นับหนึ่งการวิจัยของชาติ

นับหนึ่งการวิจัยของชาติ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

(นวนช.)เป็นครั้งแรกในวันที่ 27 ก.พ.นี้  หลังจากมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศใช้อำนาจตามความในมาตรา 44 ในการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ให้เกิดการบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อนและสามารถผลักดันให้มีการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และให้ยุบเลิกคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (กวทน.) และโอนอำนาจหน้าที่ไปเป็นของนวนช.

การจัดตั้งนวนช.ขึ้นมาตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ และสิ่งสำคัญคือการขับเคลื่อนประเทศ ด้วยนวัตกรรมที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นจุดอ่อนของประเทศไทยมานาน ดังจะเห็นได้จากการเปรียบเทียบกับหลายๆประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน แต่กลับพบว่างานด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยยังต่ำกว่าหลายๆประเทศ ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุของการพัฒนาประเทศ ที่เหมือนมีคอขวดอยู่ในปัจจุบัน ก็เนื่องมาจากขาดการพัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง

ประเด็นปัญหาของหน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศในช่วงที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีความซ้ำซ้อนทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ แต่ปัญหาใหญ่ของการวิจัยของไทยคือการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเป้าหมายของการวิจัย เพราะที่ผ่านมา จะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควรว่างานที่มีการทำวิจัยกันนั้นไม่ค่อยจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ หรือการนำไปใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมมากนัก เมื่อทำวิจัยออกมาก็มักจะอยู่บนหิ้งและไม่มีใครนำไปไปใช้ในการต่อยอดเท่าที่ควร

แต่หากเปรียบเทียบกับภาคเอกชนที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือมีกำลังมากพอในสนับสนุนด้านการวิจัย จะเห็นว่ามีการนำผลงานด้านการวิจัยและพัฒนาไปประยุกต์ใช้ ซึ่งมีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จอย่างกรณีของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) ที่ทำให้ยอดจำหน่ายและผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนหลายด้านให้เอกชนทำการวิจัย แต่ประเด็นปัญหาใหญ่ของการวิจัยบ้านเราคือเป็นเรื่องของหน่วยงานรัฐโดยตรง กล่าวคือ การวิจัยไม่ค่อยจะตอบโจทย์ในเรื่องของการนำไปใช้อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวโทษการวิจัยของหน่วยงานรัฐเพียงฝ่ายเดียวอาจไม่ถูกต้องนัก เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่รับเทคโนโลยีด้วยการจัดหามาจากต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้เกิดภาวะขาดช่วงในด้านการพัฒนาภายในสังคมเอง กล่าวคือเราพัฒนาเศรษฐกิจก็ด้วยการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นสำคัญ ดังนั้นหากมีการตั้งหลักใหม่และต้องการผลักดันนโยบายประเทศไทย4.0 ให้ประสบความสำเร็จ นวนช.จำเป็นอย่างยิ่งต้องวางกรอบให้ชัดเจน หาไม่แล้วทุกอย่างก็จะกลับไปสู่ที่เดิมเพราะคนที่เข้ามาร่วมในนวนช.ก็เป็นคนเดิมจากหน่วยงานต่างๆ

อันที่จริง รัฐบาลนี้ไม่ใช่เป็นรัฐบาลแรกที่มีการกล่าวถึงปัญหานี้ แต่เป็นเรื่องที่ถูกหยิกยกมาพูดถึงมานาน เพียงแต่รัฐบาลนี้เข้าไปจัดการในเรื่องของโครงสร้างหน่วยงานด้านการวิจัยใหม่ ดังนั้นหากมีการปฏิรูปงานด้านวิจัยของประเทศประสบความสำเร็จได้ ก็เชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของประเทศไทยอย่างแท้จริง แต่หากในทางตรงกันข้าม การตั้งนวนช.เป็นเพียงการรวมศูนย์อำนาจสั่งการมาไว้ที่จุดเดียวเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการสั่งการ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขอื่นๆตามมา ต่อจากนี้ไปนวนช.ก็ไม่ต่างจากหน่วยงานวิจัยเดิมๆก่อนหน้านั้น และอาจน่ากลัวขึ้นเมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้นและใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแทนที่การวิจัยที่ช่วยพัฒนาประเทศ ก็อาจกลายเป็นภาระของประเทศในอนาคต ที่นักวิจัยมีเป้าหมายเรื่องตำแหน่งหน้าที่การงาน มากกว่าผลประโยชน์จากงานวิจัยที่แท้จริง