ความท้าทายในการบริหาร 'เศรษฐกิจปี 60'

ความท้าทายในการบริหาร 'เศรษฐกิจปี 60'

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ขยายตัวได้3.2% ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 2.9% รวมทั้งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปี 2560 จะขยายตัวได้ 3 – 4% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.5%

ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สศช. และ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พูดเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ผ่านมา ว่ามีการขยายตัวอย่างแข็งแรงและมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่มีการกระจายตัวไปในสาขาต่างๆมากขึ้น เครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจทัั้งการบริโภค และการส่งออกมีสัญญาณฟื้นตัวจากปีก่อน ไม่ได้พึ่งพิงเฉพาะการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐ หรือรายได้จากการท่องเที่ยวเหมือนกับในหลายๆไตรมาสที่ผ่านมา

แม้เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจจะมีทิศทางที่ดีขึ้น และหน่วยงานเศรษฐกิจก็ให้ความมั่นใจว่าจีดีพีในปีนี้จะปรับเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในปีนี้ยังคงมีประเด็นสำคัญในการบริหารเศรษฐกิจ ที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ 

ในส่วนความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก สศช.ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวได้ 3.3% ขณะที่การขยายตัวของการค้าโลกในปีนี้จะอยู่ที่ 3.6% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 2.9% ซึ่งการค้าโลกที่ขยายตัวจะช่วยเสริมให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ 2.9% ถือเป็นครั้งแรกในรอบ3ปีที่การส่งออกจะกลับมาขยายตัว

แต่ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินของโลกยังเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะนอกจากความไม่แน่นอนจากนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังมีหลายเหตุการณ์ที่ต้องจับตา เช่น ความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป (EU)หลังจากเหตุการณ์เบร็กซิท การเลือกตั้งในอิตาลี เนเธอแลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่ผู้สมัครบางพรรคมีแนวคิดเรื่องการแยกตัวออกจาก EU ขณะที่การเจรจาเรื่องหนี้ของกรีซจะกลับมาหารือกันอีกครั้ง ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจของจีนก็เป็นเรื่องที่ยังคงต้องติดตาม

ส่วนการบริหารเศรษฐกิจภายในประเทศ ยังคงต้องเน้นการใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐ โดยการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่า 80% รวมทั้งเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งตามแผนเร่งด่วน

การเร่งรัดโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก การผลักดันการลงทุนของภาคเอกชน การเชื่อมโยงการค้าCLMV และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าด้วยนวัตกรรม เน้นการยกระดับแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อสนับสนุนการเพิ่มรายได้ภาคเกษตร ส่วนการท่องเที่ยวก็ต้องเพิ่มการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง และนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

ความท้าทายต่อการบริหารเศรษฐกิจ ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่มีมากมาย จึงน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะรักษาโมเมนตัมเศรษฐกิจ จากปีที่ผ่านมา ควบคู่การปฏิรูปเพื่อยกระดับเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศได้มากน้อยเพียงใด?