บริหารทีมงานหลากวัย

บริหารทีมงานหลากวัย

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจำนวนของพนักงานรุ่น Millennials หรือ Gen Y ในองค์กรประเทศไทยจะเพิ่มปริมาณขึ้นเกือบครึ่งของพนักงานทั้งหมด

นี่คือรายงานการสำรวจล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้วของบริษัทเอออน กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด  ที่เหลือจะเป็น Gen X ประมาณ 34% และ Baby Boomers ประมาณ 17%

ซึ่งในเวลานี้ความท้าทายในการบริหารงานของผู้บริหารองค์กรทุกระดับก็คือจะทำอย่างไรจึงจะบริหารพนักงาน Gen Y ที่ดูจะมีความแตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆมากมายให้สร้างผลงานให้ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ลาออกบ่อยๆ

สัปดาห์ที่ผ่านๆมาดิฉันก็ได้นำเสนอวิธีการไม้เด็ดต่างๆในการจูงใจและพัฒนา Gen Y ไปแล้ว สำหรับในครั้งนี้เราจะมาตอบโจทย์ยากๆกันอีกโจทย์หนึ่งด้วยกันคือ ทำอย่างไรจึงจะสร้างทีมงานที่มีพนักงานต่างวัยคือ Baby Boomers  Gen X และ Gen Y ให้ทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นและมีผลงานสูง ซึ่งเราไม่ต้องการให้คนต่างวัยนี้คิดเหมือนๆกันและทำเหมือนๆกัน แต่เราต้องการให้ทีมซึ่งมีสมาชิกที่มีความแตกต่างสามารถดึงเอาความหลากหลายของแต่ละคนมาสร้างนวัตกรรมให้ได้มากที่สุดโดยที่ไม่ทะเลาะแตกคอกันไปก่อนสร้างผลงานเสร็จ

ซาราห์ กิ๊บสัน (Sarah Gibson) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารพนักงานต่างวัยที่ได้ทำงานสำรวจศึกษาหลายชิ้นเกี่ยวกับประเด็นเรื่องนี้ได้นำเสนอข้อปฏิบัติที่น่าสนใจอยู่หลายประการที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ ในขณะเดียวกัน ดร.เจมส์ จอห์นสัน ศาสตราจารย์สาขาวิชาผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) และเป็นนักพูดที่โด่งดังระดับชาติของสหรัฐอเมริกาท่านหนึ่งได้แสดงความเห็นว่าในการบริหารองค์กรยุคสังคมหลากวัย

“ทั้งผู้จัดการและพนักงานต้องเข้าใจว่าความคิดดีๆ ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมมาจากมนุษย์ทุกคนที่มีรูปร่าง ขนาดและอายุไม่เท่ากัน เราต้องมีความเคารพให้กับผู้ที่ต่างวัยจากเราทุกคน ต้องตระหนักว่าทุกคนที่ก้าวเข้ามาในองค์กรต่างมีทักษะเฉพาะตัวที่สามารถส่งเสริมงานให้องค์กรได้”

 ดร.จอห์นสันก็ได้นำเสนอข้อคิดดีๆสำหรับเราในการสร้างทีมที่แข็งแกร่งจากพนักงานต่างวัยด้วยเช่นกัน ดิฉันจึงถือโอกาสคัดสรรข้อคิดดีๆบางประการของกิ๊บสันและดร.จอห์นสันที่คิดว่าองค์กรไทยเราน่าจะนำไปปฏิบัติหรือประยุกต์ใช้ได้ดังต่อไปนี้ค่ะ

