อาสาสมัครเพื่อส่งเสริมการรักการอ่านหนังสือ

อาสาสมัครเพื่อส่งเสริมการรักการอ่านหนังสือ

มนุษย์เราทุกคนต้องเรียนรู้ ปรับตัวเพื่อการอยู่รอดและมีชีวิตที่น่าพอใจในทางใดทางหนึ่ง คนที่ใฝ่รู้ รักการอ่าน จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ดี

เด็กที่รักการอ่านหนังสือจะเป็นคนฉลาด ดูแลและพัฒนาตัวเองได้ดีกว่าคนที่ไม่อ่านหนังสือ ประเทศที่มีคนรักการอ่านหนังสือมาก จะพัฒนาการศึกษาและเศรษฐกิจสังคมได้ดีกว่าประเทศที่คนไม่ค่อยอ่านหนังสือ อย่างยุโรปและญี่ปุ่นที่พัฒนาเศรษฐกิจสังคมได้ก่อนและมากกว่าไทย เพราะเขาส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่านอย่างจริงจังมานานแล้ว และอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ฉลาดและสร้างสรรค์

“หนังสือคือยาสำหรับจิตใจ” นี่คือคำจารึกที่หน้าห้องสมุดเมืองอเล็กซานเดรียในยุคโบราณ สุขภาวะทางใจหรือสุขภาวะทางปัญญาสำคัญพอๆ กับสุขภาวะทางกาย เราน่าจะจัดตั้งชมรมอาสาสมัครเพื่อส่งเสริมการรักการอ่านหนังสือคล้ายกับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) แต่รัฐบาลไทยคงคิดเรื่องนี้ไม่เป็น ประชาชนต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำไปจากกลุ่มเล็กๆ เท่าที่จะทำได้ก่อน ช่วงแรกอาจใช้สื่อออนไลน์เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความคิดและรวบรวมผู้สนใจและแนวคิดในการทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการรักการอ่านหนังสือ และต่อไปน่าจะมีนัดพบปะประชุมพูดคุยกันแบบเห็นหน้า ซึ่งน่าจะนำไปสู่การทำกิจกรรมที่ได้ผลดีกว่าแค่การสื่อสารกันทางออนไลน์

คนที่รักการอ่านหนังสือเป็นคนไทยกลุ่มน้อยที่โชคดี ที่พวกเขาและเธอสามารถแหกคอกระบบการศึกษาไทยที่เน้นการสอนตามตำราให้ท่องจำไปสอบออกไปได้ คนกลุ่มนี้จะเข้าใจประโยชน์ของการอ่านและมักจะส่งเสริมให้ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ลูกหลาน รักการอ่านหนังสืออยู่บ้างแล้ว เพียงแต่พวกเขาอาจทำส่วนตัวแบบเงียบๆ เท่าที่จะทำได้ หรือบางคนก็อาจจะปลีกตัวเป็นนักอ่านอยู่คนเดียว

แต่ความสุขที่แท้จริงควรจะแบ่งปันกัน และเราไม่อาจเจริญงอกงามตามลำพังได้ ถ้าเพื่อนร่วมชาติของเรายังล้าหลัง ดังนั้น คนที่รักการอ่านและเห็นความสำคัญของการเหล่านี้ควรพยายามจัดตั้งรวมกลุ่มคนที่ชอบและคิดคล้ายกันมาทำกิจกรรมส่งเสริมให้คนอื่นๆ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนได้รักการอ่านเพิ่มขึ้น

ถ้าคนที่รักการอ่าน เชื่อว่าการอ่านหนังสือทำให้เราเพลิดเพลิน มีความสุข เราควรแบ่งปันความสุขชนิดนี้ให้กับคนอื่นๆ ด้วย อย่างที่ ชาร์ล เดอ มองเตสกิเออร์ นักปรัชญาการเมืองฝรั่งเศส เคยกล่าวไว้อย่างคมคายว่า “ความสุขจอมปลอม ทำให้คนเครียดและหยิ่ง ความสุขชนิดนั้นไม่สื่อสารถึงใคร ความสุขที่แท้จริงทำให้คนมีเมตตากรุณาและเหตุผล และความสุขชนิดนี้จะแบ่งปันให้คนอื่นอยู่เสมอ”

คนที่รักการอ่านหนังสือน่าจะเริ่มจับกลุ่มและทำกิจกรรมกันเอง โดยไม่ต้องรอศูนย์กลาง เช่น คุยกันเรื่องหนังสือ จัดการอ่านบทกวีออกเสียง รวมกลุ่มกันในชุมชนหรือจังหวัดต่างๆ ช่วยกันสำรวจว่ามีโรงเรียนไหน ชุมชนไหน ห้องสมุดไหน ที่มีความสนใจการอ่านหนังสือและยังต้องการหนังสือดีๆ ที่เราจะสามารถช่วยกันรับบริจาคและหาทางส่งหนังสือไปให้พวกเขา หรือไปช่วยจัดกิจกรรมให้เขา เช่น การเล่า/อ่านนิทาน ฯลฯ การจะส่งเสริมห้องสมุดและการอ่านให้ได้ผลนั้นข้อสำคัญคือต้องสรรหาสนับสนุนให้มีครู/บรรณารักษ์หรือคนดูแลที่สนใจ เอาการเอางานจริง ที่ผ่านมาทั้งหน่อยราชการและองค์กรต่างๆ มักจะชอบทำเป็นโครงการแบบลงทุนสร้างอาคารห้องสมุดที่ดูดี มีงานเปิดใหญ่โต เสร็จแล้วหลังจากนั้นไม่ค่อยมีหนังสือดีและไม่มีคนตั้งใจดูแล ทำให้มีการใช้งานจริงๆ น้อย

