สมรภูมิ 'การค้าโลก' ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

สมรภูมิ 'การค้าโลก' ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

สมรภูมิการค้าโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ได้จัดงานสัมมนาเกี่ยวกับเทรนด์ใหม่ของสนามการค้าโลก The new landscape of global trade ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิคือ คุณปริวรรต กนิษฐะเสน ผู้บริหารทีมส่วนกลยุทธ์การต่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย มาบรรยายให้ความรู้ ซึ่งมีประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจทีผมอยากหยิบยกมาแบ่งปันเสริมมุมมอง เพื่อประกอบการลงทุนดังนี้

ในอดีตเศรษฐกิจโลกขับเคลื่อนด้วยการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศ มีการจัดตั้งข้อตกลงเสรีการค้ามากมาย มีการจับมือเป็นกลุ่มหลายๆ ประเทศ มีการรวมข้อตกลงอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องภาษีเข้าไปด้วย เช่น European Union มีการใช้ธนาคารกลางร่วมกัน การเปิดเสรีเงินทุน และแรงงาน ฯลฯ หรืออย่างกลุ่ม AEC แถวบ้านเราก็มีการพูดถึงเรื่องเปิดเสรีการลงทุนและแรงงานด้วย

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในเรื่องดีๆ ก็มีปัญหาร้อนๆ โดยวิทยากรได้ยกตัวอย่างการศึกษาของ World Bank ในเอกสารเรื่อง ‘Global Inequality’ (ความไม่เท่าเทียมกันในระดับโลก) พบว่าตลอดหลายปีที่ศึกษาข้อมูล (1988-2008) นั้นกลุ่มคนที่มีความเป็นอยู่ดีขึ้นคือมีรายได้เติบโตดีเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ ได้แก่กลุ่มคนชั้นกลางในประเทศเกิดใหม่อย่างจีน อินโดฯ อินเดีย บราซิล เป็นต้น (รับจ้างผลิตของส่งไปทั่วโลก) และกลุ่มคนระดับรายได้สูงสุด Top 5 percentile ในขณะที่มีผู้ได้รับความเดือนร้อน ได้แก่กลุ่มคนระดับล่างสุด (ติดกับดักความยากจนในประเทศด้อยพัฒนา) และที่น่าตกใจคือคนชั้นกลางในประเทศตะวันตกก็เป็นอีกกลุ่มที่รายได้แทบไม่โตเลย ซึ่งอาจเกิดจากการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเกิดใหม่

สิ่งนี้น่าจะเป็นที่มาของกระแสต่อต้านการค้าเสรี ต่อต้านการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน ที่นักการเมืองหยิบยกมาหาเสียงจนได้รับชัยชนะ ผลคือการตัดสินใจถอนตัวจากยุโรปของอังกฤษ (เพื่อกีดกันแรงงานอพยพ) ตลอดจนโยบายต่อต้านการค้าเสรีของ ปธน. สหรัฐฯ (เพื่อดึงการจ้างงานกลับประเทศ) ซึ่งน่าจะทำให้การค้าขายระหว่างประเทศต้องเจอกับแรงต้านจนไม่สามารถกลับมาเป็นกำลังขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลกได้อีกระยะ ซึ่งเราก็เริ่มเห็นการค้าทั่วโลกแบบช้าๆ ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม โอกาสเกิดสงครามการค้าแบบเต็มตัวนั้นคงไม่ง่าย เพราะความซับซ้อนของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องตื้นๆ ที่จะมาประกาศนโยบายใดๆ โดยไม่ส่งผลเสียกลับไปหาสหรัฐฯ แม้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บอกว่าจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 45% และจากเม็กซิโก 30% แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่ง่ายที่สหรัฐฯ จะหาแหล่งผู้ผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานมากๆ มาแทนจีนและเม็กซิโกได้ ครั้นจะย้ายการผลิตมาที่สหรัฐฯ ต้นทุนค่าแรงที่สูงคงทำให้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นส่งผลลบต่อคะแนนนิยม จีนก็อาจตอบโต้ด้วยการยกเลิกการซื้อสินค้าสหรัฐฯ เช่นเครื่องบินได้เช่นกัน และต้องไม่ลืมว่า เศรษฐีจีนนอกจากเป็นนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักแล้ว ยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ ถ้าไม่มีจีนช่วยซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ต้นทุนการกู้ยืมของสหรัฐฯก็คงสูงขึ้นกว่านี้ ส่วนเม็กซิโกที่เหมือนจะไม่มีอำนาจต่อรองมากนัก แต่สินค้าส่งออกจากเม็กซิโกไปสหรัฐฯนั้น ก็มีต้นทุนชิ้นส่วนที่นำมาจากสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าถึง 40% การขึ้นกำแพงภาษีอาจจะส่งผลลบกลับไปสหรัฐฯ เองได้

ประเทศไทยเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีระบบเศรษฐกิจค่อนข้างเปิด คือมีมูลค่าส่งออกและนำเข้ารวมกันค่อนข้างสูง (กว่า 120% ของ GDP) ทำให้มีความเสี่ยงต่อปัจจัยลบภายนอกค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงเป็นประเด็นที่นักลงทุนต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ซึ่งคำแนะนำในการลงทุน ยังคงเน้นให้ลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่เติบโตตามการฟื้นตัวจากปัจจัยขับเคลื่อนที่ไม่ถูกกระทบโดยเรื่องการค้ามากนัก เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ หรือแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นที่น่าจะส่งผลดีต่อภาคธนาคาร ตลอดจนกลุ่มพลังงาน ที่ยังคงได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่เป็นขาขึ้น หรือหากใครที่เป็นแฟนหุ้นกลุ่มปันผล ช่วงนี้เป็นฤดูกาลประกาศผลประกอบการและจะตามมาด้วยการประกาศเงินปันผล ซึ่งมักเป็นเทศกาลที่หุ้นปันผลให้ผลตอบแทนที่ดีจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการลงทุนในในช่วงนี้เช่นกัน