แก้ปัญหาทุจริตจัดซื้อจัดจ้างยันเงินคงคลังรัฐบาลถังแตกจริง?

แก้ปัญหาทุจริตจัดซื้อจัดจ้างยันเงินคงคลังรัฐบาลถังแตกจริง?

นอกจากนั้น รัฐวิสาหกิจยังมีปัญหาทุจริตเกิดขึ้นเสมอ มีการช่วยเหลือพวกพ้องเพื่อผลประโยชน์

ส่วนตน เช่น ช่วยให้เอกชนที่เป็นพรรคพวกของตนตั้งกิจการขึ้นมาแล้วให้มาทำธุรกิจกับรัฐวิสาหกิจที่ตนเป็นกรรมการ เพื่อที่ตนจะสามารถใช้อำนาจในฐานะที่เป็นกรรมการช่วยบริษัทเอกชนที่ตนช่วยตั้งขึ้นมา (Muscat ๑๙๖๖: ๑๙๙-๒๐๐) แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีรัฐวิสาหกิจที่สามารถทำกำไรให้แก่รัฐบาล เช่น โรงงานยาสูบ สำนักงานสลากกินแบ่ง องค์การสุรา เพราะกลุ่มรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ลงทุนต่ำจึงสามารถทำกำไรได้อย่างแน่นอน แต่หากดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาลและลดการรั่วไหลได้มากยิ่งขึ้น จะทำให้ประเทศมีรายได้จำนวนมากจากรัฐวิสาหกิจ ลดภาระทางการคลัง และสามารถลงทุนต่างๆเพื่อพัฒนาประเทศโดยไม่ต้องกู้เงินหรือปรับเพิ่มอัตราภาษีบางประเภทได้

มาตรการแก้ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและสินบนข้ามชาติ

มาตรการทางด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารจัดการ

1.การพัฒนาระบบควบคุมภายในและระบบตรวจสอบให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและสินบนข้ามชาติ

การควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพและเข้มแข็งและการตรวจสอบที่มีประสิทธิผลเป็นปัจจัยที่สามารถชี้เป็นชี้ตายต่อความสำเร็จในความพยายามที่จะสร้างกลไกต่อด้านการทุจริตในระดับโลกได้และสินบนข้ามชาติได้ กฎหมายว่าด้วยการกระทำอันเป็นการทุจริตข้ามชาติของสหรัฐอเมริกา (The U.S.Foreign Corrupt Practices Act – FCPA) จะเป็นกฎหมายต่อต้านการทุจริตที่ดีเยี่ยมสำหรับบรรษัทข้ามชาติส่วนใหญ่ที่มีการประกอบการ หรือมีธุรกรรมระหว่างประเทศ ในอนาคต หากประเทศต่างๆเริ่มออกกฎหมายในลักษณะเดียวกับ FCPA มาบังคับและเพิ่มความซับซ้อนให้กับการกำกับดูแลกิจการ การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ จะสามารถไล่ตามทันความซับซ้อนของสินบนข้ามชาติและการคอร์รัปชั่นได้

2. การปรับโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการขององค์กร ผู้ตรวจสอบภายในจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระจากผู้บริหารระดับสูง และ การควบรวมระบบประเมินความเสี่ยงจากการติดสินบนและคอร์รัปชันเข้าสู่ระดับนโยบายของรัฐวิสาหกิจและระบบราชการ

แนวทางการตรวจสอบ ไปทีละส่วน พร้อมกับการประเมินมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น และการติดสินบนไปพร้อมกับการตรวจสอบเรื่องต่างๆ หากเป็นไปได้ ความเสี่ยงเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นและการติดสินบนจะถูกรวมเข้าไปในขั้นตอนการประเมิน ควบการประเมินความเสี่ยงจากการติดสินบน และคอร์รัปชั่นเข้าไปในกระบวนการตรวจสอบ ประเมินเหตุการณ์การติดสินบน และคอร์รัปชั่นที่อาจเป็นไปได้ประเมินสภาพแวดล้อมของการควบคุม และมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น การติดสินบน ในพื้นที่ที่เข้าตรวจเชื่อมโยงขอบเขตของกระบวนการที่เข้าตรวจ กับความเสี่ยงที่ได้ประเมินไว้ ต้องปรับโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการขององค์กร ผู้ตรวจสอบภายในจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระจากผู้บริหารระดับสูง ผู้ตรวจสอบจะต้องสามารถรายงานโดยตรงต่อคณะกรรมการบริษัทได้ ผู้ตรวจสอบสามารถเตรียมตัวให้พร้อมต่อการปฏิบัติหน้าที่เป็นแนวป้องกันลำดับที่ ๓ (third line defense) ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการต่อต้านการทุจริต และการคอร์รัปชั่นได้ด้วยการเข้าใจ และประยุกต์ใช้บทเรียนจากกรณีการบังคับใช้กฎหมาย

