ขนบ /แย้งขนบเพื่อสร้าง 'ความรู้ใหม่'

ขนบ /แย้งขนบเพื่อสร้าง 'ความรู้ใหม่'

ผมได้รับเกียรติเชิญไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในเรื่องแนวทางการแสวงหาความรู้

ด้วยการวิจัยทางสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยบูรพา จึงขอนำเอาบางประเด็นมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

ผมเริ่มต้นการแลกเปลี่ยนด้วยการนิยามคำว่าความรู้/ความรู้ใหม่” เพื่อเป็นจุดเดินเรื่องทั้งหมด ผมนิยามความรู้ว่าความรู้ คือ การเชื่อมโยง ข้อมูลปลีกๆ” ให้เกิด “ความหมาย” ซึ่งการเชื่อมโยงเช่นนี้จะทำให้เข้าใจเรื่องนั้นได้ และผมเน้นย้ำว่าความรู้ทั้งหมด ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างสรรค์สายสัมพันธ์เชื่อมต่อข้อมูลปลีก ทั้งสิ้น

ส่วนการสร้างความรู้ใหม่ ก็คือ การเชื่อมโยง “ข้อมูลปลีกๆ” หรือการมองเห็น/จินตนาการสายสัมพันธ์เชื่อมโยง “ ข้อมูลปลีกๆ” ในลักษณะใหม่ ซึ่งทำให้เกิด “ความหมายใหม่” อันส่งผลให้เข้าใจเรื่องนั้นได้ดีขึ้น/หลายมุมมอง/มีพลังในการอธิบายมากขึ้น และเน้นว่าโลกและสังคม “พัฒนา”ขึ้นมาจนถึงวันนี้ก็เพราะมีการสร้างความรู้ใหม่” ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

การสร้าง “ ความรู้ใหม่” เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในสังคมไทย เพราะสังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลและลึกซึ้ง ความรู้ชุดเดิม  เกี่ยวกับสังคมไทยเริ่มไม่สามารถจะอธิบายปรากฏการณ์ใหม่ๆได้ สังคมไทยกำลังอยูในจังหวะของการเคลื่อนย้ายทางสังคมสูง ซึ่งก่อให้เกิดการตึงเครียดทางสังคมสูง และชักนำให้ความขัดแย้งในระดับต่างๆเกิดได้ง่ายขึ้น จนอาจจะกล่าวได้ว่าสังคมไทยกำลังเปลี่ยนรูปสังคม ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ความหมายของผู้คนในระบบความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งหมดเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

เพราะความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้และไม่เข้าใจ เราจึงงุนงงสงสัยว่าทำไมเรื่องราวต่างๆในทุกระดับทุกมิตนั้นจึงเกิดมาได้ สังคมไทยอย่างที่เราคุ้นเคยหายไปไหน เราจึงต้องการ“ความรู้”และการอธิบายชุดใหม่

แต่สังคมไทยกลับไม่สามารถสร้าง “ ความรู้ใหม่” ได้ทันท่วงที เพราะเรายึดติดอยู่กับ “ขนบ”ความรู้เดิมที่ถูกสร้างให้กลายเป็นความจริงตลอดเวลาที่ผ่านมา ตัวอย่างง่ายๆ เช่น การชี้โทษไปที่ การรับวัฒนธรรมตะวันตก อันมีความหมายว่าความเป็นไทยนั้นดีอยู่แล้ว เพียงแต่คนบางกลุ่มมองเห็นผิดเป็นชอบและไปรับเอาวิธีคิดวิธีรู้สึกของฝรั่งมาจึงทำให้เกิดปัญหา ตัวอย่างของ ความดีงามของความเป็นไทย” ได้ทำให้สังคมไทยมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่งในที่สุดแล้วก็ไม่ได้สร้างสรรค์ทางออกจากปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ได้เลย

สังคมไทยจำเป็นที่จะต้อง “ แย้งขนบ” ความรู้เพื่อที่จะทำความเข้าใจในปรากฏการณ์และความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติของสังคมไทย การ แย้งขนบ” จึงเป็นการแผ้วถางทางเดินแห่งความรู้

