คดีลักทรัพย์ มูลค่า 18 บาท

คดีลักทรัพย์ มูลค่า 18 บาท

ผู้หญิงคนหนึ่ง ถูกไล่ออกจากงานเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

เธอเป็นพนักงานของ ร้านเบอร์เกอร์คิง และถูกนายจ้างกล่าวหาว่าขโมยเฟรนช์ฟรายด์ 1 ถุง และน้ำอัดลม 1 แก้ว ความเสียหายต่อบริษัท 18 บาท

แต่ในระหว่างที่เธอตกงานนาน 3 ปี เธอฟ้องร้องคดีเพื่อขอความเป็นธรรม เมื่อวันศุกร์ที่่ผ่านมา ศาลพิพากษาให้เจ้าของร้านแฟรนไชส์เบอร์เกอร์คิง จ่ายค่าเสียหายให้แก่เธอ เป็นเงิน 1,600,000 บาท (หนึ่งล้านหกแสนบาท)

คดีนี้เกิดขึ้นที่ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานหญิงวัย 55 ปี เธอทำงานที่สาขาต่างๆ ของเบอร์เกอร์คิง มาเป็นเวลานานถึง 24 ปี ที่เธอถูกกล่าวหาและถูกไล่ออกจากงาน ก็เพราะนายจ้างเจ้าของแฟรนไชส์แห่งนั้น บอกว่านโยบายของเขาชัดเจนว่า เรื่องอย่างนี้ “เป็นเรื่องที่เรายอมรับไม่ได้” (No Tolerance Policy)

หลังจากศาลพิจารณาคดีแล้ว ก็ได้มีคำพิพากษาออกมาเมื่อวันศุกร์ ศาลเชื่อว่าเป็นเรื่องของความเข้าใจผิดในการสื่อสาร เพราะวันนั้นเธอลืมกระเป๋าสตางค์ไว้ที่บ้าน และก่อนเลิกงานก็ได้ขออนุญาตเจ้านายว่า จะขออาหารฟรีหนึ่งชุดกลับบ้าน ได้หรือไม่ ซึ่งก็ได้รับอนุญาต

แต่เจ้านายให้การต่อศาลว่า เขาอนุญาตให้เฉพาะฟิชแซนด์วิชเท่านั้น ไม่ได้อนุญาตให้นำเฟรนช์ฟรายด์ และเครื่องดื่มกลับไปด้วย ดังนั้นเขาจึงไล่เธอออกจากงาน

ผู้พิพากษาระบุว่า ผู้หญิงคนนี้ ทำงานกับเบอร์เกอร์คิงมานานถึง 24 ปี และไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยใดๆ เลย นอกจากนั้นเธอเป็นหัวหน้าครอบครัวและเป็นแหล่งรายได้เดียวของครอบครัว ความเข้าใจผิดเพียงแค่นี้ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ถ้าหักมูลค่า “ส่วนลด” ซึ่งเบอร์เกอร์คิงก็ให้แก่พนักงานตามปกติอยู่แล้ว เจ้าเฟรนช์ฟรายด์ กับเครื่องดื่ม 1 แก้ว มีมูลค่าต่อบริษัทเพียง 50 เซนต์ หรือ 18 บาท เท่านั้นเอง

ศาล โดยผู้พิพากษาหญิงเจ้าของคดี เห็นว่า “เป็นการไล่ออกจากงานโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ และขาดความกรุณาเท่าที่ควร” จึงพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินค่าจ้างที่พนักงานควรจะได้รับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็นเงิน 21,000 ดอลลาร์ และเงินชดเชยอีก 25,000 ดอลลาร์ รวมเป็นเงิน 46,000 ดอลลาร์ หรือ 1,600,000 บาท

เรื่องราวของคดีก็มีเพียงเท่านี้ แต่สิ่งที่ผมคิดว่าน่าพิจารณาก็คือ ถ้าเป็นความเข้าใจผิดในการสื่อสารจริง ก็คงต้องแปลว่า ณ เวลาที่เกิดเหตุนั้น คนที่เป็นนายจ้าง เขาคงเชื่อว่าเขาพูดอย่างชัดเจนแล้วว่าให้เฉพาะฟิชแซนด์วิชเท่านั้น ไม่ได้อนุญาตให้นำเฟรนช์ฟรายด์และเครื่องดื่มกลับไปด้วย แต่เมื่อพนักงานทำเช่นนั้น จึงถือว่าเป็นการลักขโมย ซึ่งบริษัทมีนโยบายว่ายอมรับสิ่งนี้ไม่ได้ จึงต้องไล่ออก

