อีมันนี่ 'เพย์ออล'

อีมันนี่ 'เพย์ออล'

การกล่าวโทษบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น 'PayAall' บนโทรศัพท์มือถือ

 ที่มีนักแสดงดัง “ฟิล์ม รัฐภูมิ โตคงทรัพย์” เป็นผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่เมื่อหลายวันก่อน เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยสร้างความตื่นตัวให้กับ ผู้ใช้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-มันนี่ (e-Money) ในการตรวจสอบข้อมูลกิจการนั้นๆก่อนสมัครใช้บริการ

ทุกวันนี้แม้มีผู้บริโภคยุคใหม่ที่ตรวจเช็คข้อมูลของสินค้าและบริการก่อนเสมอ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการอย่างละเอียด แถมยัง“เชื่อถือ”ในสินค้าและบริการนั้นๆ เพียงเพราะมีบุคคลที่มีชื่อเสียง ทั้งเหล่าเซเล็ป และดารานักร้องชื่อดังเป็นเจ้าของ หรือเป็นพรีเซ็นเตอร์

กรณีของเพย์ออล ทำให้รู้ว่า แค่มีบุคคลมีชื่อเสียงเป็นเจ้าของ หรือพรีเซ็นเตอร์ ไม่ได้หมายความว่า สินค้า หรือบริการนั้น“ถูกกฎหมาย“ และ “ไม่มีความเสี่ยง”

จากถ้อยคำแถลงข่าวของผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุชัดเจนว่า แม้การทำธุรกิจของเพย์ออล จะยังไม่เกิดความเสียหายขึ้น แต่ธปท.ก็เป็นห่วงว่าจะมีความเสี่ยงจะเกิดความเสียหายขึ้น เพราะเพย์ออลทำธุรกิจอีมันนี่โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งไม่ได้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและผ่านหลักเกณฑ์ที่ทางการวางไว้ เพื่อดูแลและ“คุ้มครองเงิน”ของผู้ใช้บริการอีมันนี่

 ที่สำคัญหลังจากที่ธปท.ได้ตรวจสอบข้อมูล และเรียกบริษัทมาพบ เพื่อแจ้งให้ดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้องถึง 2 ครั้ง แต่บริษัทก็ไม่ได้ทำตามกระบวนการมาขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง แถมยังเปิดให้บริการต่อไป ธปท.จึงได้“ลงดาบ”กล่าวโทษให้ตำรวจดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย ซี่งมีทั้งโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ

จะว่าไป บทลงโทษดังกล่าว อาจจะไม่รุนแรงเท่ากับผลกระทบกับ“ความน่าเชื่อถือ”ของบริษัท เพราะเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีหลายคำถามที่คาใจสังคม และผู้ใช้บริการเพย์ออลที่จะตามมาอีกหลายคำถาม หนึ่งในนั้นคือ บริษัทเพย์ออลจะได้รับใบอนุญาตหรือไม่?

เพราะเท่าที่ฟังจากการแถลงของธปท. ก็ไม่ได้ตอบคำถามนี้ชัดเจน บอกแต่เพียงว่า ต้องดูหลักเกณฑ์หลายส่วนประกอบกัน เพราะกิจการของเพล์ออล เป็นการทำธุรกิจอีมันนี่บัญชี ค ซึ่งเป็นประเภทที่มีหลักเกณฑ์เข้มกว่าอีก 2 บัญชีที่เหลือ

อย่างน้อยในเรื่องฐานะเงินทุน จะต้องมีเงินทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วถึง 200 ล้านบาท ขณะที่เพย์ออลมีทุนจดทะเบียนเพียง 10 ล้านบาท นอกจากนี้เงินของลูกค้าที่เติมเข้ามา ไม่สามารถนำไปใช้อย่างอื่นได้ นอกจากฝากไว้ที่สถาบันการเงิน ทั้งนี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่าเงินของลูกค้าจะไม่ถูกนำไปใช้จ่าย หรือลงทุนจนสูญหายไป

นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์กำหนดคุณสมบัติของกรรมการ และผู้บริหารจะต้องมีความน่าเชื่อถือ ไม่ติดคดีความ ไหนจะต้องมีการทำแผนธุรกิจ 3 ปีมาให้ธปท.พิจารณาด้วย ยังไม่นับหลักเกณฑ์ยิบๆย่อยๆอีกหลายอย่าง ซึ่งบอกได้เลยว่า งานนี้ไม่ง่ายเลยสำหรับบริษัทเพย์ออล

สำหรับลูกค้าที่ใช้บริการเพย์ออลอยู่นั้น คงต้องตัดสินใจเองว่า จะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งธปท.ได้ให้คำแนะนำเพียงว่า ให้ไปดูเงื่อนไขสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทเพย์ออล แล้วรักษาสิทธิของตนเองตามเงื่อนไขนั้น

 ..ดูแลก็เหมือนต้องดูแลตัวเองเป็นหลัก ซึ่งนี่ก็คงเป็นอีกหนึ่งข้อเสีย ของการใช้บริการบริษัทที่ไม่ได้ใบอนุญาตอย่างถูกต้อง

.......................................

วรินทร์ ตริโน