ความสำเร็จของการสร้างสรรค์นวัตกรรมรูปแบบธุรกิจ

ความสำเร็จของการสร้างสรรค์นวัตกรรมรูปแบบธุรกิจ

ความพยายามในการคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมรูปแบบธุรกิจ (BMI หรือ Business Model Innovation) ของธุรกิจ

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเริ่มใหม่ หรือธุรกิจที่ดำเนินการอยู่แล้ว มักจะพบกับความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ ซึ่งวิธีแก้ไขเบื้องต้นก็คือ ผู้บริหารธุรกิจจะต้องเข้าใจถึง กระบวนการพัฒนารูปแบบธุรกิจ ที่ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนตามความเหมาะสมของช่วงเวลาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องในการนำนวัตกรรมรูปแบบธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ

มายาคติที่เกิดขึ้นกับผู้บริหารธุรกิจที่มีต่อเรื่องของการสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะ นวัตกรรมรูปแบบธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จนั้น เป็นเรื่องของโชคและความบังเอิญมากกว่า การใช้กระบวนการจัดการนวัตกรรมที่เป็นระบบ

ยกตัวอย่างในระดับโลก เช่น คนอาจจะเชื่อว่า บริษัทกูเกิล บริษัทอายุน้อยที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรม น่าจะมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ได้ดีกว่าบริษัทที่มีอายุยาวนานที่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ เช่น บริษัทเดมเลอร์ ที่ถือได้ว่าเป็นธุรกิจดั้งเดิมแบบเก่า

ซึ่งไม่เป็นความจริง!!!

โดยเฉพาะในกรณีของ Google+ ซึ่งเปิดตัวในปี 2011 และหวังที่จะเป็นนวัตกรรมรูปแบบธุรกิจใหม่ให้กับเครือข่ายโซเชียลแต่ก็ถือได้ว่าเป็นโมเดลที่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ในขณะที่ car2go  ที่เดมเลอร์ เป็นผู้ริเริ่ม ได้กลายมาเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกสำหรับธุรกิจคาร์แชร์ริ่ง ผลลัพธ์ที่น่าแปลกใจนี้เป็นเรื่องที่ก็ผิดปกติ หรือเป็นเรื่องที่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าไว้แล้ว?

จะเห็นได้ว่า ความพยายามในการสร้างสรรค์นวัตกรรมรูปแบบธุรกิจที่ล้มเหลวน่าจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผู้บริหารธุรกิจเริ่มเห็นความสำคัญของ โมเดลธุรกิจ ใหม่ๆ ที่จะสร้างการเติบโตของยอดขายให้กับธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ มารองรับ ทั้งในเชิงรุกและเชิงรับให้แก่ธุรกิจของตนเอง

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเริ่มใหม่ ที่ต้องการแทรกพื้นที่เข้ามาในตลาด หรือธุรกิจเดิม ที่ต้องการรักษาและขยายฐานธุรกิจออกไป

บริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจสถาบันการเงินขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับความรู้สึกของนักลงทุนต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้อย่างวิตกกังวล

ด้วยการเข้ามาของ สตาร์ทอัพ กลุ่ม Fintech ที่ใช้กลยุทธ์การนำเสนอรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเข้ามามีส่วนในการแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจากธุรกิจเสริมของธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินที่มีอยู่เดิมในตลาดที่ยังคงรักษาที่มั่นเดิมของตัวเอง ด้วยโมเดลธุรกิจแบบเดิมๆ

 นวัตกรรมโมเดลธุรกิจใหม่ของ ฟินเทคสตาร์ทอัพ จะมองหาช่องว่างและเข้าโจมตีในทุกจุดในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจที่เป็นผู้เล่นเดิม โดยเฉพาะช่องว่างที่ถูกละเลย หรือช่องว่างที่กลายมาเป็น “ความเจ็บปวด” ของลูกค้า ผู้ใช้บริการ หรือผู้บริโภคโดยทั่วไป ที่ต้องยอมรับ เนื่องจากไม่สามารถ “ต่อกร” ได้กับผู้เล่นรายใหญ่เดิมที่ครองความได้เปรียบในการต่อรองที่เหนือกว่าในแทบทุกด้าน

 และไม่ใช่แต่ธุรกิจการเงินแต่เพียงอย่างเดียว ธุรกิจอื่นๆ ก็ได้เริ่มต้นให้ความสนใจกับการสร้างสรรค์วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะแข่งขันในตลาดโดยไม่ใช้รูปแบบเดิมๆ ที่ทำอยู่ เพื่อใช้เป็นอำนาจต่อรองกับเหล่าบรรดาสตาร์ทอัพ ที่มีวิธีการนำเสนอแนวคิดรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

จะเห็นได้ว่านวัตกรรมรูปแบบธุรกิจมีความสำคัญเกินกว่าที่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของโชค ความบังเอิญ หรือการคาดเดา การมุ่งเจาะจงหานวัตกรรมรูปแบบธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพ จะต้องได้รับการบริหารจัดการที่ถูกต้อง เพื่อสามารถทำให้ธุรกิจเกิดความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงและสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากขีดจำกัดเดิมที่ธุรกิจมีอยู่

การได้เปรียบจากขนาด ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่ใช้กันมาอย่างได้ผลในตำราบริหารธุรกิจตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมา กำลังได้รับการท้าทายจาก โมเดลธุรกิจที่เริ่มจากสเกลเล็ก แต่มุ่งหาการวิธีการที่สามารถขยายตัวอย่างรวดเร็ว หากธุรกิจเริ่มใหม่ในสเกลเล็ก สามารถพิสูจน์ได้ว่า “โดนใจ” ตลาดได้ดีกว่า

                                                ----------------------------------------------------------------------------------