มูลนิธิเพื่อนหนังสือทำกิจกรรมปล่อยหนังสือหรือการแลกเปลี่ยนแบ่งปันหนังสือกันอ่านหลายครั้งในหลายปีที่ผ่านมา มีคนสนใจทั้งบริจาคหนังสือและหาหนังสือไปอ่านพอสมควร แต่การจัดกิจกรรมแบบนี้ต้องมีที่จัดเก็บหนังสือ ต้องมีคนช่วยคัดเลือก ต้องมีค่าใช้จ่ายในการขนส่ง/จัดส่ง และการประชาสัมพันธ์จัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งรวมแล้วคือต้องมีคนทำงานและงบประมาณพอสมควร ซึ่งยังหาได้ยาก หลายคนชอบบริจาคหนังสือที่เขาอาจไม่อ่านแล้วมากกว่าที่จะบริจาคเงินเป็นค่าใช้จ่ายกิจกรรมและเพื่อซื้อหนังสือที่น่าสนใจส่งให้ห้องสมุดที่มีบรรณารักษ์เอาใจใส่ มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคมก็มีปัญหาพิมพ์หนังสือแปลดีๆ ออกมาสิบกว่าเล่มแต่ขายได้น้อย ไม่มีกำลังที่จะพิมพ์เล่มใหม่หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านต่อ

นี่คือเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำต่อไป คนรักหนังสือที่อยู่ในจังหวัด อำเภอ หรือชุมชนเดียวกัน อาจจัดตั้งเป็นกลุ่มชมรมและคิดทำกิจกรรมกันในแต่ละพื้นที่ และมูลนิธิเพื่อนหนังสืออาจจะช่วยสนับสนุนส่งหนังสือไปให้เท่าที่จะทำได้ ปัจจุบันมีคนรักหนังสือบางคนใช้บ้านตนเองทำเป็นห้องสมุดเพื่อคนอื่นก็มี การทำกิจกรรมคนเดียวอาจจะยากลำบากหน่อย ถ้ามีกลุ่มอาสาสมัครมาช่วยกันทำก็อาจไปได้ต่อเนื่องได้มากกว่า

การจัดกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมการรักการอ่านน่าจะคิดทำกันได้หลายอย่าง เช่น จัดคุยกันเรื่องวรรณกรรม เชิญนักเขียนมาคุยหรือนัดคุยกันเองเรื่องหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ ถ้าใครทำร้านกาแฟที่ส่งเสริมการอ่าน การคุยเรื่องหนังสือแบบนัดเจอกันเดือนละครั้งได้ก็ดี ถ้าเรามีกลุ่มหนุ่มสาวเพียงแค่กลุ่มละไม่กี่คนฝึกการอ่านออกเสียงให้ดี มีอารมณ์คล้ายๆ การแสดงแล้ว ยืนอ่านบทกวี หรืออ่านบางฉากจากเรื่องสั้น เรื่องยาว ในมหาวิทยาลัยหรือที่สาธารณะที่มีคนผ่านไปมาเยอะ คล้ายกับการแสดงละครข้างถนนแบบที่ประเทศตะวันตกเขาทำกัน จะเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นให้คนสนใจฟังและสนใจอ่านหนังสือได้วิธีหนึ่ง

ในสมัยก่อนและในประเทศอื่นในปัจจุบันมีกลุ่มคนที่ยังนิยมการอ่านหนังสือออกเสียงกัน ทั้งในครอบครัว ในสโมสร ร้านกาแฟต่างๆ บางแห่งเชิญนักเขียนมาอ่านด้วย ที่ยุโรปและอเมริกาเหนือสามารถก้าวจากยุคมืดที่คนมีความล้าหลังงมงาย (เชื่อเรื่องโชคลางของขลัง, แม่มด ฯลฯ) มาสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ยุคทำให้โลกสว่างด้วยเหตุผล การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์, ความรู้, เศรษฐกิจ และประชาธิปไตยมาได้ เพราะประชาชนยยุโรปได้อ่านหนังสือดีๆ มากขึ้นและฉลาดขึ้น

ตอนนี้ผมทำกิจกรรมอยู่กับทั้งมูลนิธิเพื่อนหนังสือและมูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม ซึ่งพิมพ์หนังสือแปลคลาสสิกออกมาประกาศขายอยู่ 17 ปก ผู้สนใจหาซื้อได้ในราคามีส่วนลดที่เฟซบุ๊กของมูลนิธิ หรือโทร/ไลน์ผู้จัดการมูลนิธิฯ 094-2037475 เรามีความคิดอยากทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอยู่มาก แต่มีกำลังคนและงบประมาณจำกัดมาก