3.ปฏิรูประบบค่าตอบแทนและระบบแรงจูงใจให้เกื้อหนุนต่อการลดปัญหาการติดสินบนในการจัดซื้อจัดจ้างและการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น ควรมีการปรับเพิ่มเงินเดือนและระบบค่าตอบแทนให้กับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ ปรับเพิ่มผลตอบแทนและเงินเดือนให้กับกรรมการรัฐวิสาหกิจและผู้บริหาร และ ข้าราชการทั้งระบบ เป็นต้น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับสูง ผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจและระบบราชการต้องมีค่าตอบแทนสูงพอที่จะไม่ต้องคิดหารายได้ทางอื่น หรือแสวงหาโอกาสการคอร์รัปชั่นหรือหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ในทางที่มิชอบหรือทุจริต

4.พัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าของประชาธิปไตยทางการเมือง โดยมีมาตรการหรือนโยบายในการลดอำนาจการผูกขาดทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ เปิดเสรีและเพิ่มการแข่งขันภายใต้กติกาที่เป็นธรรม ส่งเสริมค่านิยมและวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยที่ยึดถือเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม หลักภราดรภาพ หลักนิติรัฐเคารพกฎหมาย ยึดหลักเหตุและผล ใช้หลักพุทธเศรษฐศาสตร์และแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต

5. ธนาคารแห่งประเทศไทยยกเลิกการใช้ธนบัตรเงินสดบางประเภทโดยต้องนำมาแลกคืนธนบัตรรุ่นใหม่ หรือยกเลิกการใช้ธนบัตรบางประเภทไปเลย เนื่องจากผู้ติดสินบนและผู้รับสินบนมักจ่ายเป็นเงินสดเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและมักเก็บธนบัตรเงินสดไว้จำนวนมากไม่สามารถนำเงินฟอกผ่านสถาบันการเงินได

6.มาตรการยึดทรัพย์ผู้กระทำการทุจริตและทรัพย์มรดกที่ได้มาจากการทุจริตคอร์รัปชันโดยผ่านกระบวนการยุติธรรมโดยไม่ใช้อำนาจพิเศษที่ขาดการตรวจสอบ เพราะอาจทำให้เกิดการทุจริตซ้ำซ้อนขึ้นและอาจมีการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม

7.ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ  และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เมื่อรายได้โดยเฉลี่ยของประชาชนสูงขึ้น ย่อมทำให้การเข้าถึงการศึกษาและข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้นดีขึ้น ลดอำนาจผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีผลทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นโดยรวมจะลดลงด้วย

มาตรการทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย

8.บังคับใช้กฎหมายฟอกเงินอย่างจริงจัง และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่อต้านการฟอกเงินระหว่างประเทศ

9.บังคับให้การใช้ สัญญาคุณธรรมอย่างจริงจัง เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐวิสาหกิจและราชการเกี่ยวกับงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างและการให้สัมปทาน

10.แก้ไขกฎหมาย ปปช. ให้การทำงานของสำนักงาน ปปช ปลอดจากอำนาจทางการเมืองและมีความเป็นอิสระในการทำงานอย่างแท้จริง

11.แก้ไขกฎหมายให้มีระบบในการคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูลและปกป้องพยานอย่างแท้จริงและผู้ให้สินบนที่ให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อเท็จจริงและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานปราบปรามการทุจริตและทางการจะไม่ได้รับโทษทางอาญา จะทำให้ได้รับการเปิดเผยข้อมูลผู้รับสินบนและผู้ทุจริตได้มากขึ้น

มาตรการส่งเสริมเสรีภาพอย่างมีความรับผิดชอบ

12.ส่งเสริมการใช้เสรีภาพอย่างมีความรับผิดชอบของสื่อมวลชนและนักวิชาการ ปฏิรูปสื่อสารมวลชนและภาควิชาการเพื่อส่งเสริมให้มีข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เป็นกลาง ทำให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาคอร์รัปชั่น รวมทั้งพยายามรายงานข่าวการคอร์รัปชั่นและวิเคราะห์ผลกระทบอันร้ายแรงที่มีต่อประชาชนและสังคมไทย

มาตรการการศึกษา

13.ยกระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยของประชาชนให้สูงขึ้น มีคุณภาพดีขึ้นและส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา

14.ส่งเสริมการศึกษาและสร้างจิตสำนึกคุณธรรม จริยธรรม สร้างค่านิยมแห่งความซื่อสัตย์สุจริตและเคารพนับถือคนดี มากกว่า ยกย่องคนรวยหรือคนมีอำนาจที่ทุจริต

มาตรการการสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชนและองค์กรระหว่างประเทศ

15.พัฒนากลไกการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนและองค์กรระหว่างประเทศในการตรวจสอบโครงการภาครัฐ หรือ การจัดซื้อจัดจ้างอย่างจริงจัง รวมทั้งการมีระบบประชาพิจารณ์โครงการให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ

16.ปฏิบัติตามมาตรฐานความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อโดยรัฐขององค์การการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องความโปร่งใส การเผยแพร่ข้อมูลด้านกฎระเบียบและขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง และเข้าเป็นสมาชิกของความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อโดยรัฐ (The Government Procurement Agreement: GPA) ขององค์การการค้าโลก