ปัญหาฝังรากลึก

ปัญหาฝังรากลึก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอาชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 (คสช.) ออกคำสั่งโดยใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมีการตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง หรือซุปเปอร์บอร์ดขึ้นมาพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าเกินกว่า 5,000 ล้านบาท และเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ถือว่ามีอำนาจมากในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เนื่องจากมีอำนาจตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ จนถึงขั้นตอนประมูล หรือในบางกรณีอาจให้มีการทบทวนในบางช่วงของโครงการ ก็ได้หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ

แน่นอนว่าจากคำสั่งของคสช.ดังกล่าว ได้พุ่งเป้าไปที่ปัญหา การประมูลโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และยังมีโครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นจำนวนมากในปีนี้ แต่ความน่าสนใจในการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา คือจะทำให้ทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง และไม่มีการพิจารณาเหมือนที่ผ่านมาเป็นลำดับขั้นที่เริ่มจากหน่วยงาน แล้วเสนอคณะกรรมการ จากนั้นเสนอระดับกระทรวง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้พิจารณา ซึ่งจากนี้ไปบทบาททั้งหมดจะอยู่ที่คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ

หากพิจารณาจากเหตุผลของคำสั่งคสช.ในครั้งนี้ จะพบประเด็นสำคัญในการดำเนินโครงการสำคัญของภาครัฐ โดยเรื่องแรก คือ ความล่าช้าของโครงการ เนื่องจากติดขั้นตอนต่างๆมากมาย ซึ่งหากทุกอย่างผ่านคณะกรรมการชุดนี้จะทำให้ขั้นตอนเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเรื่องที่สอง ซึ่งมีความสำคัญและอาจมีความสัมพันธ์กับเรื่องแรก คือ ปัญหาความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ แม้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีการปราบปรามและการทุจริตอย่างชัดเจน แต่ในที่สุดแล้วประเด็นนี้เป็นปมสำคัญที่ต้องออกคำสั่งในครั้งนี้ และเป็นโครงการที่มีการจับจ้องอยู่พอสมควร

คำถามก็คือทำไมจึงเกิดเหตุซ้ำซากในยุคที่ต้องการสร้างความโปร่งใส แม้ว่ารัฐบาลจะออกกฎกติกาต่างๆมากมาย แต่ก็ยังเปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้ ซึ่งอาจชี้ให้เห็นว่าปัญหาความโปร่งใสในสังคมไทย เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและฝังลึก มากกว่าเพียงแค่การประกาศให้สาธารณชนให้รับทราบ แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรของหน่วยราชการเองที่เปิดช่องให้เกิดช่องว่างดังกล่าวได้ แม้ว่าที่ผ่านมา เราพยายามปฏิรูประบบราชการเพียงใด แต่สามารถทำได้สำเร็จเพียงบางด้าน ขณะที่ปัญหาหลักในเรื่องของความโปร่งใสยังไม่อาจแก้ได้ในระดับที่ดีนัก

ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการจะต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งในขณะนี้ได้ดำเนินการในหลายด้าน ทั้งเรื่องการออกกฎระเบียบและแก้ไขกฎหมายมากมาย แต่เรื่องที่ใหญ่และรอการแก้ไขอยู่ข้างหน้าคือการปฏิรูประบบราชการ ซึ่งคำถามใหญ่คือจะทำอย่างไรให้การปฏิรูประบบราชการ ที่เป็นนโยบายแทบทุกรัฐบาลนั้น จะสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง เพราะตราบใดที่สังคมไทยยังไม่สามารถปฏิรูประบบราชการได้ ปัญหาเช่นนี้ก็จะวนเวียนมาทุกครั้งไม่มีจบสิ้น และเป็นรูปแบบของปัญหาที่เกิดซ้ำซากในแบบเดิมๆไม่เปลี่ยนแปลง

เราสนับสนุนมาตรการทั้งหมดของรัฐบาล เพื่อสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในการบริหารราชการ เพราะหากสามารถทำให้ทุกอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้การใช้ทรัพยากรของชาติมีประสิทธิภาพและมีการกระจายทรัพยากรไปในส่วนอื่นที่มีความจำเป็น ซึ่งหากรัฐบาลสามารถวางรากฐานเพื่อนำไปสู่สังคมที่มีความโปร่งใสมากขึ้น เราเชื่อว่าสังคมไทยจะพัฒนาไปอีกไกลและทัดเทียมกับนานาประเทศ แต่จากคำสั่งของคสช.ในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าเรายังมีงานต้องทำกันอีกมาก เพราะขณะที่รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายสำคัญก็ยังเกิดขึ้นจนได้