มองในแง่ของการบริหารและการสร้างวัฒนธรรมองค์กร เขาก็คงมองว่าเป็นวิธีการที่ตรงไปตรงมา ทำเป็นตัวอย่างให้พนักงานทุกคนได้เห็น เพื่อรักษาระเบียบวินัย และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง และถ้าหากจะอ่านใจกัน เขาก็คงคิดว่ามูลค่าของอาหารไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นสำคัญคือการรักษาหลักการที่ถูกต้อง

เมื่อพนักงานพิสูจน์ จนศาลเชื่อว่าเป็นความเข้าใจผิดจริง ผลก็เลยออกมาเป็นเช่นนี้ เพราะถ้าพิสูจน์ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้มีเจตนาลักขโมย ก็ไม่ควรต้องรับผิด

เรื่องก็คงกลับมาที่ว่า ถ้าเราเป็นนายจ้างในวันนั้น และสมมติว่าเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจจริงๆ ว่าพนักงานหญิงคนนี้ ตั้งใจนำอาหารกลับไปเกินกว่าที่ได้รับอนุญาต แล้วผู้บริหารควรตัดสินใจอย่างไร

นี่คือตัวอย่างของประเด็น ที่ผมใช้ในการสอนวิชา “จริยธรรมทางธุรกิจ” อยู่เสมอๆ ซึ่งเรียกว่า “Ethical Dilemma” คือเมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับการตัดสินใจ ซึ่งบางทีก็ไม่ใช่การตัดสินใจระหว่าง “ถูก” กับ “ผิด” อย่างชัดเจน แต่กลายเป็นระหว่าง “ถูก กับ ถูก” คือไม่ว่าจะเลือกทางไหน ก็มีเหตุผลสนับสนุนว่า “ถูก” ทั้งนั้น

การที่นายจ้างทำลงไป จะถือว่าถูกก็ได้ เพราะเขารักษากฎกติกาขององค์กร แต่ถ้าเขาจะมีใจเมตตา พิจารณาเหตุผลประกอบ ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าอาหาร หรือผลงานอันไม่ด่างพร้อยและยาวนานในอดีต หรือภาระในการเลี้ยงดูครอบครัวของเธอ แล้วให้อภัย อย่างนี้ก็ถือว่า ถูก เช่นกัน 

เพียงแต่กรณีนี้ เขาเลือกตัดสินใจไล่ออก เท่านั้นเอง

ชีวิตคนเรา มักต้องพบกับการตัดสินใจแบบนี้บ่อยๆ ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของคนธรรมดาทั่วไป ส่วนใหญ่ก็คงผ่านไปโดยไม่มีนัยสำคัญมากนัก แต่ถ้าเป็นเรื่องราวระดับชาติ การตัดสินใจอาจจะยากขึ้นอย่างมากๆ เช่นที่เราเคยพบมาแล้วกรณี “บกพร่องโดยสุจริต” หรือ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” หรือ “ทำรายการอาหารทางทีวี” เป็นต้น

เพราะกรณีที่กล่าวถึงนั้น การตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง สามารถเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของชาติได้เลยทีเดียว

อย่าไปคิดมากกับกรณีเหล่านั้นเลยครับ เพราะทุกอย่างก็ได้มีการตัดสินใจไปแล้ว เหตุการณ์ที่ตามมา ก็ได้เกิดขึ้นและกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว เดินหน้าต่อกันดีกว่าครับ

เพียงแต่ใครที่มีอำนาจตัดสินใจปัญหาใหญ่ๆ ของชาติ ในวันนี้ ก็ควรตระหนักว่าทุกการตัดสินใจของท่าน ก็คือการเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ อยากให้ลูกหลานระลึกถึงท่านอย่างไร ก็ตัดสินใจให้รอบคอบก็แล้วกัน