หากเราต้องการจะสร้าง ความรู้ใหม่ ที่จำเป็นต้อง แย้งขนบ ต้องเริ่มต้นจากการตั้งคำถามกับ “ชุดความรู้เดิม”ให้มาก และต้องห้ามการยอมจำนน(อย่างสิ้นเชิง)หรือรู้สึกเพียงพอต่อกรอบการอธิบายเดิม พร้อมกับต้องแสวงหา/เปรียบเทียบ/การมองจากปัญหาลักษณะเดียวกันจาก สายตาอื่น (อันอาจจะเป็นทฤษฏีสังคมศาสตร์ใหม่ๆ ) ซึ่งจะทำให้เราสามารถมอง “ข้อมูลปลีกๆ” ด้วยความหมายใหม่และจะเป็นการเปิดทางให้เราสร้างการเชื่อมต่อข้อมูลต่างๆใหม่ได้

การที่จะ “ แย้งขนบ” เพื่อสร้าง “ ความรู้ใหม่” ให้เกิดขึ้นมาได้ จำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นที่การตั้งคำถาม คุณภาพของ“คำถาม” จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดของการแสวงหาความรู้ จากนั้นก็ลองพยายามเชื่อมต่อ “ ข้อมูลปลีกๆ” ด้วยการเลือกสรร/ปรับใช้กรอบคิดทางสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ ( การเลือกสรรขึ้นอยู่กับ “คำถาม” และ“ข้อมูล”) กรอบคิดทางสังคมศาสตร์จะเป็นเสมือนแว่นตาที่ช่วยให้เรามองเห็น/จินตนาการสายสัมพันธ์ที่จะนำมาร้อยรัดข้อมูลต่างๆให้เป็นระบบที่เข้าใจได้

กระบวนการสร้าง ความรู้ใหม่ที่สำคัญได้แก่ กระการสร้าง conceptualisation ( ผมไม่รู้ว่าจะแปลเป็นภาษาไทยให้เหมาะสมอย่างไรดี หากจะแปลแบบทั่วๆไปก็ประมาณว่า การสร้างกรอบความคิดรวบยอด )

ผมอธิบายการสร้าง conceptualisation ว่าเป็นการการมองเห็นความเหมือน” “ความคล้ายคลึง” “ความแตกต่าง ซึ่งพอจะกล่าวแบบรวมๆได้ว่าเป็นการมองเห็นลักษณะร่วมของปรากฏการณ์หรือข้อมูลจำนวนมากพอที่จะ “ยกระดับ” ลักษณะร่วมนั้นให้เป็นคำอธิบายที่ครอบคลุมได้มากขึ้น เช่น นักวิชาการฝรั่งมองเห็นการจัดการ “คนบ้า” ในสมัยหนึ่งว่ามีลักษณะร่วมกันแบบหนึ่งโดยส่งลงเรื่อออกไปสู่ทะเล แต่ต่อมาการจัดการ “คนบ้า” กลายมาสู่การสร้างพื้นที่ควบคุม ก็ทำให้เขายกระดับลักษณะร่วมของการจัดการคนบ้ามาสู่การอธิบายถึงความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นจัดการคนบ้าในนามของความศิวิไลซ์ เป็นต้น

กระบวนการสร้าง “ ความรู้ใหม่” จำเป็นที่จะต้องทำกันในทุกระดับของการศึกษา โดยแบ่งให้ได้ว่าในแต่ละระดับการศึกษานั้น จำเป็นต้องเห็นหรือเชื่อมโยงอะไรในการทำความเข้าใจโลกและสังคม จากนั้นจึงเปิดโลกให้แก่ผู้เรียนในการสร้างสรรค์ความรู้ของตนเอง

ขอฝากความหวังไว้ที่ทุกท่านในการสร้างสรรค์ ความรู้ใหม่เพื่อสังคมไทยของเราครับ