Bioeconomy นวัตกรรมภาคเกษตร 4.0

Bioeconomy นวัตกรรมภาคเกษตร 4.0

Bioeconomy นวัตกรรมภาคเกษตร 4.0

ผมได้เล่าเรื่องพลังงานไฟฟ้าสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาหลายเรื่องแล้ว วันนี้ขอพูดถึงกิจการอีกประเภทหนึ่งที่ทำให้โลกเราน่าอยู่ขึ้นคือ ธุรกิจชีวภาพหรือ Bioeconomy เป็น 1 ใน 5 ของ New S-Curve ของรัฐบาลไทยในยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่กำลังผลักดันกันอย่างเต็มที่

ธุรกิจชีวภาพเป็นการต่อยอดสังคมเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมวิถีไทย อย่างไรก็ตาม การทำเกษตรต้องพึ่งพาดิน ฟ้า อากาศ น้ำ ตามธรรมชาติซึ่งในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมภูมิอากาศส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการเกษตรโดยเฉพาะปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) และลานิญา (La Niña) ที่กระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร บางปีผลผลิตน้อย บางปีผลผลิตล้นตลาดราคาตกต่ำ

บางสถานการณ์พืชผลบางอย่างราคาดี เกษตรกรก็จะแห่กันปลูกพืชชนิดนั้น จนผลผลิตล้นตลาดในที่สุดเกษตกรขาดทุนไม่คุ้มการลงทุนจนรัฐบาลต้องเข้ามาแบกรับภาระด้วยการออกมาตรการอุดหนุนราคาอย่างเนื่องๆในพืชหลักหลายชนิด เช่น ข้าว ยาง มันสำปะหลัง เป็นต้น

ผมคิดว่าธุรกิจชีวภาพซึ่งเป็นการขยายต่อห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ของสินค้าเกษตรเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการแก้ปัญหาสินค้าการเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ ซึ่งการวางแผนพัฒนาธุรกิจชีวภาพในบ้านเราจะต้องคำนึงถึงสภาวะปัจจุบันของเกษตรกรไทยด้วย ที่มีความรักยึดติดกับการเป็นเจ้าของพื้นที่ทำกิน ในขณะที่บางพื้นที่เป็นแปลงขนาดใหญ่มากแต่ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ และไม่ได้ทำเกษตรแบบมีสัญญา (Contract Farming) หรือบริหารจัดการแบบสมัยใหม่ (Modern Farming) ทำให้การต่อยอดภาคการเกษตรเป็นธุรกิจชีวภาพขนาดใหญ่ค่อนข้างยาก

ทั้งนี้ การทำธุรกิจชีวภาพ โดยการนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเหมือนหรือใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้จากสารกลุ่ม Fossil-based ทั่วไป เช่น ผลิตภัณฑ์กลุ่มปิโตรเคมิคอล (Petrochemical) นอกจากจะไม่สามารถแข่งขันด้านราคา อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำที่ 50 - 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลแล้ว ยังมักไม่สามารถแข่งขันด้านปริมาณผลิตภัณฑ์หรือขนาดตลาด (Economy of Scale) ได้อีกด้วย

ดังนั้น การแบ่งพื้นที่ (Zoning) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพสำหรับแต่ละภูมิภาคจึงมีความสำคัญ และการทำผลิตภัณฑ์ควรเน้นแบบรวมกลุ่ม (Cluster) เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูงเท่านั้น แต่มีปริมาณการผลิตที่พอเหมาะ เช่น ในส่วนของพืชกลุ่มปาล์ม ซึ่งมีการเพาะปลูกมากทางภาคใต้ และทุกวันนี้มีการนำน้ำมันปาล์มไปผลิตเป็นสารกลุ่มโอลิโอเคมิคอล (Oleochemicl) เช่น น้ำมันไบโอดีเซล ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งที่ควรมีการต่อยอดทางธุรกิจชีวภาพโดย เน้นการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์มหรือผลพลอยได้ต่างๆ ไปเป็นสารที่มีมูลค่าสูงขึ้น (Value-added Product) เช่น วัสดุกักเก็บความร้อน/ความเย็น (Phase Change Material) เป็นนวัตกรรมสำหรับใช้ในการอนุรักษ์พลังงาน หรือสารชีวเคมีเฉพาะทางสำหรับใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง (Biocosmetics) เพิ่มมากขึ้น

สำหรับพืชกลุ่มอ้อยและมันสำปะหลัง ที่มีการเพาะปลูกมากในภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือ มีการนำผลผลิตจากพืชดังกล่าวไปผลิตเป็นน้ำตาล แป้ง และเอทานอลเพื่อผลิตแก๊สโซฮอล์ ที่มีใช้กันอยู่แล้วอย่างแพร่หลาย ก็ควรมีการต่อยอดทางธุรกิจชีวภาพโดยเน้นการสนับสนุนต่อยอดผลิตภัณฑ์น้ำตาล แป้ง เอทานอลหรือผลพลอยได้ต่างๆ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์กลุ่มพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) อาทิ พลาสติกโพลิแลคติคแอซิด (PolyLactic Acid หรือ PLA) และพลาสติกไบโอเพท (Bio-PET) หรือผลิตภัณฑ์กลุ่มสารให้ความหวานที่มี แคลอรี่ต่ำ อาทิ สารซอร์บิทอล (Sorbitol) และสารไอโซมอล์ท (Isomalt) เป็นต้น

ผมคิดว่าเพื่อให้เหมาะกับสภาพการเกษตรบ้านเรา ในการมุ่งพัฒนาธุรกิจชีวภาพควรแบ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพให้เหมาะสมกับพืชที่ศักยภาพในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นต่อยอดสินค้าเกษตรที่มีอยู่เดิมไปสู่ตลาดใหม่เฉพาะกลุ่ม (Niche Market) และเน้นบุกเบิกตลาดที่มีมูลค่าสูง มากกว่าที่จะเน้นการทำตลาดขนาดใหญ่ที่มีฐานความต้องการสูง เพื่อให้ไทยมีความสามารถแข่งขันกับธุรกิจชีวภาพในตลาดโลกต่อไปครับ