กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ (2)

กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ (2)

ในสัปดาห์นี้เรามาศึกษาประเด็นที่น่าสนใจจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ

คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่กันต่อนะคะ นอกจากกฎหมายใหม่จะกำหนดฐานความผิดใหม่เพิ่มเติม (เช่น การส่งอีเมลรบกวนผู้อื่นโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับปฏิเสธได้) แล้ว ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมฐานความผิดเดิม แก้ไขบทกำหนดโทษ ปรับปรุงกระบวนการและหลักเกณฑ์ในการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ กำหนดให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ และแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ด้วย

ในส่วนของการแก้ไขเพิ่มเติมฐานความผิดเดิมที่น่าสนใจก็คือ ความผิดตามมาตรา 14 ซึ่งที่ผ่านมาเป็นมาตราที่มีการฟ้องร้องกันมากที่สุดค่ะ ทั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะว่าเป็นมาตราที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดพื้นฐานที่ผู้กระทำความผิดไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องมีความสามารถในการแฮ็คระบบ หรือเจาะข้อมูลก็อาจทำความผิดตามมาตรานี้ได้ ความผิดตามมาตรา 14 นี้เกี่ยวข้องกับการ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์” ซึ่งรวมถึงการโพสต์ อัพโหลด และคอมเม้นท์ และการ เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งรวมถึงการแชร์ ฟอร์เวิร์ด และอาจรวมถึงการกดไลค์ กดเลิฟ ด้วย

ทั้งนี้ การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์จะเป็นความผิดหากเป็นการกระทำกับข้อมูลต่อไปนี้

  1. ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ซึ่งมีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยทุจริตหรือโดยหลอกหลวง โดยน่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ดังนั้น ตามกฎหมายใหม่ หากเป็นการนำเข้าสู่ระบบโดยสุจริต ไม่มีการหลอกลวง ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ (ซึ่งเดิมข้อนี้เป็นประเด็นข้อกังวลของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่มีการเปิดให้ประชาชนนำข้อมูลเข้าสู่ระบบได้ เช่น กระดานสนทนาต่างๆ โดยไม่มีโอกาสได้กลั่นกรองข้อมูลก่อน) นอกจากนี้ มาตรา 14 (1) ยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ความผิดมาตรานี้ใช้กับกรณีที่ไม่เป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น กล่าวคือ หากมีการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญาแล้ว มาตรานี้ก็ไม่นำมาใช้อีก อันเป็นการขจัดปัญหาความลักลั่นกันของกฎหมายที่เคยมีมาก่อนกฎหมายคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่นี้
  2. ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
  3. ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา และ
  4. ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

ซึ่งเกี่ยวกับการอัพข้อมูล รูปภาพหรือสื่อลามกนั้น กฎหมายคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ยังคงกำหนดให้เฉพาะการนำเข้าสู่ระบบในลักษณะที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้เป็นความผิด แต่การดาวน์โหลดมาดูเอง ก็ยังคงไม่เป็นความผิดค่ะ

ความผิดตามมาตรา 14 นี้ยังคงมีโทษเท่าเดิมคือ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเปรียบเทียบปรับไม่ได้ค่ะ การเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายใหม่จำกัดอยู่เพียงความผิดบางมาตราเท่านั้น เช่น มาตรา 11 เกี่ยวกับการส่งอีเมลรบกวนผู้อื่น มาตรา 5, 6, 7 เกี่ยวกับการเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยไม่ชอบ

กรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จที่น่าจะทำให้ประชาชนเสียหาย หรือข้อมูลที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีการเพิ่มอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีสามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ (เดิมอำนาจนี้จะจำกัดเพียงการขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือข้อมูลที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเท่านั้น) ซึ่งเมื่อศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการเองหรือสั่งให้ผู้ให้บริการดำเนินการก็ได้

พบกันใหม่คราวหน้าค่ะ