“อยากให้คนดีทำหน้าที่”

  “อยากให้คนดีทำหน้าที่”

วันนี้ 27 กุมภาพันธ์ ซึ่งก็เลยกำหนดสามสิบวันตั้งแต่มีข่าวการให้สินบนโดยบริษัทโรลส์-ลอยซ์

ประเทศอังกฤษ กับรัฐวิสาหกิจไทยสามแห่งในการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก จนตัวรัฐวิสาหกิจที่ถูกกล่าวถึงว่ารับสินบน หน่วยงานปราบคอร์รัปชันของประเทศ รวมถึงรัฐบาลเองในฐานะผู้กำกับดูแลถึงต้องออกข่าวว่าจะสอบสวนเรื่องสินบนนี้โดยเร็ว กำหนดเงื่อนเวลาไว้สามสิบวันเพื่อหาคนผิดมาลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง แต่เท่าที่เช็คข่าวเร็วๆเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันส่งต้นฉบับของบทความนี้ ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดแถลงอะไรหรือพูดอะไรในเรื่องนี้ ทุกคนในภาครัฐที่รับผิดชอบเรื่องนี้ดูจะเงียบกันหมด จนคอลัมนิสต์หลายคนเริ่มแสดงความเป็นห่วงว่า เรื่องนี้อาจเป็นมวยล้ม เงียบหายไปแบบไทยๆโดยไม่มีการดำเนินการอะไรจริงจัง ผมเองในฐานะเลขาธิการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตยังหวังว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างเงียบๆ เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องให้กับประเทศ เพราะคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข แต่ถ้าข้อเท็จจริงออกมาว่าผมผิด คือ ไม่มีการดำเนินการเรื่องนี้จริง ผมคิดว่าเรื่องนี้คงไม่จบแน่นอนและรัฐบาลคงหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นในองค์กรภายใต้สังกัดของรัฐบาล จึงเป็นภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ต้องทำหน้าที่

การเอาจริงกับการปราบปรามคอร์รัปชันขณะนี้ เป็นความท้าทายของหลายประเทศในเอเซียที่หลักฐานและข้อมูลจากต่างประเทศชี้ว่า การทุจริตคอร์รัปชันได้เกิดขึ้นในหน่วยงานรัฐในประเทศของตน รอแต่เพียงว่า รัฐบาลและองค์กรปราบปรามคอร์รัปชันในประเทศนั้นๆจะดำเนินการสอบสวนจับกุมหรือไม่อย่างไร เช่น กรณีของไทย อินโดนีเซีย รวมถึงกรณี 1MDB ของมาเลเซียที่พัวพันถึงผู้นำสูงสุด สำหรับเกาหลีใต้ ที่ผู้นำสูงสุดคือ ประธานาธิบดีกำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวนข้อหาทุจริตคอร์รัปชันจากการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศ ก็เป็นตัวอย่างของการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างนักการเมืองกับบริษัทธุรกิจ ที่ฝ่ายการเมืองใช้อำนาจการเมืองช่วยเหลือปกป้องหรือสร้างความได้เปรียบให้กับนักธุรกิจที่เข้าถึงหรือใกล้ชิดตน อีกประเทศหนึ่งที่เป็นข่าวก็คือ จีน ที่ผู้นำแสดงความพยายามอย่างมากที่จะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาด จริงจัง แม้จะถูกวิจารณ์ว่า ใช้การปราบปรามส่วนหนึ่งเพื่อแก้คอร์รัปชัน แต่อีกส่วนหนึ่งเพื่อผลทางการเมือง คือ ใช้การปราบคอร์รัปชันสยบกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม

สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้ตลอด เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทำไมไม่มีการจับกุมหรือดำเนินการตามกฎหมาย และสำหรับประเทศไทยก็มีคำถามว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ในความเห็นของผม สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศเราเป็นอย่างนี้ และดูเหมือนจะแก้ยากก็เพราะ

หนึ่ง คอร์รัปชันได้กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจการเมือง (political economy) จากที่ผลประโยชน์เงินๆ ทองๆ ที่มาจากการใช้อำนาจรัฐนั้นมีมากมหาศาล ทำให้คนอยากมีอำนาจไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ที่เกิดจากทรัพย์สินต่างๆ ที่รัฐมีอยู่หรือเป็นเจ้าของที่สามารถสร้างความร่ำรวยให้แก่ใครก็ได้ที่ได้สิทธิในการหารายได้จากทรัพย์สินนั้น เช่น กรณีการให้สัมปทานต่างๆ หรือผลประโยชน์จากการทุจริตคอร์รัปชัน งบประมาณของภาครัฐ ทั้งงบกลาง งบท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ ทั้งการจัดซื้อจัดจ้าง การลงทุน และการสร้างนโยบายใหม่ๆขึ้นมาเพื่อทุจริต ทำได้ทั้งทวนน้ำและตามน้ำอย่างที่เป็นข่าว หรือจากการใช้อำนาจบริหารของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมายหาประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ดุลยพินิจที่มากับตำแหน่งหน้าที่ หรือไม่บังคับใช้กฎหมายโดยพนักงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้รักษากฎหมาย คือไม่จับกุมผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย เพื่อแลกกับเงินหรือส่วย นี่คือ พื้นที่ผลประโยชน์ที่เปิดให้ผู้ที่มีอำนาจสามารถสร้างความร่ำรวยให้กับตนเองได้โดยการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้คนส่วนหนึ่งจึงอยากมีอำนาจมาก แย่งกันเป็นรัฐบาล แย่งกันมีตำแหน่งในระบบราชการเพื่อหาประโยชน์

