Blockchain ตรวจสอบสินค้าโปร่งใส หัวใจสู่ธุรกิจยั่งยืน

Blockchain ตรวจสอบสินค้าโปร่งใส หัวใจสู่ธุรกิจยั่งยืน

หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ ทำให้สามารถทำธุรกรรมต่างๆ โดยไม่ต้องอาศัยคนกลางอีกต่อไป

โดยเจ้าบล็อกเชนนี้เองที่อยู่เบื้องหลัง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อีกมหาศาลในหลายอุตสาหกรรม เช่น ภาคการเงินอย่าง Fintech ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต ภาคอสังหา เป็นต้น

บล็อกเชนเป็น Disruptive technology ที่ไม่เพียงแต่จะเข้ามาพลิกโฉมธุรกิจเท่านั้น แต่ในยุคที่เราให้ความสำคัญต่อผู้ผลิตสินค้าและบริการที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีจริยธรรม (Ethical Sourcing) บล็อกเชนยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของเศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่เน้นเรื่อง “ความยั่งยืน” เช่นกันค่ะ

ดังเช่นตัวอย่างของ โพรเวอแนนซ์ (Provenance) ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคมอีกรายจากอังกฤษที่ใช้บล็อกเชนในการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน โดยแม้จะเพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2013 แต่ทุกวันนี้ Provenance มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงวงการค้าปลีกในอังกฤษ ด้วยการใช้แอพที่อนุญาติให้ทั้งร้านค้าและลูกค้าได้เห็นข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ มาจากไหน ตั้งแต่แรกเริ่มจนมาถึงที่จุดขาย

“เจสซี่ เบเกอร์” ซีอีโอสาวแห่ง Provenance ให้สัมภาษณ์แก่บีบีซี ถึงที่มาของ Provenance ว่าจุดเริ่มต้นมาจากการที่แม่ของเธอเลี้ยงเธอให้เติบโตขึ้นมาโดยเอาใจใส่ต่อสิ่งที่กินและซื้อเสมอ รวมถึงสอนให้เธอเข้าใจว่าของแต่ละชิ้นนั้นมีที่มาอย่างไร เช่นสอนว่าผักที่เธอกินนั้นมาจากสวน และเนื้อสัตว์มาจากฟาร์มของเพื่อนบ้าน ต่อมาเมื่อเธอศึกษาด้านวิศวกรรมการผลิต เธอก็มีโอกาสได้ไปดูงานในแหล่งห่วงโซ่อุปทานหลายแห่ง จนเมื่อเธอศึกษาต่อระดับ PhD ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในปี 2013 เธอจึงเข้ามาสัมผัสกับเทคโนโลยีบล็อกเชนอย่างเต็มตัว และก่อตั้ง Provenance ขึ้นมา โดยใช้บล็อกเชนในการจัดทำและบันทึกข้อมูลทุกขั้นตอนในห่วงโซ่อุปทานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

จากองค์กรเล็กๆ ที่เธอตั้งใจทำเป็นงานเสริมระหว่างเรียน ปัจจุบัน Provenance กลายเป็นกิจการเพื่อสังคมอย่างเต็มตัว โดยมีพนักงานจำนวน 10 คนใน 4 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และเยอรมัน โดยมีลูกค้าองค์กรรายใหญ่อย่าง Co-op ซึ่งเป็นเชนร้านอาหารและร้านของชำที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของอังกฤษ และนอกจากนี้ยังมีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอีกหลายรายที่เริ่มหันมาให้ความสนใจ Provenance แล้วเช่นกัน

“หน้าที่ของ Provenance คือการทำให้ธุรกิจต่างๆ มั่นใจว่าสินค้าของตนที่มีที่มาอย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ ช่วยตรวจสอบในประเด็นการจัดหาวัตถุดิบ เช่น การกล่าวหาเรื่องประมงผิดกฏหมาย หากตรวจสอบที่มาแล้วไม่จริงก็จะช่วยธุรกิจลบคำครหานั้นได้ และยังช่วยให้ผู้ซื้อสินค้าเข้าใจด้วยเช่นกัน”

ในปี 2559 ที่ผ่านมา Provenance ได้ร่วมกับรัฐบาลอินโดนีเซียตรวจสอบที่มาของปลาเป็นครั้งแรก ซึ่งช่วยให้ปลาแต่ละตัวมี Digital passport รับรองการทำประมงอย่างยั่งยืน และปัจจุบัน Provenance กำลังร่วมมือกับบริษัทอีกหลายแห่ง เช่นบริษัทจัดทำป้ายสินค้า บริษัทวิเคราะห์ดีเอ็นเอ และบริษัทภาพดิจิทัล เพื่อผสานความร่วมมือและสร้างเครือข่ายร่วมกันในอนาคต โดยนอกจากปลาแล้ว Provenance ยังตรวจสอบอาหารอื่นๆ อย่างไข่และนม และไม่ได้จำกัดเพียงแค่อาหารเท่านั้น แต่สินค้าอีกนานาชนิดก็สามารถตรวจสอบเส้นทางเดินนี้ได้เช่นกัน

แต่เจสซี่ยอมรับว่าการขยายและพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนไม่ใช่เรื่องง่ายนัก            เพราะเทคโนโลยีนี้ยังไม่อิ่มตัวหรือพัฒนาเต็มที่ และอีกปัญหาสำคัญคือหลายคนยังไม่รู้จักบล็อกเชนมากนัก แต่เธอและทีมงานเชื่อว่าบล็อกเชนคือเทคโนโลยี “เปลี่ยนโลก” และจะเริ่มเห็นการประยุกต์ใช้งานที่แพร่หลายขึ้นอีกในอนาคต

“เป้าหมายใหญ่ที่สุดของ Provenance คือการที่ทุกคนสามารถซื้อสินค้าที่ผสมผสานกันระหว่างคุณภาพที่ดี และสำนึกที่ดี ต่อไปนี้ธุรกิจที่ไม่จัดการห่วงโซ่อุปทานให้ดีและไม่มีความโปร่งใส จะทำธุรกิจอย่างลำบาก และอาจจะต้องกลัวผู้ประกอบการอย่างเรามากทีเดียว” เธอกล่าว

นับว่าเป็นกรณีตัวอย่างอีกรายของกิจการเพื่อสังคมที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคอันจะนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนและคุณค่าร่วมต่อทุกฝ่ายค่ะ