  1. Set clear core expectations) ให้ชัดเจน มีข้อแนะนำให้ผู้บริหารเลือกนโยบายหลักที่สำคัญๆเพียง 3-4 ประการที่ต้องการให้พนักงานทุกคนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ยกตัวอย่างเช่น พนักงานทุกคนต้องมาประจำการทำหน้าที่ระหว่าง 9.00-15.00 (6 ชั่วโมงเต็ม) แต่เนื่องจากจำนวนชั่วโมงทำงานแต่ละวันของทุกคนคือ 8 ชั่วโมง พนักงานสามารถเลือกได้ว่าจะเริ่มงาน 7 โมงเช้าหรือ 8 โมงเช้าหรือเริ่ม 9 โมงและจบเวลา 5 โมงเย็นก็ได้ แต่ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ ทุกคนต้องมา วิธีการแบบนี้จะเปิดโอกาสให้พนักงานต่างวัยมีความยืดหยุ่นที่จะเลือกในสิ่งที่พวกเขาชอบได้กันทุกคน วิธีการแบบนี้สามารถนำไปใช้ได้กับเรื่องอื่นๆด้วย
  2. ก่อนจะจัดกลุ่มคนต่างวัยให้มาทำงานด้วยกัน แทนที่จะให้ลองผิดลองถูกจนเกิดความขัดแย้ง ทางที่ควรก็คือควรจัดเวลาสำหรับการปฐมนิเทศหรือฝึกอบรมให้พนักงานเข้าใจว่าคนแต่ละวัยมีแนวคิด ค่านิยม ทัศนะคติ ความคาดหวังและพฤติกรรมเป็นอย่างไรเพื่อให้ทราบถึงความแตกต่างนี้ซึ่งแต่ละคนก็จะมีมากหรือน้อยต่างกัน จากนั้นก็มีการให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวกับเพื่อนร่วมงานต่างวัยเวลาต้องประชุมงานระดมความคิดที่แตกต่างกันตลอดจนทักษะในการบริหารความขัดแย้ง (เพราะมันคงเกิดขึ้นอยู่แล้ว เป็นเรื่องธรรมดา)
  3. ข้อนี้เป็นหลักธรรมดาของการทำงานเป็นทีม ถ้ามีประเด็นที่ไม่เข้าใจกันขัดแย้งกันจนเกิดความขุ่นเคือง ต้องรีบมาพูดคุยกัน ทั้งนี้หลักคิดในการแก้ปัญหาอย่าไปเน้นประเด็นเรื่องอายุให้มากจนเกินไป แต่ให้เน้นเรื่องที่คิดต่าง เน้นเรื่องของหลักการเหตุผล แต่อย่าไปคิดไปพูดว่าเพราะอายุหรือวัยทำให้คิดต่าง เพราะความจริงแล้วต่อให้อายุเท่าๆกันคนเราก็คิดต่างกันอยู่ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องไปเน้นไปถ่างช่องว่างเรื่องวัยให้มันขยายออกไปโดยไม่จำเป็น
  4. ผู้นำทีมพนักงานต่างวัยต้องระวังตนเองอย่าคิดหรือเชื่อว่าตนเองแก่กว่า เคยผ่านวัยเด็กมาแล้ว ดังนั้นย่อมเข้าใจว่าคนหนุ่มสาว Gen Y คิดและต้องการอะไร หรือเป็นเพราะตนเองอยู่ในวัย Gen X เลยคิดว่าตนเองย่อมเข้าใจคน Gen X ทะลุปรุโปร่ง เลิกคิดแบบนี้ได้เลย แต่ให้เปิดใจ เปิดหูฟัง เปิดตาดู แล้วประมวลข้อมูลที่เห็นต่อหน้าเพื่อจะวิเคราะห์ว่าเรากำลังได้ยินเรื่องอะไร แล้วมันมีความหมายอย่างไร การเปิดใจฟังคนต่างวัยหรือวัยเดียวกันพูดแสดงความเห็นของท่านจะได้ไม่มีอคติ ทำให้การรับฟังมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้การสื่อสารในกลุ่มมีประสิทธิภาพตามขึ้นไปด้วย
  5. การที่แต่ละคนได้รับเลือกให้มาทำงานร่วมกันในโครงการใดโครงการหนึ่งก็เพราะแต่ละคนมีความรู้และทักษะเฉพาะตัวที่มีประโยชน์ ดังนั้นผู้นำทีมควรแนะนำสมาชิกให้รู้จักจุดเด่นของแต่ละคนเพื่อที่เวลาแบ่งงานให้ทำจะได้ลดประเด็นเรื่องว่าใครมีอาวุโสกว่าควรได้งานไหน แต่จะเน้นเรื่องความสามารถมากกว่า ทุกคนจะได้มีความเคารพยอมรับให้กันและกัน ผู้นำทีมหลายคนพลาดที่จะแนะนำจุดเด่นของสมาชิกทีมตอนเปิดตัวทีมทำงาน แต่ปล่อยให้สมาชิกทำความรู้จักกันเองภายหลัง ซึ่งบางทีก็สายไปที่จะทำให้สมาชิกรู้สึกดีๆกับตัวเอง และคนอื่นตั้งแต่เริ่มงาน
  6. ข้อนี้ดิฉันขอเสริมขึ้นมาสำหรับองค์กรไทยและองค์กรในสังคมเอเชียโดยเฉพาะ การทำงานกับคนต่างวัยโดยเฉพาะกับผู้ที่สูงวัยกว่า อย่างไรเสียเรื่องของการให้ความเคารพและให้เกียรติก็เป็นสิ่งที่ผู้สูงวัยกว่าต้องการอยู่ไม่มากก็น้อย องค์กรและผู้นำทีมจึงควรเน้นว่าหนึ่งในนโยบายที่เป็นค่านิยมในการทำงานก็คือการปฏิบัติต่อกันด้วยมารยาทที่สุภาพ อีกทั้งการมีอารมณ์ขันก็จะช่วยเสริมบรรยากาศการทำงานให้ผ่อนคลายลดความตึงเครียด และเวลาเกิดความขัดแย้งกันบ้าง อารมณ์ขันก็จะช่วยได้มากในการลดความขุ่นเคือง
  7. ข้อนี้ดิฉันก็ขอเสริมขึ้นจากประสบการณ์ตนเองเช่นกัน หากองค์กรใดต้องการให้พนักงานทำงานเป็นทีม ประเด็นที่ใช้ในการประเมินผลงานก็ต้องบรรจุเรื่องความสามารถในการทำงานเป็นทีมเอาไว้ให้มากหน่อย เช่น เวลาและคุณภาพในการทำงานในฐานะสมาชิกทีม ความเสียสละ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น ถ้าไปเน้นผลงานส่วนบุคคลมันก็จะไม่ช่วยกำกับให้พนักงานพยายามทำงานเป็นทีม

                มี 7 ประการนี้เองที่จะช่วยให้คนต่างวัยทำงานเป็นทีมเดียวกันได้โดยนำจุดต่างที่ดีๆของแต่ละคนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดค่ะ