นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐไปถึงไหนแล้ว?

นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐไปถึงไหนแล้ว?

นายโดนัล ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐมากว่า 1 เดือนแล้ว และใน 3 เดือน

ตั้งแต่ตลาดหุ้นรับรู้ผลการเลือกตั้ง ราคาหุ้นสหรัฐก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 10% แล้ว เพราะรับข่าวว่าจะมีการกระตุ้นและปฏิรูปเศรษฐกิจสหรัฐไปในทางที่ดีและเศรษฐกิจโดยรวม ตลอดจนผลประกอบการของภาคธุรกิจก็ขยายตัวดีเกินคาดด้วย แต่ในขณะเดียวกัน นโยบายของนายทรัมป์ในเชิงลบคือการสร้างความแตกแยก (ซึ่งทำให้ยังมีการเดินขบวนต่อต้านนายทรัมป์จนทุกวันนี้) การกีดกันการเข้ามาในประเทศสหรัฐของคนมุสลิมและนโยบายกีดกันการค้านั้นตลาดพยายามมองข้ามไปว่าจะไม่รุนแรงจนทำให้เกิดผลในทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ กล่าวโดยสรุปคือกำลังตั้งหน้าตั้งตารอข่าวดีและปิดรับข่าวร้ายไปก่อน

ล่าสุดนั้นประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวกับซีอีโอของบริษัทชั้นนำของอุตสาหกรรมค้าปลีกที่มาเข้าพบที่ทำเนียบขาวว่าจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (massive package) ที่นักธุรกิจจะพึงพอใจ ถูกนำเสนอในระยะเวลาอันใกล้นี้ (not too distant future) แต่หากพิจาณาจากสถิติในอดีตนั้น หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ประเมินว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์นั้นเริ่มล่าช้าไปแล้ว กล่าวคือ

เมื่อนายโรนัล รีแกน ได้รับเลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1981 นั้น เขานำเสนอแผนการลดภาษีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ (และในเทอม 2 ก็นำเสนอแผนปฏิรูปภาษีในปี 1984 แต่กว่าจะออกเป็นกฎหมายก็ต้องรอถึงปี 1986

เมื่อนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อปี 2001 เขานำเสนอแผนการลดภาษีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์

เมื่อนายบารัก โอบามาเข้ารับตำแหน่งในปี 2009 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่สภาวะวิกฤติ เขาและรัฐสภาจึงต้องรีบเร่งออกกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ ซึ่งผ่านรัฐสภาออกมาให้โอบามาลงนามเป็นผลทางปฏิบัติในวันที่ 17 กุมภาพันธ์

มาจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์แล้วประธานาธิบดีทรัมป์ยังมีแต่ราคาคุย ไม่มีรายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพราะเหตุผลบางประการดังนี้

คณะรัฐมนตรีของทรัมป์ (15คน) นั้น ได้รังความเห็นชอบจากวุฒิสภาเพียง 2/3 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ในขณะที่ประธานาธิบดีบุช (พรรครีพับลิกันเหมือนกัน) มีคณะรัฐมนตรีครบ 15 คนตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์

ความเห็นของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่ลงตัว ซึ่งผมขอนำมาขยายความในครั้งนี้ แต่สำหรับผู้ที่อยากจะประเมินว่าจะเห็นข้อเสนอที่ชัดเจนเมื่อใดนั้น ผมประเมินว่าน่าจะต้องมีรายละเอียดสำคัญๆ ที่ตกลงกันได้ประกาศออกมาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นกำหนดการที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะต้องกล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภา (ต่อประชาชน) เพื่อประเมินสภาวะของบ้านเมืองประจำปีที่เรียกกันว่า State of the Union Address

ในความเห็นของผมนั้น ประเด็นหลัง (ปัญหาในเชิงของสาระ) สำคัญกว่าประเด็นแรก (การตั้งคณะรัฐมนตรีไม่ได้ครบถ้วน) ทั้งนี้จากข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้พอจะสรุปได้ว่าสถานะปัจจุบันคือ

เรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการลดภาษีนิติบุคคลและภาษีบุคคล ตลอดจนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เป็นเรื่องที่ต้องออกกฎหมายใหม่จึงเป็นเรื่องที่ต้องผ่านสภา ไม่ใช่การเซ็นคำสั่งประธานาธิบดี ดังนั้นจึงจะต้องใช้เวลานานอย่างน้อยอีก 6 เดือน (ประมาณไตรมาส 3) เพราะทั้งประธานาธิบดีทรัมป์และรัฐสภา (ซึ่งเสียงข้างมากทั้งสองสภาเป็นของพรรครีพับลิกัน) เห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องยกเลิกระบบประกันสุขภาพของประธานาธิบดีโอบามา (หรือ Affordable Care Act, ACA) และจัดตั้งระบบประกันสุขภาพใหม่ทั้งหมดให้สำเร็จเสร็จสิ้นไปก่อน จึงจะหันมาผ่านกฎหมายกระตุ้นและปฏิรูปเศรษฐกิจ (ซึ่งการออกกฎหมายมาแทนที่ ACA นั้นอาจยืดเยื้อเป็นปีก็ได้)

ฝ่ายต่างๆ ยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับการลดภาษีรายได้นิติบุคคลจาก 35% เป็น 20% (ข้อเสนอของประธานสภาล่าง Paul Ryan) หรือเป็น15% (ข้อเสนอของทรัมป์) และที่สำคัญคือการขาดรายได้ดังกล่าวนั้นจะชดเชยอย่างไร โดยที่ Paul Ryan มีจุดยืนชัดเจนว่าส่วนหนึ่งจะได้มาจากการเก็บภาษีสินค้านำเข้าทุกประเภท (Border Adjustment Tax, BAT) ซึ่งจะทำให้มีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นปีละ 100,000 ล้านเหรียญ เป็นการลดทอนการขาดดุลงบประมาณไปได้ประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ทรัมป์ยังไม่แสดงท่าทียอมรับเงื่อนไขดังกล่าว ในขณะที่ภายในทำเนียบขาวเองก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน กล่าวคือนาย Steve Bannon (Chief Strategist) สนับสนุน BAT แต่นาย Gary Cohn ประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีต่อต้าน BAT

เรื่อง BAT นี้สร้างความแตกแยกพอสมควร ทั้งในรัฐสภาและในหมู่นักธุรกิจ เพราะแม้;jkนาย Paul Ryan และนาย Kevin Brady ประธานคณะกรรมาธิการ Ways and Means (ซึ่งรับผิดชอบกฎหมายการค้าและภาษีทั้งหมด) จะผลักดัน BAT อย่างเต็มที่ แต่ในวุมิสภานั้น็มีวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันประมาณ 5-6 คนคัดค้าน BAT อย่างออกนอกหน้าเช่นกัน แปลว่าพรรครีพับลิกันขาดเสียงข้างมากในวุฒิสภาที่จะผ่านกฎหมายออกมา ในทำนองเดียวกันภาคธุรกิจก็แตกแยกกันอย่างรุนแรง โดยบริษัทยักษ์ด้านค้าปลีกและพลังงาน (ซึ่งนำน้ำมันดิบเข้ามากลั่น) คัดค้าน BAT แต่อุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทรถยนต์สนับสนุน BAT อย่างแข็งขัน