สอง คอร์รัปชันเกิดขึ้นเพราะมีแรงจูงใจ และแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้คอร์รัปชันยิ่งวันยิ่งโตในบ้านเรา ก็คือ ระบบการบังคับใช้กฎหมายที่จะจับกุมปราบปรามผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาดจริงจังนั้นอ่อนแอมาก ไม่ค่อยมีการดำเนินการจับกุมจริงจัง โดยเฉพาะถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องมีตำแหน่งหน้าที่ในสังคม ที่เป็นอย่างนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะผู้รักษากฎหมายอาจเป็นคนที่ได้ประโยชน์จากการทุจริตคอร์รัปชัน หรือเป็นคนคอร์รัปชันเสียเอง อีกส่วนหนึ่งก็มาจากระบบอุปถัมภ์ที่พร้อมช่วยเหลือปกป้องผู้กระทำผิด ในบ้านเราอิทธิพลของระบบอุปถัมภ์นั้นทรงพลังมาก ใช้กันแบบไม่มีหิริโอตัปปะ ทำให้การตรวจสอบ สอบสวน โดยเฉพาะการตรวจสอบข้าราชการโดยข้าราชการ มักใช้เวลามาก ดูไม่จริงจัง คนที่ทุจริตคอร์รัปชันจึงไม่กลัว บางคนยิ่งฮึกเหิม การทุจริตคอร์รัปชันจึงรุนแรงมากขึ้นๆ เพราะความเสี่ยงที่จะถูกจับหรือดำเนินการตามกฎหมายจากการทุจริตคอร์รัปชันนั้นมีน้อยมาก

สาม มีบริษัทเอกชนที่พร้อมจ่ายเงิน พร้อมให้สินบน หรือพร้อมมีส่วนร่วมในกระบวนการทุจริต โดยบริษัทเหล่านี้มองว่าเป็นวิธีการทำมาหากินที่ต้องมีการลงทุนเพื่อวิ่งเต้นให้ได้งาน หรือเพื่อปกป้องโอกาสทางธุรกิจของตน และที่บริษัทเหล่านี้กล้าทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็เพราะมีแรงจูงใจจากระบบการตรวจสอบเอาผิดผู้ทุจริตคอร์รัปชันในบ้านเราที่อ่อนแอ นอกจากนั้น บริษัทเหล่านี้ก็มั่นใจว่าระบบอุปถัมภ์ในวงราชการและการเมืองที่ร่วมทุจริตคอร์รัปชันกันมา หรือได้ประโยชน์จากตนเสมอมา จะช่วยดูแลปกป้องให้พ้นจากการตรวจสอบจับกุม สิ่งเหล่านี้ ทำให้บริษัทเอกชนที่ทุจริตจึงไม่กลัว ยิ่งกล้าคิด กล้าโกง จนเป็นข้อเท็จจริงว่า ถ้าไม่มีบริษัทเอกชนที่โกง คอร์รัปชันจะไม่เกิดขึ้น

นี่คือกลไกเศรษฐกิจการเมืองที่ทำให้การทุจริตคอร์รัปชันในบ้านเราเกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง เหมือนไม่มีใครกล้าแตะต้อง ทำให้คนเลวที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่านักการเมืองหรือผู้มีอำนาจทางการเมืองที่ทุจริต ข้าราชการประจำที่ทุจริต พ่อค้าและลิ่วล้อต่างๆ เช่น ตัวกลางหรือนายหน้าที่ทุจริตหรือที่ร่วมอยู่ในกระบวนการทุจริต บุคคลเหล่านี้ดูจะมีความสุขมากกับสภาพปัจจุบันของปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของประเทศ ถือเป็นดุลยภาพของการทุจริตคอร์รัปชันที่สามารถโกงกินบ้านเมืองได้อย่างเป็นระบบโดยไม่มีการจับกุมลงโทษ การทุจริตคอร์รัปชันเลยเติบโตจนเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ พูดได้ว่า เงินเลวที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชันกำลังไล่เงินดีที่มาจากการทำธุรกิจตามกฎหมายจนไม่มีที่ยืน ทำให้ไม่มีใครอยากลงทุน อยากทำธุรกิจ

ด้วยเหตุนี้ คำถามที่คนไทยทุกคนควรถามตัวเองคือ ถ้าระบบของเราเป็นแบบนี้ เราจะหวังให้ระบบที่มีปัญหามากอย่างนี้ แก้ไขตนเองให้ดีขึ้นได้หรือไม่ แต่ ณ จุดนี้ อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น ผมยังหวังว่าความถูกต้องจะเกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา จึงขอเชียร์คนดีของประเทศที่มีอำนาจ ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่กำลังทำลายประเทศของเราขณะนี้