จับตาตลาด 'เพย์ทีวี' โลว์คอสท์

จับตาตลาด 'เพย์ทีวี' โลว์คอสท์

​การปิดฉากผู้ประกอบการ “เพย์ทีวี” รายใหญ่อย่าง “ซีทีเอช” ที่ทุ่มเม็ดเงินลงทุนระดับหมื่นล้านในปีที่ผ่านมา

 หลังเปิดตัวให้บริการในปี 2555 จากเดิมมีเพียง “ทรูวิชั่นส์” ทำตลาดระดับชาติรายเดียวมากว่า 20 ปี

การออกจากตลาดเพย์ทีวีในเวลาเพียง 4 ปี มีคำถามว่าธุรกิจเพย์ทีวี ในประเทศไทยยังมีโอกาสไปต่ออีกหรือไม่ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดเปลี่ยนสำคัญ จากการออกอากาศ“ทีวีดิจิทัล” 22 ช่องใหม่ ในฐานะฟรีทีวี รับชมฟรีผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดิน และระบบดาวเทียมทั่วประเทศ

นอกจากนี้กลุ่มคนรุ่นใหม่ยังมีพฤติกรรมเสพสื่อและคอนเทนท์ ผ่านช่องทางออนไลน์และพร้อมจ่ายเงินเพื่อรับชมช่องพรีเมียม สะท้อนจากการทุ่มงบลงทุนซื้อลิขสิทธิ์รายการของค่ายโทรคมนาคม เพื่อรองรับการเติบโตของผู้ใช้บริการในกลุ่มนี้

หลังจากเพย์ทีวีฝุ่นตลบในปีที่ผ่านมา  เริ่มต้นศักราชใหม่ปีนี้ พบความเคลื่อนไหวเปิดตัวให้บริการเพย์ทีวีระบบดาวเทียมของ“เนกซ์สเตป”ภายใต้โครงข่าย Good TV เพย์ทีวีผ่านระบบดาวเทียม เคยู แบนด์ เดิมคือแพลตฟอร์ม “ฟรีวิวเอชดี” ที่มีฐานผู้ชมราว  1 แสนราย

กู๊ดทีวี เปิดให้บริการในวันที่ 1 มี.ค.นี้ ชูคอนเทนท์ไฮไลท์จาก “ฟ็อกซ์”ในกลุ่มบันเทิงและสารคดี ระบบเอชดี รวม 8 ช่อง ทั้ง Fox Thai, Fox Family Movie, Fox Crime , FX , Star World , Star Chinese Movie กลุ่มภาพยนตร์ ซีรีส์ รายการเรียลลิตี้โชว์ จากต่างประเทศ และช่องสารคดี Nat Geo Wild รวมทั้งช่อง Baby TV เนื้อหาการเรียนรู้ของเด็กเล็ก

กลุ่มเป้าหมายหลักของ กู๊ดทีวี คือผู้ใช้กล่องและจานดาวเทียมระบบเคยูแบนด์“ทุกจาน” ที่มีอยู่ในตลาดราว 6 ล้านจาน กลุ่มนี้สามารถสมัครเป็นสมาชิก โดยติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณที่จานดาวเทียมเดิมและเปลี่ยนเป็นกล่องเป็นกู๊ดทีวี ราคาชุดละ 2,590 บาท และกลุ่มสมัครสมาชิกใหม่พร้อมอุปกรณ์จานและกล่อง ราคา 3,590 บาท 

กลยุทธ์ทำตลาด กู๊ดทีวี เสนอแพ็คเกจเดียวราคา 300 บาทต่อเดือน ชูจุดขายช่องฟ็อกซ์ ,ช่องพิเศษจากเนกซ์สเตป และช่องฟรีทีวี ที่ให้บริการช่องเอชดีมากที่สุด ปัจจุบันอยู่ที่ 24 ช่อง มีเป้าหมายเพิ่มเป็น 50 ช่อง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับครัวเรือนที่ติดจานเล็กเคยูแบนด์ ในกรุงเทพฯ รวมทั้งพื้นที่เขตเมืองในต่างจังหวัด 

ฟาก“เคเบิลทีวีท้องถิ่น” ที่อยู่ในตลาดมาคู่กับทรูวิชั่นส์ แต่ยึดพื้นที่ตลาดต่างจังหวัด ก่อนการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลมีผู้ประกอบการอยู่ราว 300 ราย  หลังการการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อทั้งระบบ รวมทั้งเคเบิลท้องถิ่นรายเล็ก ที่ไม่มีความสามารถลงทุนระบบดิจิทัล พบว่าได้ปิดตัวลงราว 100 ราย เหลือผู้ประกอบการรายกลางและรายใหญ่เหลือราว 200 ราย  ฐานสมาชิกจาก 3 ล้านครัวเรือน ลดลงเหลือ 2 ล้านครัวเรือน

ช่วงต้นปีนี้อีกเช่นมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มเคเบิลท้องถิ่น ในนามกลุ่มสี่ห้า(45) นำโดยอดีตนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยหลายยุค  มาร่วมกันวางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนกิจการเคเบิลท้องถิ่นให้อยู่รอดในยุคนี้

ประเด็นหลักคือการ “รวมกลุ่ม” ทั้งด้านโครงข่ายส่งสัญญาณเป็นรูปแบบ One Network และการซื้อคอนเทนท์ร่วมกัน เพื่อหวังลดตุ้นทุน พร้อมเปิดตัวช่องข่าวและคอนเทนท์ท้องถิ่น “ทีซีบี” (ไทย เคเบิล บรอดแคสติ้ง) ที่ผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่นทุกรายเตรียมนำไปออนแอร์  โดยยังคงค่าบริการที่ 300 บาทต่อเดือน  

การกลับมารุกตลาดในครั้งนี้  ทั้งเนกซ์สเตปและเคเบิลท้องถิ่น ต่างเชื่อว่าธุรกิจเพย์ทีวีที่นำเสนอคอนเทนท์คุณภาพและแตกต่าง ที่สำคัญราคาจับต้องได้ ไม่ต้องจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตเพิ่ม ยังมีโอกาสทำตลาดได้