‘จอห์น เทย์เลอร์’ เต็งหนึ่ง ประธานเฟด?

 ‘จอห์น เทย์เลอร์’ เต็งหนึ่ง ประธานเฟด?

ในขณะที่บ้านเรา ช่วงเดือนแห่งความรัก มีข่าวถกเถียงกันว่า ‘เงินคงคลัง’ ของรัฐบาลมี

น้อยเกินไปหรือเปล่า ที่อเมริกาก็มีการถกเถียงกันแบบสนุกไม่แพ้กันว่า ‘การขึ้นหรือลงอัตราดอกเบี้ย’ ควรจะใช้หลักเกณฑ์ที่เป็นกฎตายตัวในการตัดสินใจขึ้นหรือลงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือใช้วิจารณญาณของผู้เชี่ยวชาญหลังจากดูทุกๆปัจจัยแล้วค่อยตัดสินใจในการขยับดอกเบี้ยจะดีกว่ากัน

แท้จริงแล้ว ประเด็นนี้ไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใด มีการถกเถียงกันมากกว่า 40 ปีมาแล้ว แต่มาเป็นเรื่องฮ็อตขึ้นมาก็เพราะในการให้การต่อสมาชิกรัฐสภาของประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด นางเจนเน็ต เยลเลน ดูจะเน้นกล่าวติงว่าการใช้แบบกฎตายตัวว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากกว่าแบบถึงพริกถึงขิง

โดยเธอกล่าวต่อรัฐสภาว่า กฎที่ชื่อว่า Taylor Rule หรือกฎของเทย์เลอร์ ซึ่งต้องการให้ตั้งระดับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเมื่อจีดีพีเติบโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ยและเมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นแบบที่กำหนดขนาดเป็นสูตรคณิตศาสตร์ จะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในตอนนี้อยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 3.5-4 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในตอนนี้ประมาณร้อยละ 3 รวมถึงยังสูงกว่าคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในอีก 3 ปีข้างหน้าของสมาชิกเฟดทุกท่านอีกด้วย

ซึ่งการตอบโต้แบบตรงๆ ไม่ใช่สไตล์ของนางเยลเลนที่เคยเห็นมา หลายฝ่ายมองว่าอาจเป็นไปได้ว่ารัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งสัญญาณให้เฟดมาพิจารณาแนวทางดังกล่าวในการดำเนินนโยบายการเงินบ้าง ทำให้เธอต้องเปิดหน้าออกมาโจมตี นายจอห์น เทย์เลอร์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ตั้งสูตรการตั้งอัตราดอกเบี้ยแบบตายตัวดังกล่าว

จุดที่เพิ่มน้ำหนักว่ามีแรงกดดันจากนายทรัมป์ต่อเฟดในเรื่องนี้ เห็นจะเป็นการที่นายแสตนลีย์ ฟิชเชอร์ รองประธานเฟด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ออกโรงแบบเว้ากันซื่อๆว่าหากเชื่อกฎของเทย์เลอร์ ป่านนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะสูงปาเข้าไปถึงราวร้อยละ 4 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังรูปที่ 2 ซึ่งมาจากนักวิจัยของเฟดในปี 2011 หากเป็นเช่นนี้ เศรษฐกิจสหรัฐคงย่ำแย่ไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตซับไพร์มเหมือนกับที่ยูโรเป็นอยู่จนนายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรปยังต้องคงอัตราดอกเบี้ยติดลบและมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ รวมถึงคนอเมริกันยังคงตกงานเป็นทิวแถว ไม่ใช่อัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบหลายสิบปีเหมือนอย่างตอนนี้

หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าการที่เฟดพาเหรดออกโรงมาโจมตีกฎของเทย์เลอร์แบบไม่หยุด เนื่องจากกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยชั้นนำสหรัฐสายเชิงปริมาณระดับหัวกะทิ อาทิ ลาร์ ปีเตอร์ แฮนสัน โรเบิร์ต ลูคัส และ เอ็ดเวิร์ด เพรสคอท โดยมีนายจอห์น เทยเลอร์ เป็นแกนนำ คาดว่าได้เข้าไปจับเข่าคุยกับทีมของนายทรัมป์ เพื่อแนะนำให้ใช้สูตรตายตัวอย่างกฎของเทย์เลอร์สำหรับแนวทางการกำหนดอัตราดอกเบี้ยว่า หากจะทำให้เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจต้องมีความโปร่งใส นั่นคือการตั้งให้เป็นสูตรที่ทุกคนสามารถคำนวณได้ ตัวอย่างคือ กฎของเทย์เลอร์ รวมถึงท้าให้เฟดเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการใช้สูตรนี้กับที่ทำอยู่ในปัจจุบันอีกต่างหาก

อีกทั้งแนะนำประธานาธิบดีทรัมป์และทีมงานให้สามารถตรวจสอบเฟดได้เหมือนกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ ซึ่งในตอนนี้ไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ ยังอยากให้มีความชัดเจนมากขึ้นในการให้ความช่วยเหลือกับสถาบันการเงินที่มีปัญหา เนื่องจากความโปร่งใสดังกล่าว จะทำให้รัฐบาลไม่สามารถบังคับให้เฟดเพิ่มอัตราเงินเฟ้อเพื่อลดภาระหนี้จากการขาดดุลงบประมาณได้อีกต่างหาก ซึ่งทีมเศรษฐกิจของนายทรัมป์ก็ดูจะคล้อยตามอยู่ไม่น้อย

มาถึงตรงนี้ ผมคาดว่าไม่เกินเลยความจริงไปนักที่จะประเมินว่า นายจอห์น เทย์เลอร์ ถือว่าเป็นเต็งหนึ่งในบรรดานักวิชาการที่จะขึ้นมาเป็นประธานเฟดคนต่อไป หากว่ามาจากสายนี้จริง