรายได้เหลือเพียง 8 หมื่นบาท จึงทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลง

แต่ถ้าเราพลิกโจทย์เสียใหม่ว่า ทำยังไงให้คนที่ลดลงเหลือ 5 คนเก่งพอที่จะสร้างรายได้ปีละ 1 ล้านบาทให้ประเทศ รายได้ต่อปีของพวกเขาย่อมเพิ่มขึ้นเป็นคนละ 2 แสนบาท กำลังซื้อของประเทศโดยรวมไม่เปลี่ยน แถมแต่ละคนยังมีกำลังซื้อมากขึ้นด้วย

หากประเมินจากประเด็นเหล่านี้จะเห็นได้ว่า นอกจากการเพิ่มจำนวนคนซึ่งเห็นผลช้าแล้ว เรายังมีทางเลือกด้วยการพัฒนาคุณภาพของแรงงานและเยาวชนไทย (Human Capital) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้พวกเขามีสุขภาพดี (Health Capital) มีความฉลาดทางสุขภาวะ (Health Literacy) เพื่อให้แข็งแรงทั้งร่างกายและพลังสมอง ซึ่งจะช่วยให้แรงงานไทยสามารถเป็นพลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อย่างแท้จริง